“ปู”แถลงปิดคดีจำนำข้าว ยันบริสุทธิ์ใจไม่ได้ละเลยทุจริต เป็นนโยบายสาธารณะ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ตร.คุมเข้มศาล คาดมวลชนมา 6-7 ร้อยคน “คลังข้าว-สมาคมโรงสี” จี้รัฐบาลตรวจสอบคุณภาพข้าวเสื่อมใหม่ ชี้เจ้าของโกดังต้องจ่ายส่วนต่างเลยค้าน สปท.ลาโรงแล้ว “บิ๊กตู่”ขอบคุณร่วมสร้าง ผลงานประวัติศาสตร์ ฝากสานต่อยุทธศาสตร์ 20 ปี สนช.ถกเลือก”คตง.” “สรรเสริญ”สะดุด

อคส.จ่อชงตรวจคุณภาพข้าวใหม่

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) กล่าวในการแก้ปัญหาค้างค่าใช้จ่ายคลังสินค้าที่ร่วมโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลว่า ได้เชิญเจ้าของคลังสินค้ามารับทราบข้อมูลการค้างชำระ จากนั้นจะเสนอรมว.พาณิชย์ เพื่อของบประมาณต่อรัฐบาลมาจ่ายให้เจ้าของโกดังที่ร่วมโครงการรับจำนำ ซึ่งอาจเป็นงบกลาง หรืองบจากการขายข้าวก็ได้ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ามีมูลค่ารวมทั้งหมดเท่าไร เพราะมีกว่า 500 คู่สัญญา แต่มาแสดงเอกสารหลักฐานเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น จึงต้องรอให้ครบทุกรายก่อน คาดจะเริ่มทยอยจ่ายเป็นงวดๆ ได้ภายในปีนี้ และจะเรียกให้คู่สัญญา อคส. ซึ่งเป็นคลังเก็บพืชเกษตรชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง มาแจ้งยอดหนี้ต่อไปด้วย

“สำหรับกรณีคลังข้าวร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณภาพข้าวอีกครั้งนั้น อคส.มีหน้าที่เก็บรักษาและระบายไปตามคำสั่งของภาครัฐ เมื่อมีผู้ร้องเรียนมา ก็จะนำเรื่องส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” พล.ต.ต.ไกรบุญกล่าว

โกดังจี้เช็กข้าวที่ระบุว่าเสื่อมด่วน

ด้านนางวนิดา ดำรงค์ไชย ตัวแทนคลังข้าวถาวรโชคชัย จ.สระบุรี กล่าวว่า เฉพาะคลังถาวรโชคชัยมีข้าวที่รับฝากจากโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2556/57 ปริมาณรวม 7.9 หมื่นกระสอบ เป็นข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นข้าวเกรด เอ (ข้าวที่ผิดมาตรฐานแต่ยังปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้) 2 กอง และข้าวเกรดซี (ข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก) 2 กอง สภาพข้าวทั้ง 4 กองขณะนี้ เป็นข้าวที่สามารถปรับปรุงคุณภาพให้คนบริโภคได้ โดยต้นปี 2560 คลังนี้ถูกจำหน่ายไปเป็นข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ของภาครัฐที่ระบุว่าข้าวเกรด ซี เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งคลังจะต้องระบายสู่อุตสาหกรรม

“ยืนยันว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้หนังสือยืนยันผลการตรวจสอบคุณภาพข้าว และพยายามทำหนังสือคัดค้านมาตลอดว่าข้าวในคลัง ไม่ใช่เกรดซี แต่ปรับปรุงให้คนกินได้ และที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงนี้ เพราะข้าวในคลังได้เปิดประมูลครั้งที่ 1/2560 ไปเมื่อต้นปีนี้และมีคนเสนอซื้อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ซึ่งเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ขณะนี้ข้าวในคลังยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายและยังมีของกลางอยู่ จึงขอความกรุณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเปิดดูได้ และช่วยพิจารณาตัดสินว่าข้าวในคลังเป็นอย่างไร ยืนยันว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เกี่ยวกับการเมือง” นางวนิดากล่าว

ชี้ส่วนต่างข้าวดีกิโลละ 3.30 บาท

นางวนิดากล่าวต่อว่า ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนบริโภค ราคาในตลาดขณะนี้ข้าวเก่าอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ข้าวใหม่อยู่ที่ 11 บาทต่อก.ก. ส่วนข้าวในคลังนี้เป็นข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้าวเก่า ซึ่งยังปรับปรุงให้คนกินได้นั้น ตีราคาต่ำๆ อยู่ที่ 10 บาทต่อก.ก. ส่วนราคาประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน หรือเข้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้น มีคนเสนอซื้อที่ราคา 6.70 บาทต่อก.ก. หากขายราคานี้ทำให้ขาดทุนกว่า 40 ล้านบาท

นางวนิดากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อคส. ยังค้างจ่ายค่าฝากเก็บข้าว รวมค่ารมยา รักษาคุณภาพข้าวให้แก่คลังของตนรวม 7 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวตั้งแต่เริ่มรับฝากข้าวเมื่อปี 2556 แต่มั่นใจว่า อคส.จะจ่ายเงินดังกล่าวได้ เพราะทางคลังก็มีภาระที่ต้องใช้จ่าย

โรงสีแนะ”รบ.”เช็กคุณภาพใหม่

วันเดียวกัน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยถึงกรณีน.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี ผู้แทนเจ้าของคลัง วรโชติ (หลัง 2) ชี้แจงกรณีโกดังข้าว 8 แห่ง เรียกร้องรัฐบาลระงับการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 โดยระบุว่า สาเหตุเกิดขึ้นจากการตีความของคุณภาพข้าวที่แตกต่างกัน และเป็นกรณีแรกที่มีเจ้าของคลังออกมาเรียกร้องเช่นนี้ ในฐานะสมาคมโรงสีข้าวไทยมองว่าภาครัฐจำเป็นต้องประเมินถึงผลกระทบก่อน ทางออกที่ดีคือการเจรจากับผู้ประมูลข้าวและตรวจสอบคุณภาพข้าวได้ใหม่ จะไม่ทำให้ภาครัฐเสียหาย อีกทั้งจะเกิดประโยชน์ให้ทุกฝ่ายยอมรับคุณภาพข้าวที่ตรงกัน น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ผ่านมา จะยึดหลักมาตรฐานการตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับเนื่องจากใช้คัดเกรดข้าวไทยมานาน แต่กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ในฐานะเจ้าของคลังต้องการทราบถึงหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าต่างประเทศ นำมาคัดเกรดข้าวแบ่ง กลุ่ม เอ บี ซี และข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำข้าวไปประมูลเพื่อการบริโภคได้ ดังนั้น หากมีข้อโต้แย้งเช่นนี้และรัฐบาลประเมินแล้วว่าการเริ่มขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพข้าวใหม่ไม่ได้เสียหายมาก น่าจะพิจารณากลับมาตรวจสอบให้ทุกฝ่ายเห็นพร้อมและยอมรับได้

คลังข้าวต้องจ่ายส่วนต่างเลยค้าน

“ปัญหาเกิดจากกระบวนการคัดเกรดคุณภาพ ออกเป็นกลุ่ม เอ บี ซี หรือข้าวเพื่อการบริโภค ข้าวเพื่ออาหารสัตว์ และข้าวเพื่อทำพลังงาน ส่วนนี้เจ้าของคลังที่ออกมาชี้แจงก็ระบุว่าไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์แบ่งกลุ่มที่ชัดเจน รู้เพียงว่าข้าวในคลังเป็นข้าวประเภทใด มีคุณภาพอย่างไร แต่ไม่ทราบว่าข้าวเหล่านั้นถูกใช้หลักเกณฑ์อะไรนำไปคัดเกรดอีกระดับหนึ่ง เมื่อมาถึงขั้นตอนประมูลและได้ราคาตามหลักเกณฑ์การแบ่งคุณภาพข้าว รัฐก็เสียหายจากข้าวไม่ได้คุณภาพ เจ้าของคลังก็ต้องรับผิดชอบจากส่วนต่างราคา จึงต้องออกมาโต้แย้ง” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวด้วยว่า ต้องกลับไปดูว่าใครเป็นผู้ตรวจสอบ ตัวอย่างได้ไปอย่างไร กระบวนการดำเนินต่ออย่างไร ตอนคัดคุณภาพเจ้าของคลังเห็นชอบหรือไม่ เมื่อเจ้าของคลังไม่รู้เกณฑ์การคัดเกรดข้าวได้โต้แย้งหรือไม่ แต่เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว เมื่อมีคนโต้แย้ง ก็ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าจะเสียหายไหม ถ้าจะตรวจสอบคุณภาพข้าวอีกครั้ง หากพบว่าข้าวคุณภาพดีมากกว่าจะอยู่ในเกรดซี รัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากการประมูลใหม่

ปูเตรียมข้อมูลแถลงปิดคดีทั้งคืน

วันเดียวกันนี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมแถลงปิดคดีจำนำข้าวในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ว่า เรื่องนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำเนินการเองทั้งหมด ตนเป็น ผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น คิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าการแถลงปิดคดีจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งอดีตนายกฯ มีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ใจของท่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ใช้เวลาตลอดทั้งวันเตรียมข้อมูลที่จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาในคดีรับจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เบื้องต้นเตรียมใช้เวลาแถลงไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยเนื้อหาเป็นการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ในการบริหารราชการแผ่นดินในขณะที่ดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่ได้แถลงต่อรัฐสภา จะยกเลิกไม่ได้ เป็นโครงการที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีความสุข ลืมตาอ้าปากได้ และยืนยันไม่ได้เพิกเฉย

พร้อมชี้ปมไม่ได้ความเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการแถลงปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยืนยันด้วยว่า โครงการรับจำนำข้าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) เป็นโครงการที่มีประโยชน์ มีความคุ้มค่า อีกทั้งไม่เคยละเลยที่จะปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ การแถลงเพื่อปิดคดีของอดีตนายกฯ จะชี้ให้เห็นถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ ตั้งแต่การชี้มูลความผิดมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือกรณีฝ่ายอัยการโจทก์ มีการเพิ่มเติมเอกสารมากกว่า 60,000 หน้า ซึ่งอยู่นอกสำนวนและไม่ได้ไต่สวนมาก่อน รวมทั้งที่รัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายบริหารออกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหาย ยึดทรัพย์ ชี้นำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด จึงอยากจะขอให้ศาลพิจารณาถึงความเป็นธรรม

วัฒนาสวนให้กำลังใจผิดตรงไหน

ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางมาตามที่ศาลทหารนัดสอบคำให้การในคดีความผิดฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2560 จากกรณีโพสต์ข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าไปภายในศาลทหารว่า ตนจะปฏิเสธคำสั่งฟ้องเพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด เป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ได้เคลื่อนไหว หากคสช.มองว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกคนต้องถูกจับกันหมด ล่าสุดจะแจ้งความกับตนที่โพสต์ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าว ผิดมาตรา 116 ทั้งนี้ความผิดตามมาตรา 116 คือการชักชวนคนไปทำความผิดกฎหมายแผ่นดินหรือลบล้างรัฐบาล แต่กรณีตนชวนคนไปให้กำลังใจ ถามว่าผิดตรงไหน

“หากกรณีของผมผิด ตอนสงกรานต์ ปีใหม่ ไปรดน้ำ ไปไหว้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ต้องจับให้หมด แต่นี่เขาเรียกว่าให้กำลังใจ เป็นการปฏิบัติตามประเพณี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้ยกเว้นไว้ ไม่ต้องขออนุญาตเพราะเป็นเรื่องประเพณี และวันที่ 1 ส.ค. ผมจะไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะไปแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว ใครอยากออกหมายจับผมให้ไปจับที่ศาล ขอให้กล้าๆหน่อย และหากดำเนินคดีกับผมให้ทำเอง ไม่ไปใช้ลูกน้อง บางครั้งผมจะเอาคืน เห็นมียศเป็นร้อยตรี ร้อยโท ผมก็สงสาร ขออย่าหลบ หลังเด็กมันไม่ใช่หลักการการเป็นผู้นำ” นายวัฒนากล่าว

โพสต์จวกเลี่ยงตรวจคุณภาพข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ นายวัฒนาได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ มี เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐร่วมมือ และโฆษณาชวนเชื่อว่าขาดทุนมหาศาล ทั้งที่เป็นนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจ เอามาตรฐานทางบัญชีที่ใช้กับธุรกิจมาตรวจสอบโครงการของรัฐที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ตั้งมาตรฐานตรวจสอบคุณภาพข้าวเอง ว่ามีข้าวเสื่อมคุณภาพจำนวนมาก ทั้งที่การเก็บรักษา มีผู้รับผิดชอบ พอถูกจับได้ก็ไม่ยอมให้ ตรวจสอบ ทั้งที่คนเรียกร้องให้ตรวจสอบคือเจ้าของโกดังที่เก็บรักษาข้าว

“พรุ่งนี้เช้าผมและน้องเฟจะไปให้กำลังใจท่านที่ศาล ใครอยากจะจับให้รีบมา ส่วนประชาชนที่อยากไปก็ไปได้ไม่ผิดกฎหมาย จำคำพูดของผมให้ดีว่า คนที่ทำกรรมไว้กับประชาชนต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครปล่อยพวกคุณให้ลอยนวลอย่างแน่นอน” นายวัฒนา ระบุ

ผบ.ทบ.โยนตร.ดูแลม็อบเชียร์

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของมวลชนที่จะมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันแถลงปิดคดีโครงการจำนำข้าววันที่ 1 ส.ค.ว่า ยังไม่ได้รับรายงานการเคลื่อนไหวอะไรเป็นพิเศษ ประชาชนจะรักหรือชอบใครก็แสดงออกได้ แต่อยากให้คำนึงถึงความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้การให้ กำลังใจไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ได้ เพราะ สิ้นเปลืองงบประมาณไปเสียเปล่า

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการคสช. กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อยในวันที่ 1 ส.ค.ว่า เรื่องนี้ใช้กฎหมายตามเกณฑ์ปกติเหมือนทุกครั้งในการดูแลความสงบเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลเรื่องการจัดระเบียบบริเวณศาลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการจราจรและดูแลเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้คงไม่มีการกำหนดพื้นที่พิเศษบริเวณด้านหน้าศาลเพราะเป็นการดูแลตามกรอบปกติ ในส่วนของตนศาลก็ไม่ได้ประสานขอให้ดูแลเพิ่มเติมอะไรเป็นพิเศษ

บช.น.คาดมา 6-7 ร้อยคน

ที่บช.น. พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผบช.น. ดูแลงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการประเมินด้านการข่าวของตำรวจสันติบาล คาดว่าจะมีมวลชนมาให้ กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ประมาณ 600-700 คน โดยบช.น.ได้สั่งการให้บก.น.2 ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบจัดเตรียมกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยไว้ 2 กองร้อย พร้อมจัดเตรียมแผงเหล็กกั้นบริเวณกระจกไว้ตามที่ศาลฎีกาฯให้คำแนะนำ เพื่อไม่ให้ประชาชนมายืนเกาะกระจก เพราะทำให้ เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากมากขึ้น ที่ผ่านมาประชาชนมีปัญหาการใช้ห้องน้ำ ทางตำรวจจึงประสานกับกรุงเทพมหานคร ขอรถสุขา 2 คัน มาจอดให้บริการ ส่วนระยะเวลาแถลงนั้น คาดว่าใช้เวลาตั้งแต่ 09.30 น. ไม่เกิน 11.00 น. และไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

รองผบช.น. กล่าวว่า การมาให้กำลังใจไม่ถือเป็นการกระทำความผิด แต่หากคัดค้านหรือสนับสนุนด้วยวิธีแสดงความเห็น โพสต์ชักชวนกันกดดันศาล เข้าข่ายทำให้มีปัญหาหรือยั่วยุในประเด็นการเมืองจะมีความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนวันที่ 25 ส.ค.ที่ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวนั้น อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล โดยจะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 17 ส.ค.นี้

ส่งตร.คุมเข้มรอบศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการดูแลความเรียบร้อยในวันแถลงปิดคดีรับจำนำข้าววันที่ 1 ส.ค.นี้ ทางศาลได้ประสานฝ่ายตำรวจแล้วในการจัดกำลังพลมาดูแล ซึ่งมีสน.ทุ่ง สองห้อง เป็นหลักและมีกำลังตำรวจนครบาลและส่วนที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนภายในอาคารศาล จะมีเจ้าหน้าที่ รปภ. หลายสิบคนของศาลกระจายกำลังรักษาการณ์ ตามจุดทางเข้าอาคารศาล และทางเข้าห้องพิจารณาคดี รวมทั้งนำแผงเหล็กมากั้น เพื่อเป็นช่องทางเข้า-ออกทางเดียว บริเวณหน้าอาคารศาลด้วย ซึ่งการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ รปภ.และแผงเหล็กกั้นส่วนนี้ เป็นไปตามโมเดลปกติที่เคยจัดสรรหาไว้ระหว่างการพิจารณาคดี

ขณะที่ภายในอาคารศาล บุคคลที่จะผ่านเข้า-ออกเพื่อไปห้องพิจารณาคดี จะต้องผ่านจุดเครื่องสแกนตรวจอาวุธด้วย ซึ่งผู้ที่จะ เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีจะต้องนำบัตรประชาชน มา แลกบัตรเข้า-ออกของศาลกับเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่จุดแลกบัตรบริเวณแผงเหล็กกั้นทางเข้าศาล โดยบัตรจะมี 2 สี คือ สีเหลืองสำหรับประชาชนทั่วไป และสีเขียวสำหรับสื่อมวลชน โดยห้องพิจารณาคดีของศาลนั้นสามารถรองรับประชาชนที่จะร่วมเข้าฟังได้ 100 คน และการจัดสรรที่นั่งสำหรับสื่อมวลชนเบื้องต้นประมาณ 30 คน โดยในส่วนของการแถลงปิดคดีด้วยวาจา ศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ถ่ายทอดเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงออกจากห้องพิจารณาคดีมายังภายนอกอาคาร

วางกำลังยาวยันคดี”สมชาย”

รายงานข่าวแจ้งว่า การแถลงปิดคดีด้วยวาจานั้น จะใช้เวลานานเท่าใดขึ้นกับฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งตกเป็นจำเลย จะแถลง ต่อศาล โดยขั้นตอนในวันที่ 1 ส.ค. คงมีเพียงการแถลงปิดคดีด้วยวาจา และมีความเป็นไปได้ที่องค์คณะฯจะมีคำสั่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ศาลไม่ส่งประเด็นโต้แย้งข้อกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดดังกล่าว คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงเวลาไม่เกิน 12.00 น. ส่วนฝั่งอัยการโจทก์ที่กำลังจัดทำคำแถลงปิดคดี จะติดตามฟังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อนยื่นเป็นลายลักษณ์ต่อศาลภายในวันที่ 15 ส.ค. ตามที่ศาลกำหนด

สำหรับข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 นั้นระวางโทษจำคุกเช่นเดียวกัน แต่ระวางโทษปรับที่สูงกว่า คือ 20,000 – 200,000 บาท ทั้งนี้การระวางโทษปรับเป็นคนละส่วนกันกับมูลค่าความเสียหายทางแพ่ง

สำหรับการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ป.ป.ช.ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรอง นายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ์ อดีต ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ในคดีสลายการชุมนุมเมื่อ ปี 2551 ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาฯ จะใช้โมเดลการรักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อยบริเวณเช่นเดียวกับคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์

กรมบังคับคดีปัดแจงอายัด”ปู”

วันเดียวกัน น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงการดำเนินการของกรมบังคับคดีในการถอนเงินจากบัญชีธนาคารบางส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตาม ขั้นตอนบังคับคดีเพื่อชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่า คงไม่สามารถชี้แจงอะไรได้มาก เพราะขั้นตอนของกรมบังคับคดีเป็นเพียงแค่ปลายทางโดยรับเรื่องมาดำเนินการตามที่คณะกรรมการสืบทรัพย์กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงการคลัง เสนอเรื่องมา ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุทั้งหมด ส่วนกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ระบุว่าถูกอายัดบัญชีธนาคารส่วนตัว 8 บัญชี รวมทั้งบัญชีธนาคารของภริยาด้วยนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงการสรุปผลการตรวจสอบข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตซึ่งถูกออกคำสั่งหัวหน้าคสช. รวม 8 ล็อต ว่า ศอตช.ได้ส่งผลดังกล่าวให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ค. จากนั้นนายวิษณุจะเป็นผู้แถลงเอง ส่วนจะต้องรายงานให้นายกฯ รับทราบก่อนการแถลงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรองนายกฯ

สปท.รูดม่านส่งงานให้”บิ๊กตู่”

ที่รัฐสภา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประชุมครั้งที่ 31/2560 เป็นพิเศษ เพื่อส่งมอบงานของสปท.ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสมาชิกสปท.ทั้งหมดได้ถ่ายรูปร่วมกับนายกฯในห้องประชุมรัฐสภา เพื่อเป็นที่ระลึกผู้ร่วมงาน ทั้งนี้ มีแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิก สปท. อดีตประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมงาน

จากนั้นร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวรายงานว่า ภารกิจสำคัญของคสช. และรัฐบาล มี 3 เรื่อง คือการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูป และการสร้างความสามัคคี การปฏิรูปจึงเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ให้มีความยั่งยืน ไม่เกิดปัญหาซ้ำอีก การปฏิรูปจึงเป็นงานสร้างสรรค์เชิงบวกและต้องอาศัยความร่วมมือของแม่น้ำ 5 สาย ทั้งนี้งาน ปฏิรูปที่สปท.ส่งให้รัฐบาลมี 188 เรื่อง ส่วนที่รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อกลไกปฏิรูปประเทศ นับถึงเดือนต.ค. 2559 จำนวน 183 ฉบับ และเร่งผลักดันอีก 104 ฉบับ ขึ้นอยู่กับนายกฯว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หรือจะปรับปรุงอย่างไร ส่วนผลงานที่เป็น รูปธรรม 27 เรื่อง อาทิ การจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แผนปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา

ตู่ฝากสานต่อยุทธศาสตร์ 20 ปี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังรับรายงานจาก ร.อ.ทินพันธุ์ ในพิธีส่งมอบงานสปท. ว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญมากอีกวันหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จของความร่วมมือในการทำงานของทุกฝ่าย นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่เข้ามารับผิดชอบบริหารบ้านเมือง สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีหลายฝ่ายต่อต้าน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อควบคุมใคร แต่เป็นการกำหนดความชัดเจนในเรื่องเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของการบริหารประเทศ นโยบายของพรรคการเมือง จะทำอย่างไรก็กำหนดไปตามขั้นตอนของแต่ละพรรค แต่ต้องไม่ทำให้ล้มเหลว และจะทำอย่างไรให้นโยบายของพรรคสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติได้หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงาน ภารกิจวันนี้เราลุล่วงไปครึ่งหนึ่งแล้ว เหลืออีกครึ่งหนึ่งที่ต้องส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไปทำ ขอฝากภารกิจนี้ให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อสานต่อภารกิจให้สำเร็จ ตนขอขอบคุณทุกคนและขอให้ ทุกคนภาคภูมิใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยมีเป้าหมายและ การพัฒนาที่ชัดเจน

ชี้ 5 สายสร้างผลงานประวัติศาสตร์

“ผมยินดีรับฟังทุกฝ่าย และขอฝากให้ระวังการใช้สื่อออนไลน์ด้วย ก่อนจะเชื่ออะไร ขอให้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญให้ดี ผมก็โดนเยอะเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร ผมสู้ได้ ผมคิดว่าผมยังไม่ได้ทำอะไรผิด ผิดอยู่วันเดียว คือวันที่ 22 เท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หลังกล่าวจบ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้สมาชิกทุกคนที่อยู่ในห้องประชุมรัฐสภา ปรบมือให้กับครม. สนช. กรธ. สปช. และให้ตัวเองทั้งหมดเพราะคือสิ่งที่ทำให้ตนทำงานให้ประเทศอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นผลงานในประวัติศาสตร์ ไม่มีการตำหนิซึ่งกันและกัน ให้เลิกแล้วต่อกัน และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถพูดได้ตนพร้อมรับฟัง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาพูดประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้นเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย ผัดผักรวมมิตรกุ้ง กระดูกหมูตุ๋นเยื่อไผ่ แกงส้มชะอมทอดใส่กุ้ง ปลาและปลาหมึกทอดกระเทียม ผลไม้รวมและขนมไทย อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ตะโก้ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีซุ้มอาหารญี่ปุ่น ก๋วยเตี๋ยวหมูเด้ง ส้มตำไก่ย่าง และอาหารมุสลิม ให้เลือกรับประทานได้ โดยก่อนรับประทานอาหารพล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงมาชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 เพื่อทักทายและขอบคุณสมาชิกสปท. สนช. รวมทั้งข้าราชการระดับอธิบดีและปลัดกระทรวงต่างๆ ที่ร่วมทำงานกันมา ส่วนผู้ร่วมโต๊ะอาหารของพล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธาน สปช. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.

สภา-ทำเนียบเริ่มรปภ.เข้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยรัฐสภา ได้ตั้งกองอำนวยการร่วมทหาร ตำรวจ และตำรวจรัฐสภา เพื่อดูแลพื้นที่โดยรอบบริเวณรัฐสภา ถ.อู่ทองใน ซึ่งวันนี้เพิ่มมาตรการเข้มข้นทุกจุด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยนำเครื่องสแกนวัตถุระเบิด ตั้งไว้ตั้งแต่ทางเข้าหน้าประตูรัฐสภา ตรวจบัตรประจำตัวข้าราชการและบัตรประจำตัวสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันห้ามข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน นำรถยนต์เข้ามาจอดภายในรัฐสภา บริเวณหน้ารัฐสภา ถ.อู่ทองใน และในสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) อย่างเด็ดขาด โดยอนุญาตให้จอด ได้บน ถ.สุโขทัย ทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่สำนักงานเขตดุสิต ถึงโรงเรียนพันธะวิทยา นอกจากนี้ มีคำสั่งไม่ให้ร้านค้าในรัฐสภาขายของเป็นเวลา 1 วัน

ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ถือเป็นวันแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบรัฐบาลได้เริ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ตามที่ได้มีการแจกแผ่นพับพร้อมติดป้ายข้อความประชาสัมพันธ์บริเวณประตูผ่านเข้าออกทำเนียบทุกด้านก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องสแกนวัตถุระเบิดตรวจสอบยานพาหนะทุกชนิดที่ผ่านเข้า-ออกบริเวณทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้ลดกระจก ปิดไฟหน้า และเปิดฝากระโปรงท้าย และมีการตรวจบัตรบุคคลเข้าออกอย่างละเอียด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด เนื่องจากมีการก่อสร้าง และผู้ผ่านเข้าออกปริมาณมาก

“บิ๊กตู่”เจ็บคอ-งดสัมภาษณ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยทำสัญลักษณ์ว่าเจ็บคอ เมื่อถามว่าทำไมถึงเจ็บคอ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “พูดมาตั้งแต่เช้าแล้ว พูดมา 2 ชั่วโมง จะให้พูดอะไร เจ็บคอหมดแล้ว”

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.ยังไม่ได้รับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน จากสนช. ทำให้เวลานี้กรธ.ยังไม่อาจตัดสินใจได้ว่าจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันหรือไม่ หลังจากสนช.มีการแก้ไขเนื้อหาในบทเฉพาะกาล ที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ยังพิจารณาในประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ เพื่อหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลมากที่สุด โดยกรธ.ให้สิทธิขาดแก่ตัวแทนกรธ.ทั้ง 5 คนในการตัดสินใจ และ ยังไม่มีการกำหนดบทโทษยุบพรรคในกรณีทุจริตในขั้นตอนทำไพรมารี่โหวต สิ่งที่กรธ.ท้วงไปนั้นห่วงใยเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่ตรงต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

สมชัยเขียนจม.ติง”พรเพชร”

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง เปิดเผยว่า ตนจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนญ กรณีกกต.ถูกเซ็ตซีโร่ ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเขียนคำร้อง โดยจะทำอย่างรอบคอบและมีสาระ และจะไปยื่นคำร้องด้วยตัวเอง แต่จะเป็นเมื่อใด จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลสามารถยื่นได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า ตนได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. มีใจความสรุปว่า ในวันที่ สนช.ลงมติเพื่อเซ็ตซีโร่ กกต. ยกเหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ของการปฏิรูปการเมือง แต่วันที่ลงมติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ กลับใช้เหตุผลว่าบุคคลเหล่านี้มาตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่หลายมาตรฐาน ดังนั้นในการแก้คืนในสิ่งที่เห็นว่ายังไม่ถูกต้อง ในฐานะส่วนบุคคลจึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวน การทางกฎหมายที่มีอยู่ในการดำเนินการ มิใช่เพื่อการรักษาตำแหน่ง แต่เพื่อให้หลักการที่ ถูกต้องเกิดขึ้นต่อสังคมไทย ไม่เลือกปฏิบัติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครม. วันที่ 1 ส.ค. กระทรวงมหาดไทยจะเสนอรายชื่อโยกย้ายข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดมหาดไทย เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผวจ.ยโสธร เป็นรองปลัดมหาดไทย นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็น ผวจ.ฉะเชิงเทรา นายเกียรติศักดิ์ จันทรา วิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ตรวจ ราชการฯ

สรรเสริญสะดุด4ปม-สนช.ส่อค้านนั่ง”คตง.”

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. รายงานข่าวจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สนช.กำลังจะพิจารณาว่าจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ให้นายสรรเสริญ พลเจียก ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของนายสรรเสริญในหมู่สมาชิกสนช. ในหลายประเด็น เนื่องจากพบว่าคณะกรรมการป.ป.ช.มีข้อร้องเรียนกล่าวหา เป็นคดีความในคตง.หลายเรื่องอาจมีผลกระทบต่อนายสรรเสริญได้

รายงานข่าวแจ้งว่า มีสมาชิกสนช.หลายรายมีความเห็นว่า นายสรรเสริญน่าจะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ เพราะพบปัญหาในข้อกฎหมายหลายประการ โดยประเด็นแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 238 และมาตรา 245 วรรคสอง บ่งชี้ว่า กรรมการคตง. ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเห็นได้ว่ากรรมการคตง. รวมถึงกกต. และป.ป.ช. มีอำนาจในการควบคุมบริหารราชการด้านการเงินการคลัง ซึ่งกรณีนายสรรเสริญหากได้เป็นกรรมการคตง. และในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการป.ป.ช. จึงสามารถประสานงาน กับป.ป.ช. ในหารือเห็นพ้องร่วมกันได้ จึงส่อให้เห็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ ทับซ้อน ไม่เป็นผลดีกับการบริหารราชการ

โดยในกรณีนี้เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ นั่นคือ กรณีที่มีการร้องเรียนกล่าวหาคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดก่อนหน้านี้ ได้ว่าจ้างสภาทนายความให้เป็นผู้ดำเนินคดีฟ้องร้องให้กับป.ป.ช. ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยข้อร้องเรียนนี้ค้างอยู่ใน คตง.เป็นเวลา 1 ปีกว่า หากในภายหน้ามีการลงมติว่า การว่าจ้างสภาทนายความดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้นายสรรเสริญขาดคุณสมบัติ ย่อมกระทบถึงการมีมติให้นายสรรเสริญเป็นคตง.ด้วย ไม่เท่านั้นหากนายสรรเสริญเข้ามาเป็นกรรมการคตง. ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีที่ร้องเรียนกล่าวหาป.ป.ช.ในเรื่องนี้ที่ยังค้างอยู่ จะมีข้อครหาเรื่องการทับซ้อนในการมีมติต่อข้อร้องเรียนป.ป.ช.อย่างแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าจ้างสภาทนายความนั้น มีเอกสารหลักฐาน บันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานป.ป.ช.กับสภาทนายความ ในการตกลงแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องร้องคดีให้ป.ป.ช. รวม 12 คดี โดยแบ่งเป็นคดีที่ป.ป.ช.ฟ้องเอง 9 คดี และรับโอนจากค.ต.ส. 3 คดี ได้แก่ 1.คดีสลายการชุมนุม มีจำนวนเงินรางวัลที่ได้รับอนุมัติ 1 ล้านบาท ใช้ทนายความ 5 คน 2.คดีสมุดโทรศัพท์ ใช้ทนายความ 3 คน วงเงินที่ได้รับอนุมัติ 5 แสนบาท 3.คดีนายรังสรรค์ แสงสุข ใช้ทนายความ 3 คน วงเงินอนุมัติ 5 แสนบาท 4.คดีนายมานิตย์ สุธาพร ใช้ทนายความ 5 คน วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท 5.คดีเขาพระวิหาร วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท ใช้ทนายความ 5 คน 6.คดีธ.อ.ส. วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท ใช้ทนายความ 5 คน

7.คดีสถานีไฟฟ้ากาญจนดิษฐ์ วงเงินอนุมัติ 5 แสนบาท ใช้ทนายความ 3 คน 8.คดีรถดับเพลิง วงเงินอนุมัติ 4 ล้านบาท ใช้ทนายความ 6 คน 9.คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท ใช้ทนายความ 5 คน 10.คดีหวยบนดิน วงเงินอนุมัติ 4 ล้านบาท ใช้ทนายความ 17 คน 11.คดีเอ็กซิมแบงก์ วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท ใช้ทนายความ 7 คน 12.คดีกล้ายาง วงเงินอนุมัติ 4 ล้านบาท ใช้ทนายความ 13 คน โดยคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่จ่ายเงินรางวัลไปแล้ว

ข่าวแจ้งด้วยว่า จำนวนเงินที่สำนักงานป.ป.ช.ตกลงว่าจ้างสภาทนายความนั้น หากเปรียบเทียบกับระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ซึ่งได้กำหนดเงินรางวัลที่จ่ายให้ทนายความขอแรงที่ศาล แต่งตั้ง จะพบว่าในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต อัตราขั้นสูงเรื่องละ 5 หมื่นบาท คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป อัตราขั้นสูงเรื่องละ 4 หมื่นบาท ไม่เท่านั้น ในระเบียบของคณะกรรมการป.ป.ช.ได้กำหนดหลักเกณฑ์จ่ายให้เจ้าพนักงานคดี ซึ่งเป็นพนักงาน ของป.ป.ช.เอง โดยกำหนดเกณฑ์ว่า ศาลชั้นต้น ไม่เกินอัตราคดีละ 3 หมื่นบาท ศาลอุทธรณ์ ไม่เกินคดีละ 2 หมื่นบาท ศาลฎีกาไม่เกินคดีละ 2 หมื่นบาท คดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เกินคดีละ 5 หมื่นบาท ขณะเดียวกันการทำบันทึกข้อตกลงของป.ป.ช.กับสภาทนายความ นายสรรเสริญมีส่วนร่วมลงนามด้วย ในบางคดียังมีการมอบหมายให้รองเลขาธิการลงนามในเช็คจ่ายเงินให้สภาทนายความด้วยเช่นกัน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีก 3 ประเด็นใหญ่ ที่สมาชิกสนช.วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ในการพิจารณาคุณสมบัตินายสรรเสริญ ได้แก่ 1.ประเด็นคณะกรรมการป.ป.ช.รับเงินเดือน โดยยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งเรื่องนี้มีการยื่นร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อต.ค.2559 อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคตง. ถือเป็นอีกคดีที่จะเป็นปัญหามากหากนายสรรเสริญ ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการป.ป.ช.เข้ามาเป็นคตง. ส่วนในประเด็นต่อมาคือ

2.กรณีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ได้เคยยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงนายสรรเสริญ เลขาธิการป.ป.ช. กรณีไม่ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานป.ป.ช. ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 เรื่องเลื่อนข้าราชการจำนวน 35 ราย ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป.ป.ช.ระดับ 9 ตามที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2558

นอกจากนี้มีประเด็นที่ 3 มีปัญหาการบริหารจัดการคดี ซึ่งมีข้อมูลว่าคดีค้างอยู่ถึง 9,867 คดี โดยเมื่อรวมกับประเด็นแรกเรื่องการร้องเรียนกล่าวหาว่าป.ป.ช.ว่าจ้างสภาทนายความ น่าจะมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว กลายเป็น 4 ประเด็นใหญ่ ที่สมาชิกสนช. นำข้อมูลมาศึกษาอย่างกว้างขวาง และเห็นว่าน่าจะเป็นปัญหาต่อการพิจารณาคุณสมบัติของนายสรรเสริญดังกล่าว

พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธานคณะกรรมการตรวจคุณสมบัติ กรรมการคตง. ของสนช. กล่าวว่า ทางคณะกรรมการได้ประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง โดยจัดส่งข้อมูลของผู้ที่ได้รับการสรรหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับการสรรหา ก็ให้ส่งกลับมายังคณะกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณา โดยจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 ส.ค. และ 4 ส.ค. ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในวันที่ 7 ส.ค. และสามารถนำเข้าที่ประชุมสนช.ได้ในวันที่ 10 ส.ค.นี้

โปรดเกล้าฯพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นการสมควรให้มีกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีทั้งหมด 29 มาตรา

โดยมาตรา 12 กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี นายกฯ เป็นประธาน, ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธาน คนที่ 1, ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธาน คนที่ 2, รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย เป็นรองประธาน คนที่ 3, ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผบ.ทสส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร., เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งครม.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านต่างๆ อีกไม่เกิน 17 คน

ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะและผู้ทรงคุณวุฒิให้เสร็จภายใน 30 วัน และให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วันและให้นำความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มาประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนทุก 5 ปีหรือกรณีที่สถานการณ์โลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจาฯ เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นการสมควรให้มีกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีเนื้อหาทั้งหมด 33 มาตรา

โดยให้ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม และด้านอื่นตามที่ครม.กำหนด ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานรัฐ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรฝ่ายตุลาการมาใช้ประกอบการพิจารณา

ให้คณะกรรมการปฏิรูปเสนอร่างแผนปฏิรูปประเทศที่ผ่านการพิจารณาแล้วต่อครม.ภายใน 30 วันหลังจากที่ประชุมให้ความเห็นชอบ และครม.ต้องแจ้งความคืบหน้าการดำเนินตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน และต้องกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังที่ว่าจะบรรลุภายใน 5 ปีด้วย

ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน