ติดลบสาหัส – ก้าวสู่เดือนสิงหาคม สถานการณ์เศรษฐกิจที่เดิมคาดการณ์ว่าจะค่อยๆ ฟื้นทีละน้อยจากเดือนนี้ไปเริ่มไม่ใช่อย่างที่คิด

แม้ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะประเมินว่า ขณะนี้สถานการณ์น่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ติดลบมากกว่าร้อยละ -10 จึงเชื่อว่าจะเริ่มฟื้นตัวช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4

แต่ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มหวนมาอีก แม้กระทั่งประเทศหรือดินแดนที่เคยจัดการควบคุมเชื้อได้สำเร็จ

สภาพการณ์ขณะนี้ทำให้จะเดินหน้าก็ไม่กล้า จะถอยหลังก็ไม่ได้ อาการพะว้าพะวังนี้ทำให้การเดินเครื่องทางเศรษฐกิจติดขัด

ที่คิดว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วอาจไม่ใช่

สําหรับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปี 2563 สศค.ปรับรอบใหม่ให้ติดลบถึง ร้อยละ -8.5

คำนวณจากสมมติฐานที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย 15 ประเทศจะติดลบที่ร้อยละ -4.1

หากเปรียบเทียบกับปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 นับว่าต่างกันอย่างลิบลับ และหากเทียบกับปี 2540-2541 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นเศรษฐกิจขยายตัวติดลบร้อยละ -7.6 แสดงถึงอาการตอนนี้สาหัสกว่า

ความไม่มั่นใจในสถานการณ์สอดคล้องกับตัวเลขของสศค. ที่ระบุว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงทั้งหมด

ไม่ว่า การบริโภคภาคเอกชนที่จะชะลอตัวร้อยละ -2.6 การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวร้อยละ -12.6 มูลค่า การส่งออกชะลอตัวร้อยละ -11 และการนำเข้าชะลอตัวร้อยละ -14.2

ส่วนเครื่องยนต์หลักด้านการท่องเที่ยว ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ยังฝากความหวังใดๆ ไม่ได้ สศค. ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ 6.8 ล้านคน และทำรายได้ราว 3.4 แสนล้านบาท

เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะนี้ติดลบแล้วสูงมากทั้งจำนวนและรายได้ถึงร้อยละ -65 ถึง -66

ความหวังที่ไปฝากไว้ในปีหน้าว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 การส่งออกร้อยละ 5 และนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นคืนที่ 15-16 ล้านคน ล้วนเป็นเรื่องอนาคต

ก่อนจะไปถึง ณ จุดนั้น ช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลน่าต้องแจงให้ชัดว่าแต่ละเดือนมีแผนการรับมืออย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน