เลขาฯสมช. เผยตัดมาตรา 9 ออกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ ศบค.มีมติต่ออายุ 1 เดือน ระบุ จากนี้สามารถชุมนุม และเคลื่อนไหวได้ แต่ต้องไม่ให้ผิดกฎหมายอีก

วันนี้ (22 ก.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แถลงว่า

เหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือนนั้น จากการพูดคุยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยงานด้านความมั่นคง ประชาคมข่าวกรอง และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมทั้งคณะแพทย์ ซึ่งทั้งหมดยืนยันว่ายังต้องการที่จะมีกฎหมายลักษณะควบคุมต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน

เหตุผลเพราะสถานการณ์โลกในปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อทั่วโลกเฉลี่ยวันละเกือบ 200,000 ราย เป็นสถานการณ์ที่ยังรุนแรง และอยู่รายล้อมประเทศไทย จึงมีจำเป็นต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่เราจำเป็นต้องเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น และในที่ประชุม ศบค.วันเดียวกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศมากขึ้น

โดยเฉพาะการรับแรงงานต่างด้าว การเปิดให้มีการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น มีโปรแกรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติมาจัดการประชุมในไทย หรือแม้แต่การอนุญาตให้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ทั้งหมดเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่าสิ่งที่เราอนุญาตหรือผ่อนคลายไปในเชิงธุรกิจ ในเชิงเศรษฐกิจ จะถูกชั่งน้ำหนักโดยความปลอดภัยด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่คือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนิ่งนอนใจ เข้าใจดีว่าทีมงานด้านกฏหมาย และกระทรวงสาธารณสุข พยายามเร่งรัดที่จะปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะพ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญใช้ควบคุมโรค เพื่อให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่มากยิ่งขึ้นใกล้เคียงกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เป็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำอยู่ อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายออกมา จึงยังมีความจำเป็นที่จะคงมาตรการสำคัญของรัฐ โดยเฉพาะในการกักตัว 14 วัน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญ เครื่องมือเดียวที่จะทำได้คือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“แต่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสบายใจยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาเราพยายามใช้มาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างค่อนข้างเบาที่สุดแล้ว ถึงวันนี้เราไม่ได้ห้ามการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว วันนี้สิ่งที่เราจะไม่ห้ามต่อไป คือเราจะไม่ใช้มาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการห้ามการชุมนุม

เพื่อแสดงให้เห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาเพื่อใช้ควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจเพียงอย่างเดียว การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฏในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออายุ 1 เดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกฎหมายปกติ

ขอยืนยันอีกครั้งว่า จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าเพื่อต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน โดยไม่มีมาตรการเรื่องการห้ามการชุมนุม เพื่อให้มั่นใจว่าเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประโยชน์ในการสาธารณสุขอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการชุมนุมที่ผ่านมามีบางคนถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะดำเนินการอย่างไรต่อ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้การพูดถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป 1 เดือน คือเดือนสิงหาคม

เราจะไม่นำประเด็นเรื่องการห้ามการชุมนุมมาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะแจ้งข้อหา โดยใช้กฎหมายอื่น หรือแม้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้

เมื่อถามว่าฝ่ายกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการเร่งปรับปรุงพ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายที่จะมาใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กรอบระยะเวลาอีกนานแค่ไหน เลขาฯสมช.กล่าวว่า จะดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพราะเราตระหนักดี และตั้งแต่ต้นที่มีการตั้ง ศบค.ขึ้นมามีกฎหมายสองฉบับที่ใช้ควบคู่กันมาคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่เมื่อใช้มาระยะหนึ่งแล้วพบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีจุดดีอย่างไร หรือพ.ร.บ.โรคติดต่อ มีข้อเสียอย่างไร

แต่ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกฎหมายสองฉบับ เพราะกฎหมายทั้งสองฉบับถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ที่ต่างกัน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ออกแบบมาในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อำนาจหน้าที่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้สามารถกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกัน มาตรการแก้ไขควบคู่กันไป

จึงเห็นการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับควบคู่มาอย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่าทีมกฎหมายที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมก็กำลังพิจารณาว่าเมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องไปหาจุดดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อมาผนวกกับพ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่ออนาคตจะสามารถใช้พ.ร.บ.เพียงฉบับเดียวได้

“พูดได้ชัดคือการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนสิงหาคมนี้ ได้เอามาตรา 9 ออกไป การชุมนุม การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศเป็นปกติ กฎหมายฉบับนี้จะควบคุมสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อกักตัว 14 วัน ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงต้น เพื่อใช้บังคับประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ทำในบางสิ่ง

และกิจการบางอย่าง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ระยะหลังเรามีมาตรการผ่อนคลาย จนถึงขณะนี้คือระยะที่ 5 ไปแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีมาตรการอื่นในเชิงบังคับประชาชนอีกต่อไป นี่คือความแตกต่าง แต่ยังคงจำเป็นที่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อรอว่าจะมีกฎหมายอื่นที่จะมาทดแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน