“บิ๊กตู่” ฮึ่มอีกมวลชนอย่ากดดันศาลตัดสินคดีข้าว เตือนปลุกระดมผิดกฎหมายแจงยังไม่ได้ยึดทรัพย์ “ปู” อ้างเป็นแค่ขั้นตอนเตรียมข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ด้าน “ยิ่งลักษณ์” โต้ทันควัน ยันถูกยึดเงินในบัญชีไปแล้ว ยื่นศาลฎีกาฯ อีก วอนส่งศาล รธน.ตีความข้อโต้แย้งคดีจำนำข้าว ตร.จัดชุดเฝ้าระวังมวลชน นัดชุมนุมวันแถลงปิดคดี 1 ส.ค. จับตากลุ่มการเมืองโพสต์ผิดกฎหมาย ดำเนินคดีทุกราย ป.ป.ช.จ่อเชือดซ้ำปมจ่ายเงินเยียวยาม็อบเสื้อแดง เกือบ 2 พันล้าน ครอบครัวชินวัตรโพสต์อวยพรวันเกิด “แม้ว” ครบ 68 ปี “วิษณุ” เผย กม.ยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปประกาศใช้ก่อน 2 ส.ค. คาดแผนทั้งหมดเสร็จก่อนเลือกตั้งปี “61

“บิ๊กตู่”ยังไม่ทูลเกล้าฯกม.ลูก

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสมช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการนำร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯว่า ยัง ขณะนี้ยังอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อย่าไปห่วงเลย ผู้รับผิดชอบเขียนให้ดีที่สุด ไม่ได้ไปสกัดกั้นใคร ไปว่าของเดิมมีปัญหาอย่างไรบ้าง เขามุ่งหวังไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านั้นอีก ฉะนั้นทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนี้ ถ้าทุกคนเปลี่ยนไปตามนี้ ตนไม่ต้องอยู่ให้เสียเวลาจนถึงวันนี้ เข้าใจหรือยัง

เตือนคนปลุกระดม-ป่วนผ่านเว็บ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการพิจารณาคดีสำคัญหลายคดีในช่วงเดือนส.ค. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคดีมีความสำคัญ มีตั้งหลายคดี ทำไมต้องสำคัญแค่คดีเดียว ซึ่งตนยังไม่ได้บอกว่าใครผิดหรือถูก เป็นเรื่องของศาล ขออย่าไปละเมิดศาล การเคลื่อนไหวข้างนอกบางทีมันผิดกฎหมาย การปลุกระดมต้องระวัง ถ้าพูดอะไรที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง กระทบต่อความสงบเรียบร้อย กฎหมายมีบัญญัติไว้ตามมาตรา 116 นอกจากนี้ยังมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พวกที่เขียนอยู่ในเว็บต่างๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ระวังจะโดนทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่อยากประกาศให้ทราบโดยทั่วกันคือ เรื่องการบังคับ หรือการยึดทรัพย์ต่างๆ ความจริงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันตอนนี้เพราะเป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ เขาต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่ออนาคตหากมีการตัดสินอะไรขึ้นมา ก็จะถามกันว่าไม่ได้เตรียมอะไรกันไว้เลยหรือ เจ้าหน้าที่ก็จะโดนอีก วันนี้ เขาจึงต้องมีการเตรียมการ มีการตรวจสอบกัน ช่วงที่ผ่านมาบุคคลที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการการเมืองก็ต้องมีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ต้องมีการตรวจสอบเมื่อออกจากตำแหน่งแล้วตามขั้นตอน เพียงแต่พอมีข่าวหลุดออกมาในสังคมก็กลายเป็นว่าเขาผิด

ลั่นยังไม่ได้ยึดทรัพย์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าความจริงวันนี้เขายังไม่ผิด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินและเมื่อศาลตัดสินแล้วถึงจะมีการดำเนินการต่างๆ ได้ ไม่ใช่ว่าจะไปตั้งใจยึดทรัพย์ก่อน เป็นเพียงขั้นตอนการทำงานของข้าราชการที่เขาต้องทำงานแบบนี้ ผมได้บอกให้กรมบังคับคดีดำเนินการชี้แจงแล้วว่าไม่ใช่เรื่องการไปยึดทรัพย์ กระทรวงการคลังที่พูดออกมาเพราะเขาได้ทำข้อมูลไปแล้ว ไม่อยากให้พวกสื่อไปซักเขามาก

“ผมได้บอกเขาว่าอะไรที่ยังไม่ใช่เวลาก็ยังไม่ต้องพูด จะกลายเป็นว่าเราไปรังแกเขา จึงอยากฝากถึงพ่อ แม่ พี่น้องข้างนอกด้วย ให้เข้าใจระบบข้าราชการว่าต้องเตรียมการเอาไว้ ทั้งหมดสุดแต่ผลทางคดีจะว่าอย่างไร ถ้าไม่ผิดก็จบ ไปยึดทรัพย์อะไรใครไม่ได้ วันนี้ยังไม่ได้ยืนยันว่าใครผิด ใครถูกเพราะเป็นหน้าที่ของศาล ผมไม่ใช่ศาล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ปู”ทวีตโต้-ถูกยึดไปแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้คนส่วนใหญ่สนใจที่ปลายเหตุหรือปลายทางในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะหมดไปได้อย่างไร หากจิตใจหรือจิตสำนึกยังไม่มี ประเทศจะเป็นอยู่แบบนี้ ใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด เคลื่อนไหวกันไปมาแล้วก็เรียกร้องว่าต้องการไปเลือกตั้ง ในข้อเท็จจริงจะต้องทำให้สถานการณ์สงบก่อน การจะนำทหารมาปราบปราม ก็ต้องดูว่ากลุ่มไหนทำอะไร ยืนยันว่าวันนี้ตนไม่ได้เข้าข้างใคร แต่เราต้องมีหลักการที่มั่นคง ถ้าไม่ทำร้ายประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต ไม่ทำให้สถานที่ราชการเสียหาย ไม่ยิงใส่วัดพระแก้ว คลังน้ำมัน ถามว่าแล้วใครยิงก็ต้องไปสอบสวนกันมา ซึ่งความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากทำ เพราะเป็นประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย แต่ต้องไปหาวิธีว่าคนที่ลงมือกระทำต้องทำอย่างไร กฎหมายผิดตรงไหนก็ไปว่ากันมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ทวีตตอบโต้กรณีนายกฯ ระบุยังไม่ยึดทรัพย์แค่อยู่ในขั้นเตรียมการโดยรอศาลชี้ขาดก่อนว่า “ไม่ใช่แค่อยู่ในขั้นตอนการ เตรียมการนะค่ะ แต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วค่ะ”

แจงปมขอทุเลาอายัดทรัพย์

ด้านนายเทอดพงศ์ คงจันทร์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีทนายความน.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับการอายัดทรัพย์สิน จากกรณีกระทรวงการคลังส่งรายการบัญชีธนาคารของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 12 บัญชี ให้กรมบังคับคดีทำการอายัดทรัพย์ว่า ก่อนหน้านี้ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นศาลขอให้คุ้มครองชั่วคราวจากการถูกกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีส่งบัญชีให้กรมบังคับคดีอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ 7 บัญชี โดยไม่ได้เเจ้งยอดเงิน ซึ่งศาลพิจารณาคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เเล้วมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดี เเละกรมบังคับคดีชี้เเจงรายละเอียดต่อศาลภายใน 15 วัน โดยได้ส่งหมายไปตั้งเเต่วันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นที่ให้กระทรวงการคลังเเละกรมบังคับคดีชี้เเจง จะเป็นประเด็นถึงเหตุผลที่ไปยึดบัญชีเพิ่มเติมดังกล่าว พร้อมความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องทำการยึดทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงรายละเอียดกระบวนการยึดทรัพย์ของกรมบังคับคดี คาดว่าทั้งกระทรวงการคลังเเละกรมบังคับคดีจะรวบรวมข้อมูลส่งมาภายในช่วงกลางเดือนส.ค. ตามกำหนด 15 วัน หลังจากได้หมายศาล

“วิษณุ”ยันมีช่องยื่นอุทธรณ์ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสิทธิที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยื่นอุทธรณ์คดีรับจำนำข้าวตามรัฐธรรมนูญใหม่ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ ทั้งหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่จะยื่นได้เมื่อไหร่ หรือไม่อย่างไรนั้นยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ เพราะต้องรอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่มีช่องทางที่จะยื่นได้

ทั้งนี้ตนไม่สามารถยืนยันได้ว่า หากศาลมีคำพิพากษาก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้แล้วจะยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ด้วย เพราะหากกฎหมายใหม่กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีคำพิพากษา แต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ภายหลังมีคำพิพากษา 1 เดือน จะทำให้ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีการอะลุ้ม อล่วยไว้ในบทเฉพาะกาล เพราะต้องมีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มากกว่ากรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์แน่นอน

ตร.ประชุมรับมือมวลชน

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมเรื่องการเตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร บริเวณศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ กรณีศาลฎีกาฯ กำหนดอ่านคำพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยมีตัวแทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจสันติบาล กองบัญชา การตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ พื้นที่ที่มีความเคลื่อน ไหวของกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมดูแลความสงบเรียบร้อยในวันที่ 25 ส.ค. รวมทั้งการอ่านคำตัดสินคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. เป็นจำเลย ในวันที่ 2 ส.ค เบื้องต้นจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าดูแลความสงบเรียบร้อย โดยใช้แผนกรกฎ 52 เป็นแผนหลัก ดูแลทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ทั้งนี้ เรื่องที่เป็นห่วงและกังวลคือความปลอดภัยและการก่อเหตุของมือที่ 3 ที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการจราจรบริเวณศาลฎีกาฯ จึงได้สั่งการให้สน.ทุ่งสองห้อง ไปประเมินสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด

จับตากลุ่มปลุกระดมภาคเหนือ

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า คาดว่าในวันที่ 1 ส.ค.ที่จะมีการแถลงปิดคดีจำนำข้าว จะมีมวลชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ประมาณ 1,000 คน และได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนเป็นพิเศษ เนื่องจากพบว่ามีความเคลื่อนไหวที่อาจเข้าข่ายระดมมวลชน ยุยงปลุกปั่น ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยขณะนี้พบในลักษณะชักชวนกันทางโซเชี่ยลมีเดีย นัดรวมตัวกันหรือแสดงความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายปลุกระดมมวลชน จึงสั่งการให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโน โลยี (ปอท.) ติดตามกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว

รวมถึงติดตามการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นของกลุ่มนักการเมืองหรือกลุ่มแกนนำทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการโพสต์ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ หากพบว่าเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือขัดคำสั่งคสช. กระทบต่อความมั่นคง จะต้องดำเนินคดีทุกราย ขณะนี้ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่จับตาอยู่ 1 ถึง 2 ราย ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 ก็สั่งการให้ไปดำเนินการตามกฎหมาย

ห่วงมือที่ 3-หัวรุนแรง

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบพฤติการณ์นัดรวมตัวระดมมวลชน โดยจัดรถตู้ให้มารวมตัวเหมือนทุกครั้งที่นัดคดีนี้ก็จะมีการจัดรถให้มวลชนมาที่ศาล อ้างว่ามาสักการะพระบรมศพ เจ้าหน้าที่จะไม่มีการห้ามหรือสกัดแต่จะอำนวยความสะดวกให้ แต่หากมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการทันที สิ่งที่ห่วงกังวลคือการก่อความรุนแรงของกลุ่มมือที่ 3 กลุ่มหัวรุนแรง จึงสั่งการให้ทั่วประเทศติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่ม เฝ้าระวังการลักลอบขนอาวุธที่อาจนำมาใช้ก่อสถานการณ์ความรุนแรง

ส่วนการพูดคุยกับแกนนำนปช. หรือแกนนำกลุ่มการเมืองอื่นๆ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนของตำรวจเพียงแต่ดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวาย ละเมิดกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้หากจำเป็น ตนจะบัญชาการเหตุ การณ์ด้วยตัวเอง หลังแถลงปิดคดีในวันที่ 1 ส.ค. จะมีการประชุมอีกครั้งก่อนวันอ่านคำตัดสิน

ด้านพล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผบช.น.ด้านความมั่นคง กล่าวว่า จากการประเมิน ในวันที่ 1 ส.ค.ไม่มีอะไรน่ากังวลเนื่องจากเป็นวันแถลงปิดคดี จะคล้ายกับทุกนัดที่ผ่านมา แต่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือวันที่ 25 ส.ค. โดยวันที่ 15 ส.ค. ทางศาลประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งขอบเขตการปฏิบัติต่างๆ จากนั้นวันที่ 17 ส.ค.ตนจะเชิญประชุมหน่วยงานต่างๆ ทางตำรวจสันติบาล สมช. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกองทัพ เพื่อหารือวางแผนดูแลความสงบเรียบร้อยในวันที่ 25 ส.ค.

“บิ๊กป้อม”ชี้เชิญชวน-จัดรถผิด

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ขอร้องไม่ให้มวลชนมาชุมนุมให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าววันที่ 25 ส.ค.ว่า ถ้ามวลชนจะมาให้กำลังใจกันเองก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้ห้าม แต่อยู่ที่บ้านก็ให้กำลังใจได้ ส่วนที่นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาเชิญชวนประชาชนร่วมให้กำลังใจ จะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ตนคิดว่าถ้าเป็นเรื่องการเมืองแล้วออกมาเชิญชวนอย่างนี้ ทำไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องเชิญชวนใครถ้าอยากมาก็มาเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสานจะจัดรถให้มวลชน สามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทำไม่ได้ ต่อข้อถามว่าในวันพิพากษาคดี จะจัดพื้นที่บริเวณรอบศาลเป็นพื้นที่เฉพาะให้มวลชนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องถามศาล ส่วนมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในวันนั้น ตนจะดูแลเองเพราะในพื้นที่จะมีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ทำหน้าที่อยู่แล้ว ศาลสามารถขอความร่วมมือมาได้ว่าจะให้เราช่วยดูแลอย่างไร

พท.อัดอย่ามองโลกแง่ร้าย

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงนายกฯ เตือนประชาชนอย่าสร้างความวุ่นวายในวันตัดสินคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ขอทำความเข้าใจกับผู้ที่กังวลว่าประชาชนที่จะมาให้กำลังใจนั้น มาด้วยความห่วงใย ไม่ได้ระดมกันมา ไม่มีการว่าจ้าง มาให้กำลังใจตามพื้นฐานวัฒนธรรมของคนไทย การพิจารณาคดีที่ผ่านมา 16 ครั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้

ขอให้รัฐบาล คสช.และเครือข่ายเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการก่อจลาจล สร้างความวุ่นวาย เพราะต่างคนต่างมาให้กำลังใจแล้วก็เดินทางกลับด้วยความเรียบร้อย อย่ามองโลกในแง่ร้าย คนไทยทุกคนรู้สิทธิ รู้หน้าที่ดี ไม่สร้างความรุนแรงแน่นอน อยากฝากรัฐบาล คสช.และเครือข่าย แทนที่จะออกมาปรามประชาชน รัฐบาลควรเอาเวลาไปแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ หรือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

จี้ศาลฎีกาส่งคำร้องไปศาลรธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มอบให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งเพิกถอนคำสั่งและกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในคดีรับจำนำข้าว จากการที่ศาลสั่งยกคำร้องขอให้ส่งเรื่องโต้แย้งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 212 โดยคำร้องดังกล่าวระบุเหตุผลที่เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 212 บัญญัติว่าการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดี จะมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องที่จำเลยโต้แย้งแล้วสั่งยกคำร้องเสียเอง โดยเฉพาะการที่ศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยเองว่าคำร้องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โต้แย้งดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะยื่น เพื่อให้ศาลส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลฎีกาและยังมีบทบัญญัติตามมาตรา 212 ซึ่งมีสภาพบังคับที่ไม่อาจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้

วิงวอนขอสิทธิ-ความเมตตา

คำร้องระบุด้วยว่า ในมาตรา 212 วรรคสอง บัญญัติว่าในกรณีศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ จึงชัดเจนตามบทบัญญัติดังกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเพียงศาลเดียวเท่านั้นที่จะมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ศาลอื่นไม่มีอำนาจสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณา

ท้ายคำร้องดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้วิงวอนต่อศาลว่าการพิจารณาคดีนี้ หากมีคำพิพากษาจะทำให้คดีถึงที่สุดโดยที่ไม่มีโอกาสขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้อีก สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองจำเลยไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเสียสิทธิไป แม้การตัดสินใจยื่นคำร้องฉบับนี้จะสร้างความลำบากใจต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเกรงจะสร้างความยุ่งยากและรบกวน จนเป็นภาระต่อองค์คณะของศาลฎีกา แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงต้องการวิงวอนขอความเมตตาและขอความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า หลังศาลฎีกาฯรับคำร้องดังกล่าวไว้แล้ว คาดว่าองค์คณะฯจะมีคำสั่งในวันที่ 1 ส.ค.นี้ตามที่นัดให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจา ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวันนัดคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. หรือไม่ ต้องรอดูความชัดเจนในวันที่ 1 ส.ค.นี้

ครอบครัวชินวัตรเบิร์ธเดย์”แม้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีอายุครบรอบ 68 ปี ในช่วงเช้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ น้องสาวได้โพสต์ภาพถ่ายคู่ และข้อความส่วนตัวอวยพรว่า “วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของพี่ชาย น้องไม่มีอะไรจะให้ นอกจากขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้ม ครองให้พี่ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ที่สำคัญขอให้พี่ของน้องมีความสุข เพราะพี่ผ่านเรื่องอะไรต่างๆ มามากมาย ขอให้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดี น้องรักพี่ค่ะ”

ขณะที่ครอบครัวชินวัตรต่างทยอยอวยพรวันคล้ายวันเกิดอย่างต่อเนื่อง อาทิ เอม นาง พินทองทา โพสต์ข้อความว่า “ขอให้คุณพ่อสุขภาพแข็งแรงและมีกำลังใจที่แข็งแกร่ง ทุกๆ วันมีพลังบวกที่ล้นหลามแพรถึงทุกๆ คนรอบข้างแบบนี้ทุกวัน และขอให้อุปสรรคต่างๆ มันแพ้ภัยตัวมันเองโดยเร็ววัน รักคุณพ่อมากๆ และภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกพ่อ ภูมิใจแทนหลานหลานที่มีคุณตาเป็นนักสู้และยังน่ารัก ใส่ใจในรายละเอียดพวกเราทุกคนเสมอ รักตาที่สุด”

จัดงานเลี้ยงในลอนดอน

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า วันเกิดปีนี้นายทักษิณได้จัดงานเลี้ยงเล็กๆ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเฉพาะคนในครอบครัว ญาติมิตร คนสนิท และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนเข้าร่วมอวยพร แต่จำนวนไม่มาก เพราะนายทักษิณต้องการให้มีแต่คนในครอบครัวเท่านั้น อีกทั้งบางส่วนได้พบและอวยพรวันเกิดล่วงหน้าไปตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่แกนนำและอดีตส.ส.หลายคนโดนคดีความติดเงื่อนไขการขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอเดินทางออกนอกประเทศ จึงตัดสินใจไม่ไปพบจะดีกว่า

สำหรับเหตุผลที่นายทักษิณจัดงานวันเกิดแถวโซนยุโรป ไม่ใช่แถบโซนเอเชีย เพราะไม่อยากให้งานมีความเอิกเกริก จนกลายเป็นเงื่อนไขหรือประเด็นการเมือง ขณะที่อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้ไปพบก็ใช้วิธีอวยพรวันเกิดผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์แทน

เสื้อแดงพิษณุโลกร่วมทำบุญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดธรรมจักร อ.เมืองพิษณุโลก กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง นำโดยนาย อนิรุจน์ ดีสงวน ประธานกลุ่มเสื้อแดงพิษณุโลก พร้อมเครือข่ายประมาณ 60 คน ร่วมทำบุญเลี้ยงเพลพระ 9 รูปและเณรวัดธรรมจักร โดยมีพระโสภณปริยัติธรรม เจ้าอาวาสวัดธรรมจักร เป็นผู้นำฝ่ายสงฆ์ นำสวดอุทิศส่วนกุศลเนื่องในวันคล้ายวันเกิดนายทักษิณ พร้อมสวดคาถาน้ำมนต์ 7 วัดและยังมีประพรมน้ำมนต์แก่กลุ่มเสื้อแดงที่มาร่วมงานด้วย

พระโสภณปริยัติธรรมกล่าวบนอาสน์สงฆ์ว่า ทำความดี รำลึกถึงคนที่เรารัก เป็นเรื่องที่ดี ทำความดีกับบุคคลที่นับถือก็ไม่มีใครห้าม ทำบุญครั้งนี้เพื่ออุทิศให้นายทักษิณ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิด และยังทำบุญให้น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกด้วย

เสร็จพิธีสงฆ์ กลุ่มเสื้อแดงนำ นิมนต์เจ้าอาวาส ร้องเพลง และเป่าเทียนเค้กวันเกิด ที่ระบุตัวเลข 69 และเขียน “สุขสันต์วันเกิด ท่านทักษิณ”

“ชวน”เข้าเฝ้าสังฆราชขอพรวันเกิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 26 ก.ค. นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปทำบุญครบรอบวันคล้ายวันเกิดครบ 79 ปี ที่มีอายุครบในวันที่ 28 ก.ค. ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อถวายเครื่องสักการะและรับพรโดยเป็นการเข้าเฝ้าแบบส่วนตัว

ภายหลังเข้าเฝ้านานกว่า 1 ชั่วโมง นายชวนปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่า สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานพรหรือฝากอะไรหรือไม่ นายชวนกล่าวสั้นๆ ว่า “ไม่มี ไม่ได้ฝากอะไร” ก่อนที่จะเดินทางกลับเพื่อไปวาดรูปฉากบังพระเพลิง ที่สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา จ.นครปฐม

กมธ.ร่วมเร่งถกโทษยุบพรรค

ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนัดแรก เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในกมธ.ร่วม ซึ่งมีมติแต่งตั้งตนเป็นประธาน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นรองประธานกมธ.คนที่ 1 และ 2 พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ เป็นเลขานุการกมธ. และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นโฆษกกมธ.

พร้อมพิจารณาประเด็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็นแย้ง 4 ประเด็น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะมีการปรับปรุงทบทวนอย่างไร รวมถึงเรื่องบทลงโทษการจำคุกและการยุบพรรค หากมีการทำผิดในขั้นตอนไพรมารี่โหวตด้วย ซึ่งเบื้องต้นยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องกระบวนการและบทลงโทษ เนื่องจากกมธ.บางส่วนมองว่า เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป แล้วกลับมานำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ค. จากนั้นกมธ.จะนัดประชุมอีก 2 ครั้งคือวันที่ 31 ก.ค. และวันที่ 1 ส.ค.เพื่อหาข้อยุติให้ได้ภายในเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด

แผนปฏิรูปเสร็จก่อนเลือกตั้ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ชาติ 20 ปี และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ว่า พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติและพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศจะสามารถประกาศใช้ก่อนวันที่ 2 ส.ค.นี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้ว สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 1 คณะ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ แต่ละคณะจะประกอบด้วยคณะกรรมการ 15 คน ยืนยันว่า สปท.สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้แต่งตั้ง ภายในระยะเวลา 15 วัน

ขณะนี้ครม.มีมติตั้งคณะปฏิรูปประเทศล่วงหน้าแล้ว 2 คณะ คือ คณะปฏิรูปการศึกษาและคณะปฏิรูปตำรวจ ส่วนที่เหลือจะแต่งตั้งภายในเดือนส.ค.นี้ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีหลังแต่งตั้งเสร็จ ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติเมื่อทำแผนปฏิรูปเสร็จเรียบร้อย จะเสนอต่อสนช.ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนแผนการปฏิรูปประเทศหลังรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรียบร้อยแล้วจะเสนอต่อครม.และประกาศใช้ต่อไป คาดว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศจะสามารถประกาศใช้ทั้งหมดภายในปี 2561 ก่อนการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

นายกฯให้เร่งสอบ 70 ขรก.

ส่วนกรณีหัวหน้าคสช.มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 35/2560 ประกาศรายชื่อตรวจสอบเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่รัฐพัวพันทุจริตครั้งที่ 9 จำนวน 70 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) รวบรวมจากหลายหน่วยงานและเสนอมาที่รัฐบาล ซึ่งขั้นตอนตรวจสอบจำเป็นต้องเอาออกจากตำแหน่งก่อน ไม่ได้หมายความว่าปลดหรือให้ออกจากตำแหน่งเลย ยังดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีผลถึงบางคนที่มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการหลายชุด ต้องหยุดหมดเพื่อให้สอบสวนได้ ถ้าเกิดไม่มีอะไรก็คืนตำแหน่งให้ ไม่ได้ตั้งใครไปแทน ถ้าผิดก็ปรับย้ายหรือลงโทษลดบำเหน็จ แต่ถ้าเป็นคดีต้องส่งศาล นำไปสู่การปลดออก ซึ่งการสอบสวนจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

“ประยงค์”ปัดล้างขั้วการเมือง

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าศอตช.จะส่งเหตุผลพร้อมพยานหลักฐานของแต่ละรายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง โดยศอตช.จะตั้งอนุกรรมการตรวจสอบคู่ขนานไปด้วย เพื่อตรวจสอบว่าผลสอบสวนของต้นสังกัดและศอตช.จะตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อปราบปรามการทุจริต

การเสนอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อกระตุ้นให้ใช้มาตรการทางวินัยเข้าไปดำเนินการกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ยืนยันว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้งเฉพาะข้าราชการรายหนึ่งรายใด และไม่ใช่การล้างขั้วการเมืองตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนสาเหตุที่ใช้มาตรา 44 เข้าไปดำเนินการกับข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เป็นสัดส่วนมากกว่าข้าราชการหน่วยอื่น เนื่องจากอปท.กระจายอยู่ทั่วประเทศและมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของข้าราชการหน่วยงานอื่น จึงทำให้มีการร้องเรียนและถูกดำเนินการจำนวนมาก ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราว หากนำหลักฐานเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ ก็สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเดิม ซึ่งการระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราวเพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปอย่างโปร่งใส

มท.1 เตรียมตั้งกก.ขรก.ท้องถิ่น

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ผู้บริหารและข้าราชการส่วนท้องถิ่น ถูกตรวจสอบพัวพันการทุจริตตามคำสั่งมาตรา 44 ว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายคือ ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จากนั้นเมื่อได้รับข้อมูลจากศอตช. จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นต้องดูรายละเอียดอีกครั้งเนื่องจากผู้ที่ถูกกล่าวหามีตำแหน่งในหลายระดับ บางตำแหน่งเป็นอำนาจการสอบสวนของผวจ. บางตำแหน่งเป็นของนายอำเภอ หรือขึ้นมาถึงระดับกระทรวง หากพบมูลความผิดจริงก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนระยะเวลานั้นมีกรอบให้เสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขยายได้ตามความเหมาะสม

ส่วนกรณีครม.มีมติแต่งตั้งนายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ข้ามห้วยไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ทราบว่าเรื่องนี้กระทรวงแรงงานทำหนังสือขอโอนข้าราชการมา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ขัดข้อง ส่วนการแต่งตั้งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคนใหม่นั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้พิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสม เพื่อเสนอที่ประชุมครม. ส่วนข้าราชการระดับซี 9 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสำนักงานก.พ.

“กรวัชร์-ประวุธ”คัมแบ๊กดีเอสไอ

รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม(ยธ.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามคำสั่งให้พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร และพ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกใหม่ และยังแต่งตั้งนายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผอ. ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เป็นรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

ด้านนายวิศิษฏ์กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีดีเอสไอ และกรมราชทัณฑ์แล้ว

สำหรับพ.ต.ท.กรวัชร์และพ.ต.ท.ประวุธนั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลทั้งสองเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ แม้กระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญจะดำเนินการถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ตาม เนื่องจากพบปัญหาว่าคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งมีวาระ 1 ปี บางรายได้หมดวาระไปก่อนที่กระบวนการสรรหาจะเสร็จ คือช่วงที่จะลงมติผลรับรองที่จะส่งให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงต้องทำเรื่องส่งให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมดำเนินการแต่งตั้ง ดังกล่าว

จ่อเชือด”ปู-ครม.”ปมเงินเยียวยา

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวม 34 ราย หลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศจำนวน 1,921,061,629.46 บาท กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553) โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. คาดว่าภายในเดือนก.ย.นี้จะชี้มูลความผิดได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมป.ป.ช.เมื่อเดือนพ.ค.2558 มีมติให้คณะอนุกรรมการแจ้ง ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และครม.รวม 34 ราย ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2555 และเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2555 เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 และให้ใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเกือบ 2,000 ล้านบาท มาใช้จ่ายเงินเยียวยา โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว

สำหรับรายชื่อครม. 34 ราย ได้แก่ 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ 3.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 4.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 5.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา 6.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล 7.นางนลินี ทวีสิน 8.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล 9.พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต 10.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย

11.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ 12.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล 13.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 14.นายธีระ วงศ์สมุทร 15.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 16.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ 17.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก 18.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 19.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข 20.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

21.นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ 22.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ 23.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ 24.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ 25.นายฐานิสร์ เทียนทอง 26.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก 27.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ 28.นางสุกุมล คุณปลื้ม 29.นายปลอดประสพ สุรัสวดี 30.นายสุชาติ ธาดาดำรงเวช 31.นายศักดา คงเพชร 32.นายวิทยา บุรณศิริ 33.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ และ34.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กล่าวว่า น.ส.สุภา ไม่ควรออกมาพูดก่อนที่ป.ป.ช.ชุดใหญ่จะมีมติ เพราะอาจสร้างประเด็นหรือสร้างกระแสให้สอดรับกับช่วงที่ศาลฎีกาฯ จะพิพากษาคดีรับจำนำข้าวที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ หน้าที่ของป.ป.ช.มีอย่างเดียวที่ควรทำคือนำมติที่ชี้มูลแล้ว ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน