บ้านกลางโมเดล ต้นแบบชุมชน คนอยู่กับป่า ยืนหยัดสู้รัฐ ด้วยข้้อมูล และวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิม

บนถนนสายยาวที่ทอดตัวไปตามไหล่เขา ทั้งคดเคี้ยว ขรุขระ และเล็กแคบ ระหว่างทางยังเต็มไปด้วยป้ายที่มีทั้งภาษาไทย และภาษาพื้นถิ่น ติดตามต้นไม้ใหญ่ ได้นำพาไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่ซ่อนตัวอยู่ในดงดอย เงียบสงบ ร่มเย็น ท่ามความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และแมกไม้นานาพันธุ์

บ้านกลาง หมู่บ้านเล็กๆในหุบเขา ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่นี่เป็นบ้านของคนกะเหรี่ยง ที่ยังยึดถือและดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม ด้วยการทำไร่หมุนเวียน เลี้ยงวัวควาย และหาของป่าขายในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูไร่นา

และก็เป็นเหมือนเรื่องปกติ เมื่อความเจริญของโลกสมัยใหม่ รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เดินทางผ่านเมืองหลวง ถนนลาดยาง ผ่านหลายร้อยกิโลเมตรของป่าปูน มาจนถึงบ้านกลาง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างขึ้นในพื้นที่ ผู้คนบางส่วนอยากยกระดับชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น จึงเรียนรู้ และพยายามปรับตัวเข้ากับโลกใหม่

ธรรมชาติที่บ้านกลาง

ธรรมชาติที่บ้านกลาง

แต่ในท้ายที่สุดเมื่อพบว่าสิ่งใหม่ ไม่สอดคล้องกับวิถี จำนวนหนึ่งจึงหันหลังกลับสู่โลกใบเก่า ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ภายใต้ความเข้มแข็ง และความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน

ทำให้ทุกวันนี้ บ้านกลาง นอกจากจะยังต้านทานกระแสการพัฒนาจากภายนอกได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถใช้ความเข้มแข็งของชุมชน เป็นเครื่องมือในการต่อรอง เพื่อให้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า

จนเป็นที่ยอมรับจาก คนกะเหรี่ยงทั่วภาคเหนือ ให้บ้านกลาง เป็นโมเดลที่ใช้ในการเรียนรู้ เพื่อคงวิถีหาอยู่หากิน ของคนบนพื้นที่สูงต่อไป

แต่ทว่า กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ชาวบ้านที่นี่ต้องต่อสู้ และได้เรียนรู้กับความเจ็บปวดมากมาย

 

เรื่องเล่า ตำนาน และการเดินทางของกะเหรี่ยงบ้านกลาง

บ้านกลาง เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 77 ครัวเรือน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ไม่ถึง 300 คน สร้างบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจาย ท่ามไม้ใหญ่ที่ยืนต้นให้เห็นทั่วชุมชน

แม้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ที่สืบค้นไปได้ว่าแท้จริงแล้ว คนบ้านกลางเข้ามาตั้งรกรากอยู่อาศัยในพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่สมัยใด แต่จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ทำให้พอเห็นภาพว่า ชุมชนบ้านกลางตั้งอยู่ในพื้นที่มามากกว่า 300 ปี หรือ 5-6 ช่วงอายุคน

โดยผู้เฒ่าเล่าต่อๆกันมาว่าผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ จากจ.กาญจนบุรี ที่เดินทางมาค้าขายในจ.แพร่ แล้วเดินทางต่อไปยังเชียงแสน โดยใช้เส้นทางสันดอยหลวง

แต่ระหว่างทาง ได้หยุดพักบริเวณห้วยแม่มาย และพบว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งเหมาะแก่การอยู่อาศัยทำกิน จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐาน และสร้างหมู่บ้านขึ้นที่นั่น

ต่อมาเริ่มมีคนเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงขยายพื้นที่ทำกินไปทางทิศเหนือ แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งก็คือ บ้านกลาง นั่นเอง

หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการตั้งหมู่บ้าน คือการบันทึกการเข้ามาของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอ และอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเดิม เพื่อฉลองวาระครอบรอบ 100 ปี ของการตั้งหมู่บ้าน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งคนในชุมชนเชื่อว่า บ้านกลาง เป็นหมู่บ้านแรกในประเทศไทยที่นับถือศาสนาคริสต์

พ่อหลวงชาติ

พ่อหลวงชาติ

สมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า พ่อหลวงชาติ บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ฉบับแบบย่อของหมู่บ้านว่า บ้านกลางถือเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทำให้อดีตที่ผ่านมาถูกบริษัทนายทุนเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ถึง 3 ครั้ง

ส่งผลกระทบทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าจำนวนมากล้มตาย และลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งน้ำในลำห้วยที่ใช้ปลูกข้าวเริ่มแห้ง สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

พ่อหลวงชาติ เล่าต่อว่า หลังจากหมดการสัมปทานป่าไม้ มีหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชและไม้ผลเศรษฐกิจ โดยต้องเสียค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย และสารเคมี เมื่อปลูกไประยะหนึ่งพบว่าได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า

ทั้งยังเริ่มมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกพืชเศรษฐกิจ และเริ่มกลับมาฟื้นฟูป่า จนความอุดมสมบูรณ์ค่อยๆกลับคืนมา และหันกลับมาทำไร่หมุนเวียน พร้อมกับปลูกไม้ผล เอาไว้กิน และขายตามฤดูกาล

 

การต่อสู้ของคนบ้านกลาง เมื่อพื้นที่ทางจิตวิญญาณถูกคุกคาม

อย่างไรก็ตาม หลังบ้านกลาง กลับมาฟื้นฟูจนสภาพป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับวางระเบียบชุมชนให้ช่วยกันอนุรักษ์ป่า โดยชาวบ้านต้องร่วมกันป้องกันไฟป่า ปลูกป่าทดแทน และปลูกไม้ยืนต้นที่มีประโยชน์กับสัตว์ป่า ส่วนการทำไร่หมุนเวียน ก็ต้องยึดตามวิถีดั้งเดิม

แต่แล้วในความพยายามที่ชุมชนจะรักษาป่าด้วยตัวของพวกเขา กลับต้องเจอกับปัญหาใหญ่ เมื่อในปี 2534 บ้านกลางถูกประกาศเขตอุทยานถ้ำผาไททับพื้นที่ ชาวบ้านต้องถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินทำกิน และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำไร่หมุนเวียน

ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้ และเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ โดยเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามทำไร่ ห้ามใช้ที่ดิน และยังถูกจับกุมดำเนินคดี

ประกาศของชุมชน

ประกาศของชุมชน

พ่อหลวงชาติ เล่าว่า กว่า 30 ปี ที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้ถูกยอมรับในวิถีของคนที่อาศัยอยู่กับป่า ว่าเรามีวิธีจัดการ และดูแลป่าจนกลับมาอุดมสมบูรณ์ หลังเปิดสัมปทานป่า และการพัฒนาให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะป่าคือพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน ป่าเป็นจิตวิญญาณ ที่เราช่วยดูแลกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

“เราคัดค้านให้กันพื้นที่ 16,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของเราไว้ ไม่ให้อุทยานประกาศทับ เราสู้กับอุทยานมา 30 ปี เพราะถ้าเราแพ้ เราต้องสูญเสียพื้นที่ป่าที่เราดูแลมาโดยตลอด เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่อุทยานไม่มีทางดูแลป่าได้ดีเหมือนชาวบ้านแน่นอน”

พ่อหลวงชาติ ยืนยันว่า อุทยานฯถามเราว่า พื้นที่ 4,000 ไร่ที่พวกเขาจะกันไว้ให้เราทำมาหากินยังไม่พออีกหรือ นี่เป็นคำถามที่ไม่เข้าใจวิถีของชาวบ้าน เพราะพื้นที่ที่เขากันไว้ให้เรานั้น เป็นพื้นที่ป่าที่เราใช้ทำกินไม่ได้ เราจึงยอมรับไม่ได้ เรื่องนี้เป็นปัญหามาโดยตลอด เพราะเขายังไม่เข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียน

ในแต่ละปี 1 ครอบครัว ทำไร่หมุนเวียนครอบครัวละ 5 ไร่ ในช่วงเวลา 5-6 ปีจะหมุนเวียนกลับมาทำซ้ำในจุดเดิม แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ หรือบางพื้นที่อาจใช้เวลาแค่ 4 ปี ก็สามารถกลับไปทำได้แล้ว ซึ่งเรามีกฎของชุมชนชัดเจนว่า จะไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติม”

“เรากำหนดพื้นที่ป่าไว้อย่างชัดเจน มีคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านกลาง ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการ และวางแผนกิจกรรมในการดูแลป่า พร้อมทั้งแบ่งพื้นที่ป่า ออกเป็น 4 ประเภท ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชนหากิน ป่าชุมชนใช้สอย และหมู่บ้านสัตว์ป่าของชุมชน ทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้านต้องยึดถือตามกติกาที่เราตั้งขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านกลาง ขยายความ

ไร่หมุนเวียนที่บ้านกลาง

ไร่หมุนเวียนที่บ้านกลาง

ผลจากความเข้มแข็งในการช่วยกันดูแลป่าของชุมชนบ้านกลาง ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

 

บ้านกลางโมเดล ชุมชนต้นแบบ “คนอยู่กับป่า”

หลังผ่านการต่อสู้ และยืนหยัดให้รัฐและคนข้างนอก เห็นถึงวิถีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบ้านกลาง จนทำให้ได้รับการยอมรับจากคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนกะเหรี่ยง ที่ยึดเอา บ้านกลางโมเดล เป็นต้นแบบในเรื่องคนอยู่กับป่า มาปรับใช้กับการพัฒนาในพื้นที่

บนไร่หมุนเวียนเชิงดอยบ้านกลาง ลมร้อนพัดผ่าน แม้เข้าสู่ต้นฤดูหนาว แดดกลางวันแม้จะจ้าจัด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคให้ พฤ โอโดเชา นักต่อสู้ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จากอ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางมาเรียนรู้วิธีการจัดการชุมชน เดินดูพื้นที่โดยรอบ

ต้นข้าวที่เหลือแต่ตอซาง หลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ต้นพริก ต้นมะเขือ ยังผลิดอกออกผลกระจัดกระจาย บ่งบอกให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่นี่

พฤ บอกว่า ชุมชนบ้านกลางเป็นพื้นที่ที่อยู่ในหุบเขา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ พื้นที่ตรงนี้คนกะเหรี่ยงทั่วภาคเหนือ และกะเหรี่ยงทั่วประเทศ ยกให้เป็นโมเดลนำร่องของการจัดการตัวเอง ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ สังคม วิถีวัฒนธรรม อาหาร และการผลิตต่างๆได้ดี เพื่อปรับใช้กับหมู่บ้านของพวกเราเอง

พฤ โอโดเชา

พฤ โอโดเชา

นักต่อสู้ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชี้ว่า ข้อดีของที่นี่คือ ชาวบ้านมีการจัดทำข้อมูลอย่างละเอียด การทำกองทุนจากพืชผักอาหาร เช่น หน่อไม้ เพื่อนำเงินตรงนี้ย้อนกลับไปดูแลป่า รวมไปถึงการไม่ใช้สารเคมี แม้มีความพยายามจะประกาศอุทยานทับพื้นที่ แต่พวกเขาไม่ยอม และพยายามนำเสนอตัวเองผ่านบ้านกลางโมเดล ซึ่งเป็นที่ทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง

“แม้ตอนนี้เป็นยุค 4.0 บ้านกลางก็มีโทรศัพท์มือถือใช้ มีโรงเรียน มีทั้งคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ รวมทั้งมีพืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้ามาเยอะแยะ แต่พวกเขายังสามารถเอาป่ามาเลี้ยงชุมชนได้ และยังสามารถระดมกองทุนเพื่อทำเป็นพื้นที่ของตัวเอง เพื่อเอามาใช้บอกกับสังคมได้ว่าฉันอยู่กับป่าได้อย่างไร”

พฤ อธิบายด้วยว่า ชุมชนอื่นไม่เข้าใจนโยบาย ไม่ไปเรียนรู้สังคมภายนอก และไม่รู้จักการปรับตัว แต่ชาวบ้านที่นี่เรียนรู้ข้อดีข้อเสียของภายนอก แล้วกลับมาทำความเข้าใจกับตัวเอง

ข้อเด่นของบ้านกลางคือ มีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งเรื่องพื้นที่รายแปลง แผนที่ หรือรายได้ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ทำกันออกมาได้อย่างชัดเจน

แต่ก็ยอมรับว่าสำหรับชาวบ้านที่อื่น การทำข้อมูลในลักษณะเช่นนี้ถือว่ามีความลำบากมาก เพราะชาวบ้านที่อยู่กับป่า เมื่อมาทำข้อมูลในลักษณะเช่นนี้ก็ไม่มีความชำนาญ

“ที่สำคัญที่สุดคือ บ้านกลางยังคงแนวทางของคนอยู่กับป่า เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติ และพระเจ้า สามารถเลี้ยงเรารอด แต่สิ่งที่ต้องตอบคำถามสังคมส่วนใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจได้คือ พวกเขายังไม่เข้าใจ และมักคิดว่า คนเหล่านี้อันตรายต่อป่า เพราะอยู่กลางป่า เลยต้องอพยพออกจากป่า

แต่บ้านกลาง เขาทำข้อมูลขึ้นมาเพื่อให้คนภายนอกยอมรับเขา มันสะเทือนถึงความเชื่อของชุมชนอื่นที่ว่า ต้องเปลี่ยนแปลงชุมชน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมี ออกไปรับจ้างในเมือง ไม่ต้องอยู่ในเมือง เพราะสู้กับนโยบายรัฐไม่ได้

ผลผลิตจากไร่หมุนเวียน

ผลผลิตจากไร่หมุนเวียน

บ้านกลางยังยืนหยัดที่จะสู้กับนโยบาย และข้อกฎหมาย โดยใช้แนวทางการเกษตรด้วยการไม่ใช้สารเคมี และเขายังสามารถมีรายได้อยู่กับป่าได้ โดยไม่ทำลายป่า และยังดูแลป่าได้ ทั้งยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้างนอกได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้นั้นทำยากมาก แต่บ้านกลางยืนหยัดทำได้”

อย่างไรก็ดี ภายใต้ประโยชน์มากมายที่เขาได้มาเรียนรู้จากบ้านกลาง ยังมีความกังวลที่ซ่อนอยู่ หากวันหนึ่งบ้านกลาง ถูกประกาศอุทยานทับพื้นที่

พฤ เชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งอุทยานประกาศทับพื้นที่ของชาวบ้านได้สำเร็จ แล้วชาวบ้านที่นี่สู้กับรัฐไม่ได้ จะทำให้ต้นแบบของชุมชนกะเหรี่ยงหายไป

เพราะกฎหมายอุทยานจะตัดทอนการใช้ชีวิตอยู่กับป่าของชาวบ้าน จะเหลือแต่ที่ดินเป็นแปลงๆ ที่ไม่เชื่อมโยงคนกับธรรมชาติ และคนกับป่า

เป็นการตัดตอนที่เฉือนเอาจิตวิญญาณของมนุษย์ และชาวบ้านก็จะสูญหายไป เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือจนกลายเป็นนรกแน่ๆเลย

แม้วันนี้ บ้านกลาง จะได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วประเทศ ว่าสามารถรักษาวิถีชีวิตของคนกับป่า ได้เป็นอย่างดี แต่ทว่ายังมีความพยายามเข้ามาจัดการชุมชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน หรือแม้แต่โครงการที่ดินแปลงใหญ่ ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในรัฐบาล คสช.

ทำให้ชาวบ้าน ยังต้องลุกขึ้นสู้ และต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ให้ช่วยยืนยันว่าพวกเขาช่วยกันรักษาผืนป่าแห่งนี้มาเป็นอย่างดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน