กมธ.เด็ก-กลุ่มชาติพันธุ์ ออกหนังสือด่วน ให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในป่าอนุรักษ์ต่อไป แม้เลยระยะที่กำหนด 240 วัน เนื่องจากยังไม่เสร็จและพบข้อผิดพลาด

วันที่ 22 ก.ค. นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เปิดเผยว่าว่า คณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาศึกษา เรื่อง “สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย” โดยเฉพาะประเด็นการติดตามการบังคับใช้ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ผลจากการพิจารณาศึกษามีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2562 โดยกำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 กำหนดให้กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง ตลอดจน มาตรา 65 กำหนดให้กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเภทและชนิดของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ในอุทยานแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เช่นเดียวกับบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 121 กำหนดให้กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแต่ละแห่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อรวมแล้วกำหนดช่วงเวลาตรงกันคือ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ก.ค.63 นี้

คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประมาณ 4,000 หมู่บ้าน นับเป็นจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านคน
โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งอยู่อาศัยและทำกินมายาวนานก่อนมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และจากผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ ได้พบข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้

ประเด็นข้อเท็จจริงพบว่า มีประชาชนจำนวนมากไม่ทราบและไม่ได้เข้าร่วมการสำรวจตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีผู้ตกหล่นจากการสำรวจ มีการซ้ำซ้อนทั้งรายชื่อบุคคล และพื้นที่ที่แจ้งสำรวจมีการทับซ้อนและซ้ำซ้อนกัน จึงส่งผลให้การสำรวจยังไม่เสร็จสมบูรณ์และมีความบกพร่องไม่ถูกต้องครบถ้วน

ประเด็นข้อกฎหมายพบว่า การกำหนดระยะเวลาให้สำรวจแล้วเสร็จภายใน 240 วัน เป็น “ระยะเวลาเร่งรัด” ซึ่งหากไม่กระทำการหรืองดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือกระทำการล่าช้า ไม่ส่งผลให้การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่มีความผิด และประชาชนไม่ถูกตัดสิทธิ์ อันแตกต่างจาก “ระยะเวลาบังคับ” ซึ่งต้องทำภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น

จากข้อสรุปทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว คณะกรรมาธิการ จึงขอให้ข้อเสนอแนะว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถพิจารณาดำเนินการสำรวจตามกฎหมายทั้งสองฉบับให้แล้วเสร็จ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างครบถ้วน ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนได้ต่อไป โดยสามารถดำเนินการสำรวจต่อไป แม้เลยระยะเวลา 240 วัน ในวันที่ 23 ก.ค. ทั้งนี้ สามารถดำเนินการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน