เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ส้มภาษณ์ถึงการขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ว่า หลังจากนี้ ศบค.ชุดเล็กจะติดตามประเมินสถานการณ์รายวัน และจะประชุมทุกๆ 7 วัน

คาดว่าตลอดเดือน ก.ค.นี้จะประชุม 3-4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมจนเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงไม่กี่อย่าง เช่น ชนไก่ ชนปลากัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่กระทบกับวิถีชีวิตและการทำมาหากิน จึงยังเก็บไว้ก่อน อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการพนัน แต่ในที่สุดคาดว่าคงจะต้องผ่อนคลาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็กรุณาเข้าใจและเห็นซึ่งกันและกัน รัฐเองเข้าใจ อาจจะมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

แต่ถ้าดูให้ดีแล้วสิทธิเสรีภาพที่เคยถูกจำกัดเพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนี้ถูกผ่อนคลายไปจนเกือบหมดแล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่า ในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจรัฐ 6 อย่างคือ

  • 1.เคอร์ฟิว มีการยกเลิกแล้ว
  • 2.ห้ามชุมนุมในทางที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด เรื่องนี้ยังมีอยู่ แต่อยู่ในนามของมาตรการรักษาระยะห่าง จึงไม่ทำให้คนเดือดร้อน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ก็ไม่ได้ว่าอะไรหากรักษาระยะห่าง
  • 3.เรื่องเกี่ยวกับสื่อ ที่ห้ามเฉพาะสื่อที่ไปบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นในเรื่องอื่น
  • 4.การห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการขนส่ง ตอนนี้ไม่ได้ห้ามแล้ว เราเปิดสนามบินแล้ว
  • 5.การห้ามเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ตอนนี้เราไม่ได้ห้าม มีการเปิดหมดแล้ว แต่ต้องรักษาความปลอดภัย หากเจ้าหน้าที่ไปตรวจแล้วพบว่าไม่ปลอดภัยสามารถสั่งปิดได้ แต่จะเปิดเฉพาะสถานที่นั้นๆ จะไม่สามารถไปสั่งปิดห้างสรรพสินค้าทุกแห่งเหมือนที่ผ่านมาได้
  • 6.การอพยพคน ซึ่งยังไม่เคยใช้เลย

“รวมความแล้วผลของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีอยู่แค่นี้ และไม่มีอะไรอีก หากใครไปอ่านข้อกำหนด คำปรารถ ข้อความ คำนำข้างหน้าที่ยาวๆ ซึ่งคนไม่ค่อยสนใจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไปสนใจว่าเปิดหรือปิดอะไรเท่านั้น ให้ช่วยอ่านว่า สิ่งที่เหลืออยู่คู่กับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงวันนี้คือ การบูรณาการอำนาจเจ้าหน้าที่

ซึ่งใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถเปิดให้บูรณาการแบบนี้ได้ รมว.สาธารณสุข หรืออธิบดีกรมควบคุมโรค ไม่มีอำนาจไปสั่งเจ้าหน้าที่ ตม. ตำรวจ แต่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯสามารถสั่งได้ โดยนายกฯได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กว่า 4 หมื่นคนมาสนธิกำลังทำงานร่วมกัน”

เมื่อถามถึงการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน นายวิษณุ กล่าวว่า ในส่วนนี้ยังต้องทำต่อไป แต่ยังต้องใช้เวลา ขณะนี้เรากำลังถอดบทเรียน เหมือนกรณีของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนว่ามีอะไรบ้างที่ โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อเพิ่งออกมาเมื่อปี 2558 ซึ่งไม่ทันสมัยแล้ว

ตัวแพทย์ที่ร่างกฎหมายก็ออกมายอมรับว่าร่างเพื่อใช้ในการรองรับในการแพร่ระบาดระดับเล็ก แต่พอมาเจอการระบาดใหญ่ที่ไปทั่วโลกกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถรับมือได้ ตนได้เคยพูดไปแล้วว่าเมื่อเปิด พ.ร.บ.โรคติดต่อตั้งแต่มาตราแรกจนถึงมาตราสุดท้าย

ไม่มีที่ไหนสั่งบังคับให้คนสวมหน้ากากอนามัย ไม่มีที่ไหนสั่งให้คนกักตัว ไม่มีที่ไหนสั่งให้รักษาระยะห่าง แต่เราต้องยอมรับว่านี่คือมาตรการป้องกันโรคสมัยใหม่ โดยเมื่อปี 2558 เขาไม่ได้นึกถึง อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุไว้ว่าหากมีโรคระบาด เราจะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่ ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อระบุไว้ว่า

ให้เก็บค่าใช้จ่ายจากสายการบินที่นำเข้ามา ซึ่งไม่มีใครยอม จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเรียนรู้ดูสถานการณ์วันต่อวัน วันนี้ตนยังได้แจ้งกับอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า ให้เตรียมร่างการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้วันหลังจะได้ไม่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อก็พอ

เมื่อถามว่า จะใช้ระยะเวลาการแก้ไขนานเท่าไร นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ กว่าจะเข้าสภาผู้แทนราษฎร กว่าจะเข้าวุฒิสภา กว่าจะทูลเกล้าฯ กว่าจะประกาศใช้ วันนี้ทำเพียงเก็บข้อมูลว่าจะต้องแก้อะไร รวมถึงต้องดูว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขไปประมาณ 50% แล้ว คาดว่าจะออกมาได้ภายใน 1 ปี

เมื่อถามว่า ในส่วนที่จะมีการแก้ไข จะต้องมีการกำหนดโรค หรือเขียนกว้างๆ ว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้องกำหนดชื่อโรค โดยใน พ.ร.บ.โรคติดต่อใช้คำว่า โรคติดต่อ โรคติดต่อร้ายแรง และโรคระบาด ซึ่ง พ.ร.บ.นี้เป็น พ.ร.บ.โรคต่อติด ไม่ใช่โรคระบาด ในอนาคตจึงคิดว่า อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อและโรคระบาด

“มีเรื่องตลกเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผมได้ประชุมกับกระทรวงมหาดไทย เพราะเขามี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เดิมเราคิดว่าจะนำกฎหมายนี้มาใช้ แต่คำว่าสาธารณภัยเป็นการกระทำที่เกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาดด้วย

แต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคติดต่อ ไม่ใช่โรคระบาด พ.ร.บ. 2 ฉบับใช้คำต่างกัน จึงต้องมีการแก้ไขฉบับใดฉบับหนึ่ง หากจะแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ให้แก้คำว่า โรคระบาดเป็นโรคติดต่อ ซึ่งจะแก้ไขแค่คำเดียว หากไปแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็อาจจะต้องแก้ไขทั้งฉบับ”

เมื่อถามว่า ภายหลังผ่อนคลายให้เปิดกิจการอาบอบนวด หากมีการระบาดซ้ำจะมีมาตรการอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า

1.สั่งปิดกิจการนั้นชั่วคราว ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่ไม่สามารถสั่งจำคุกเขาได้

2.คนที่เข้าไปอาจจะมีความผิด ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะลงโทษคนเหล่านี้ แต่ตั้งใจจะเล่นงานสถานประกอบการมากกว่า ตนได้แจ้งไปทางแพทย์แล้วว่าถ้าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ อย่าไปเพ่งเล็งเรื่องการเพิ่มโทษ ให้ใส่โทษทางปกครองหรือโทษทางบริหารไปแทน หมายถึงการตำหนิ เตือน หรือให้รัฐเข้าไปจัดการ โดยในกฎหมายเดิมไม่มี เพราะไม่มีประโยชน์หากเกิดโรคระบาดแล้วเอาคนไปเข้าคุก ควรแก้ที่พฤติกรรมดีกว่า

3.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ4.แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เรื่องที่รัฐต้องป้องกันและรักษาโดยไม่คิดมูลค่า


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน