กองทัพเรือแถลงยอม รับซื้อขีปนาวุธ “ฮาร์พูน บล็อก ทูว์” จากสหรัฐ เสริมศักยภาพ เรือฟริเกตยันโปร่งใส ทำตามเงื่อนไขในสัญญาเดิมตั้งแต่ปี 57 เพื่อไทยเรียกร้องกลาโหมแจงให้เคลียร์ ปชป.ชี้ต้องพูดความจริงกับประชาชน 2 พรรคใหญ่ตามจี้ปลดล็อก เพื่อไทยจวกสตง.กล่าวหา อปท.ใช้งบขนคนให้กำลังใจ”ปู” นปช.โวยโดนบล็อกทุกด้าน แนะซื้อตั๋วรถทัวร์ ต่างคนต่างไป นายกฯสั่งศึกษาข้อเสนอ ก.พ.-จุฬาฯ ให้ข้าราชการทุกคนยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อก.พ. เลขาฯป.ป.ท.ขอเวลาสรุป 3 สัปดาห์ อัยการเรียกร้องคุมการสอบสวนคดีโทษสูง

ทร.รับซื้อ”ฮาร์พูน”เป็นสัญญาเดิม

วันที่ 13 ส.ค. พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวกรณีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ระบุรัฐบาลไทยได้ยื่นความจำนงขอซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน บล็อก ทูว์ จำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิง 1 ลูก มูลค่า 828 ล้าน เพื่อติดตั้งบนเรือฟริเกต ว่า ต้องเข้าใจเรื่องนี้เป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามโครงการต่อเรือฟริเกต ตั้งแต่ปี 2557 ที่เราลงนามข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ ในการต่อเรือหลวงท่าจีน โดยจะมีแพ็กเกจต่อระบบเรือ ระบบเครื่องจักร เครื่องยนต์ ระบบการรบ อาวุธ ต่างๆ ซึ่งมีกำหนดไว้แล้วว่าดำเนินการเสร็จถึงไหน จะจัดซื้ออาวุธมาต่อเติมช่วงใด การซื้อฮาร์พูนก็เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ถึงเวลาต้องจัดซื้อมาใช้กับเรือหลวงท่าจีน ดังนั้น ขอย้ำว่าการจัดซื้ออาวุธเป็นไปตามวงรอบในการดำเนินการ ตามวงเงิน และเป็นขั้นตอนทางธุรการเท่านั้น และขอถามว่าช่วงเวลาต่อเรือจะให้เราซื้อฮาร์พูนมาก่อนเลยหรือ ถ้าซื้อมาก็เอามากองทิ้ง ทำแบบนั้นก็ไม่ใช่

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ขอให้เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่าจะจัดซื้อเข้ามาใหม่แต่อย่างใด ในความเป็นจริงการจัดซื้ออาวุธชนิดนี้อยู่ในแพ็กเกจการต่อเรือหลวงท่าจีน และอยู่ในสัญญามาตั้งแต่ต้น เพียงแต่กระบวนการจัดหาอาวุธของสหรัฐ หากจะขายอาวุธใครต้องเป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐ และต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของเขาเท่านั้นเอง

ยันโปร่งใส-เตรียมซื้ออีกชุดที่4

“การซื้อฮาร์พูน เราเคยจัดซื้อมาตั้งนานแล้ว เอามาใช้ในเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีมาตลอดชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ต่อไปก็จะมีชุดที่ 4 เอามาติดตั้งเพิ่มในเรือหลวงตรัง ดังนั้น ผมขอย้ำว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพเรือมีความโปร่งใสและเป็นไปตามวงรอบ เรียกง่ายๆ ว่าจัดซื้อเป็นแพ็กเกจในการจัดหาตามช่วงเวลาเท่านั้นเอง” พล.ร.อ.ชุมพล กล่าว

เพื่อไทยจี้แจงให้เคลียร์

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการชี้แจงของกองทัพเรือที่สั่งซื้อขีปนาวุธซ้อมยิง ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ ว่าคำชี้แจงดังกล่าวดูยังไม่ชัดเจน คล้ายกับว่าเป็นการซื้อตามวงรอบและนำมาติดตั้งในเรือรบฟริเกต ข่าวของกระทรวงกลาโหมค่อนข้างสับสนโดยเฉพาะจากที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม บอกว่าไม่มีการจัดซื้อ แล้วทำไมวันนี้โฆษกกองทัพเรือบอกว่าเป็นการซื้อตามวงรอบ เป็นการซื้อตามแพ็กเกจ ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ไม่ชัดเจนว่าที่ระบุว่าครบวงรอบหมายความว่าวงรอบหนึ่งต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่หรืออย่างไร และไม่ทราบว่ายื่นเจตจำนงว่าจะจัดซื้อนั้นเป็นเมื่อไร สำหรับประเด็นเรื่องของความเหมาะสมการจัดซื้อก็ต้องดูว่าหากสามารถชะลอออกไปได้ก็น่าจะเป็นเรื่องดี รอสภาพเศรษฐกิจของประเทศมีความพร้อมมากขึ้นจะดีกว่าหรือไม่ กระทรวงกลาโหมควรชี้แจงเพิ่มเติมว่าเรื่องดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร เป็นภาระผูกพันหรือไม่ น่าจะเป็นการดี เพราะไม่แน่ใจว่าได้ไปทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ว่าต้องซื้อ

นายนพดลกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภัยคุกคามด้านการทหารจากต่างประเทศขณะนี้ไม่มีเลย เพราะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านของเราดีมาก ภัยคุกคามทางทะเลก็ไม่มี การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ทำให้ความสัมพันธ์มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ก็รู้ว่าสภาพเศรษฐกิจของในปัจจุบันและจัดลำดับความเร่งด่วนการใช้ งบประมาณว่าควรใช้เพื่อดูแลปัญหาของประชาชนเฉพาะหน้าก่อนหรือไม่ การพัฒนาอาวุธหรือการมีอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่เป็นสิ่งที่พึ่งทำ แต่ต้องดูสภาพเศรษฐกิจและปัญหาของประเทศช่วงนั้นๆ ด้วย ส่วนตัวยังไม่เห็นว่าจะมีความจำเป็น ถ้าสามารถชะลอหรือทุกส่วนเพื่อรอให้เศรษฐกิจของประเทศดีแล้วค่อยจัดซื้อก็คงไม่สาย

ถ้ายุคปชต.-เจอซักฟอกหลายรอบ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวข้อเท็จจริงไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรแน่ แต่ที่สับสนคือนายกฯบอกว่าจะไปรบกับใคร ซึ่งเราไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาตั้งแต่ประเด็นเรือดำน้ำแล้ว ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองรัฐบาลมีเงินน้อย เศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านไม่ต้องพูดถึง เห็นเป็นประจักษ์ เอาแค่คิดจะซื้ออาวุธก็ผิดแล้ว นี่จะซื้อกันมโหฬาร ก็เรียกว่าแบบสุดๆ ไปเลยเหมือนเป็นโอกาสทอง แม้ตนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็เห็นว่ายุคนี้ต้องเอางบประมาณของประเทศมาลงทุนใดๆ ก็ตามให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดจ้างงาน คงจะเป็นผลดีกับประเทศมากกว่า นี่คือระบอบที่ไม่มีฝ่ายค้าน ถ้าเป็นยุคประชาธิปไตยป่านนี้คงอภิปรายกันหลายรอบแล้ว

ปชป.จี้บอกความจริงประชาชน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุอนุมัติขายขีปนาวุธมูลค่า 828 ล้านบาท ให้ไทย แต่ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ปฏิเสธ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายพูดความจริงกับประชาชน เพราะงบประมาณ การซื้ออาวุธหรืองบในการพัฒนาประเทศ ทุกเรื่องเป็นภาษีของประชาชน ดังนั้นประชาชนก็มีสิทธิ์จะรู้ จึงอยากให้พูดความจริงคืออะไร ถ้าผู้มีอำนาจยังพูดไม่ตรงกันก็จะสร้างความระแวงความสงสัยเกิดขึ้น สิ่งไหนที่พูดได้ก็อยากให้พูด ในขณะนี้บ้านเมืองไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ

เมื่อถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากไปจัดซื้อขีปนาวุธ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ไม่มีความเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นนักการเมืองในฝ่ายด้านความมั่นคง แต่ต้องมีความจริงให้ครบแล้วประชาชนจะตัดสินเอง อาจจะเหมาะสมก็ได้ แต่ถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจสิ่งที่เหมาะสมก็กลายเป็นไม่เหมาะสม เพราะเราไม่รู้ว่ามีความจำเป็นขนาดไหน และถ้าเราไปซื้ออาวุธในขณะที่พี่น้องประชาชนยังเดือดร้อนอยู่ก็จะเกิดความระแวงได้ว่าทำไมไม่แก้ปัญหาเรื่องปากท้องประชาชนก่อน ถ้าสามารถแก้ปัญหาปากท้องได้แล้วจะไปซื้ออะไรคงไม่มีใครว่า

ปชต.เริ่มจากการปลดล็อก

นายนิพิฏฐ์กล่าวถึงการปลดล็อกคำสั่งคสช.ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ว่า ผู้มีอำนาจต้องยอมรับความจริงว่าวันหนึ่งบ้านเมืองต้องคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็ควรให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนและพรรคการเมือง เว้นแต่ไม่ประสงค์จะให้เป็นประชาธิปไตยในระยะเวลาอันใกล้ จึงไม่ต้องการให้ทำกิจกรรมทางการเมือง การทำให้เป็นประชาธิปไตยก็ต้องเริ่มจากการปลดล็อกทางการเมือง อาจไม่ต้องปลดล็อก 100 เปอร์เซ็นต์ โดยยังไม่ให้ชุมนุมไม่ให้มีการปราศรัย อาจจะให้ทำกิจกรรมของพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การออกมาเรียกร้องของนักการเมืองก็ไม่ได้เรียกปลดล็อก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ทำกิจกรรมบางเรื่องที่ไม่สุ่มเสี่ยงได้

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า การที่ผู้มีอำนาจบอกว่ารอสบายใจก่อนค่อยปลดล็อก ไม่อยากให้ ผู้มีอำนาจชินกับการใช้เหตุผลอย่างนี้ วิธีการที่ให้เหตุผลอย่างนี้มันซึมซับในใจประชาชน การเมืองไทยมีวัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ใช่วัฒนธรรมประชาธิปไตย พอผู้มีอำนาจพูดอย่างนี้เรื่อย ก็ค่อยๆ ซึมซับและกลาย เป็นความถูกต้อง แล้วเวลาจะคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยก็ทำยากมาก

จี้รบ.ถ้าจริงใจควรผ่อนปรน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปลดล็อกคำสั่งคสช.ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมหลัง พ.ร.บ. พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ว่า ควรปลดล็อกแน่นอน เพราะพ.ร.บ.พรรคการเมืองเสร็จแล้ว ตัวเนื้อหาชัดเจนว่าพรรคการเมืองต้องปฏิบัติและเตรียมความพร้อม รวมทั้งกฎติกาใหม่ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคและประชาชน ทั้งการทำไพรมารี่โหวต หรือกรณีที่ต้องเลือกตั้งผู้บริหารพรรคใหม่และแก้ข้อบังคับพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นที่พรรคการเมืองขอให้ปลดล็อกเพื่อทำกิจกรรมได้เป็นเรื่องมีเหตุผล ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมีเจตนาไปก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม

นายสาธิตกล่าวว่า ส่วนข้อกังวลว่าหากปลดล็อกแล้วจะทำให้กลุ่มการเมืองบางพวกถือโอกาสปลุกระดมทำให้เกิดความวุ่นวาย คสช.ก็มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะดำเนินการอยู่แล้ว ก็เลือกผ่อนคลายในบางเรื่องได้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง การจะให้พรรค การเมืองเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลที่จะไปเตรียมความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการให้พรรคการเมืองไปร่วมด้วยช่วยกันในการรับฟังเสียงของประชาชนก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของรัฐบาลได้

ต้องฟังโพล-หนุนคงเบอร์เดียว

นายสาธิตยังกล่าวถึงผลสำรวจที่ประชาชนไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ว่า ปกติกรธ.ก็จะฟังเสียงงประชาชน เมื่อเสียงประชาชนต้องการคงไว้เรื่องระบบเลือกตั้งเบอร์เดียวทั้งประเทศ ก็ควรรับฟัง กฎหมายอะไรที่คนใช้ไม่เห็นชอบด้วยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้นกรธ.ควรจะคำนึงด้วย

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีกรธ.กำหนดให้สลับหมายเลขโดยไม่ให้ ส.ส.แต่ละเขตมี บัตรเลือกตั้งเหมือนกัน ว่า กรธ.พยายามเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยบอกว่าเป็นความก้าวหน้า แต่แท้จริงแล้วกลับถอยหลังไปถึง 20 ปี ถือว่าไม่เหมาะสม ทั้งนี้ กรธ.ควรทำให้ดีกว่าเดิมเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน เพราะการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนออก มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั้นต้องเพิ่มความสะดวก ง่าย ไม่ใช่เพิ่งอุปสรรค และบัตรเลือกตั้งไม่เหมือนกันทั้งที่อยู่ในพรรคเดียวกันจะเพิ่มความสับสนแก่ประชาชนอย่างมาก เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่จำนวนมาก ยิ่งจะทำให้ยุ่งเหยิงกันไปใหญ่ ขณะที่กกต.ก็จะทำงานลำบาก

เพื่อไทยอัดสตง.กล่าวหาอปท.

นายอำนวยกล่าวว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ. พรรคการเมืองพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ พล.อ.ประวิตร ยังไม่เปิดให้พรรคการเมืองมีโอกาสทำกิจกรรมทางการเมือง ปัจจุบันนี้ประชาชนให้ความร่วมมือกับคสช. เป็นอย่างดี ไม่ว่าคสช.จะพูดอะไร ประชาชนต่างรับฟัง แต่ถามว่า คสช.ฟังเสียงประชาชนบ้างหรือไม่ เพราะวันนี้ประชาชนอยากเลือกตั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเสียหาย พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คสช.กลับไม่รับฟัง

นายอำนวยกล่าวกรณีรัฐบาลสั่งตรวจสอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยื่นให้ตรวจสอบบางพื้นที่อาจใช้งบนำประชาชน มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ในวันที่ 25 ส.ค. ที่ศาลจะพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว ว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการกล่าวหา อปท.อย่างนั้น หากไม่มีหลักฐานก็ไม่ควรกล่าวหากัน เมื่อไม่เห็นก็ไม่ควรพูด เพราะท้องถิ่นต่างมีกฎระเบียบและข้อบังคับอยู่แล้ว เชื่อว่าจะไม่กล้าใช้งบประมาณไปในลักษณะนั้น เพราะถ้าใช้งบฯขนคนมาเชียร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์จริง จะมีความผิด ส่วนตัวอยู่ในพื้นที่ยืนยันได้ว่าท้องถิ่นไม่กล้าทำ ขณะที่ ท้องถิ่นเองก็ต้องรักษาเกียรติภูมิของตัวเองไว้ จึงไม่กล้าเสี่ยง ประชาชนไปให้กำลังใจน.ส. ยิ่งลักษณ์ ด้วยความรักและศรัทธา และส่วนตัวก็ไม่เคยชักชวนชาวบ้านให้เดินทางไป

มท. 1 จัดการเด็ดขาดใช้งบขนคน

ที่เมืองทองธานี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี สตง.ตรวจพบ มีการใช้งบประมาณท้องถิ่นขนมวลชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 ส.ค.ว่า ได้กำชับให้ผู้ว่าฯและนายอำเภอไปชี้แจงกับอปท.ทั่วประเทศว่าการจะนำงบประมาณไปใช้ขอให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เรื่องดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยยังตรวจสอบไม่พบและยังไม่มีรายงานเข้ามาว่ามีการทำผิดในพื้นที่ใดบ้าง ดังนั้น หากสตง.มีข้อมูลก็สามารถส่งเรื่องมาได้เพราะเรื่องนี้มีความผิดทางวินัย หากพบก็จะลงโทษโดยเด็ดขาด ทั้งผู้บริหารและสภาองค์กรท้องถิ่น

“ขอย้ำว่าเรื่องคดีความของอดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม การนำมวลชนไปให้กำลังใจไม่มีผลต่อคำตัดสินของศาล ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะเดินทางไปให้กำลังใจในวันพิพากษาคดี” พล.อ.อนุพงศ์ กล่าว

นปช.ชี้โดนบล็อกทุกด้าน

ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. กล่าวกรณีรัฐบาลสั่งตรวจสอบ อปท. อาจใช้งบฯนำประชาชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า คิดว่าเป็นข้อสังเกตจาก สตง.มากกว่า เพราะก่อนหน้านี้ สตง.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่อาจผิดวัตถุประสงค์ เช่น การขนคนไปเชียร์ฟุตบอล เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลบล็อก ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถบัส รถรับจ้าง ต่างถูกควบคุมหมด แกนนำนปช.ในพื้นที่เองก็ถูกบล็อกเช่นกัน ใครจะไปให้กำลังใจน.ส. ยิ่งลักษณ์ ทางที่ดีคงต้องซื้อตั๋วโดยสารเอง ต่างคนต่างไป เพราะขณะนี้เหมือนว่าได้มีการบล็อกการสนับสนุนทั้งจากอดีตส.ส.อดีต แกนนำ แม้จะใช้เงินของตัวเองก็ตาม

นางธิดากล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกันมวลชนที่สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่างว่า เมื่อมีการสกัดกั้นมากขนาดนี้ เห็นทีต้องนั่งรถโดยสารหรือรถทัวร์ไปกันเอง อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายความมั่นคงบอกว่า สามารถเหมารถไปได้ แต่ต้องทำสัญญารับจ้างเป็นกิจจะลักษณะ มวลชนก็พร้อมปฏิบัติตาม ยืนยันว่าการไปให้กำลังใจเป็นสิทธิ์ของประชาชน และถามว่าการขัดขวางนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยอมรับว่าการสกัดกั้นนี้สร้างอุปสรรคแก่ประชาชนไม่น้อย แต่ก็จะสร้างความโมโหแก่ประชาชน

บิ๊กตู่สั่งศึกษาขรก.โชว์บัญชี

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เผยถึงแนวคิดการให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อก.พ. เพื่อป้องกันการทุจริตว่า เป็นแนวคิดของก.พ.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่าข้าราชการทุกคนควรยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ก.พ.ทราบตั้งแต่วันรับรายงานตัวเข้ามาเป็นข้าราชการทันที และเมื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเปลี่ยนหน่วยงานก็ต้องมายื่นให้ก.พ.ใหม่อีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทั้งมรดกตกทอดและทรัพย์สินที่ได้มา เมื่อเรามีข้อมูลส่วนนี้ข้าราชการก็จะมีความยั้งคิดยั้งทำเนื่องจากต้องคำนึงว่าภาครัฐมีข้อมูลอยู่ ซึ่งนายกฯดำริว่าไม่ได้ขัดอะไร แต่ขอให้ดูขั้นตอนทุกอย่างให้รอบคอบ รัดกุม รวมถึงต้องให้คิดถึงเจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ กลุ่ม และได้สั่งการให้ไปดูโมเดลจากต่างประเทศว่ามีประเทศไหนที่ทำบ้างจะได้ไปศึกษาผลดีผลเสียดู จากนั้นตนในฐานะเลขาฯศอตช.ก็จะประสานไปยังก.พ.เพื่อดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่า จะทำให้ข้าราชการเกิดความยุ่งยากในการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ นายประยงค์กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ยุ่งยาก เพราะไม่เหมือนกับข้าราชการระดับสูงที่ยื่นต่อป.ป.ช. และจะให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ไปคิดระบบที่เสถียรมารองรับด้วย โดยให้ข้าราชการใหม่ที่ต้องกรอกแบบฟอร์มก.พ.7 อยู่แล้วกรอกบัญชีทรัพย์สินเพิ่มไปอีกเท่านั้นเอง ภายในสัปดาห์หน้าตนจะสรุปข้อสั่งการและมติที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนเสนอต่อที่ประชุมครม.ต่อไป และคาดว่าจะเรียบร้อยภายใน 3 สัปดาห์ จากนั้นก็จะแจ้งทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติ

องอาจหนุน-ป้องกันโกง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีที่มีข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพราะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ ซึ่งการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ เจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการควรทำตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเข้าทำงานและควรแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกๆ 4-5 ปี เพื่อแสดงว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ในกรณีที่ถูกร้องเรียนว่าข้าราชการคนใดร่ำรวยผิดปกติ จะได้นำข้อมูลที่แจ้งไว้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

นายองอาจกล่าวว่า การให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องดีที่จะป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ทุจริตที่สำคัญ 3 ฝ่ายประกอบด้วย 1. ฝ่ายการเมือง 2. ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และ3. ฝ่ายนักธุรกิจเอกชน เมื่อฝ่ายข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ถูกตรวจสอบมากขึ้น ก็จะทำให้การทุจริต ยากมากขึ้นตามไปด้วย อันจะช่วยทำให้การทุจริตเบาบางลงตามสมควร จึงขอฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เสริมสร้างมาตรการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยให้ได้ผลมากขึ้น

โคราชชง 5 โครงการครม.สัญจร

ที่จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯนครราชสีมา เผยถึงความคืบหน้าการ เตรียมความพร้อมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร ที่จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. ว่า ได้วางแผนไว้พร้อมหมดแล้ว กำหนดการเดินทางมาของนายกฯ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 21 ส.ค. เมื่อขึ้นเครื่องบินมาลงที่กองบิน 1 อ.เมืองนครราชสีมา จะเดินทางมากราบสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นไปเยี่ยมเยือนประชาชนที่เทศบาลตำบลหัวทะเล อ.เมืองนครราชสีมา ก่อนร่วมประชุมกับผู้ว่าฯและภาคเอกชน ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ และเดินทางไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ อ.ประทาย และ อ.โนนแดง ทุกจุดได้เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่จะเดินทางไปต้อนรับด้วย และวันที่ 22 ส.ค. จะเปิดประชุมครม.สัญจร ที่อาคารสุรสัมมนาคาร ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

นายวิเชียรกล่าวว่า การเสนอโครงการต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ที่จะนำเสนอต่อนายกฯ นั้น เมื่อวันที่ 12 ส.ค. จังหวัดได้ประชุมหารือกับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และภาคเอกชนในพื้นที่ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจะเสนอ 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ในพื้นที่อ.เมืองนครราชสีมา จะเสนอของบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเสนอให้เร่งรัดส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทบทวนโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ให้มีการยกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและวิถีชีวิตชุมชนในอนาคต รวมทั้งเสนอให้ปรับทัศนียภาพทุ่งทะเล ต.หัวทะเล ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นปอดของชาวเมืองโคราช

ขยายถนน 4 เลน

2.ในพื้นที่อำเภอรอบนอก จะเสนอให้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก ในพื้นที่ อ.ประทาย และ อ.โนนแดง 3.เรื่องของบประมาณสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งจังหวัด เนื่องจาก จ.นครราชสีมา เป็นประตูสู่ภาคอีสานและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว และกัมพูชา แต่ถนนบางเส้นทางยังเป็น 2 เลนอยู่ จึงอยากให้มีการขยายเป็น 4 เลน ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่จะเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมาด้วย

4.เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของชาวเมืองโคราช ซึ่งจะเสนอให้มีการผันน้ำมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มาสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และ 5.เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากในจังหวัดนครราชสีมามีปัญหาทับซ้อนของที่ดินทำกิน ซึ่งทับซ้อนกับหน่วยงานภาครัฐกันเองในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และอ.ปากช่อง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

นายวิเชียรกล่าวว่า ตนในฐานะเป็นผู้ว่าฯนครราชสีมา รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก ที่พล.อ.ประยุทธ์ เลือกเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่นครราชสีมา เป็นแห่งแรก โดยคาดว่าการเดินทางมาครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนานครราชสีมาเป็นอย่างมาก ซึ่งชาวนครราชสีมาทุกคนยินดีต้อนรับ

อัยการขอคุมสอบสวน-คดีโทษสูง

นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงอำนาจการสอบสวนคดีความ ว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ร้อยละ 79.83 เห็นด้วยกับการให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีอัตราโทษจำคุกเกิน 5 ปี หรือคดีที่มีการร้องเรียน เพื่อถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบดูแลการสอบสวนให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม

การแยกการสอบสวนออกจากการฟ้องคดีทำให้เกิดปัญหาในการประสานงานและการทำงานร่วมกันของพนักงานสอบสวนและอัยการไทยในการค้นหาความจริง ที่สำคัญคืออัยการไทยไม่สามารถเข้าไปควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดีได้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ การกำหนดประเด็นและการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้คดีล่าช้า และมักมีปัญหาการสืบพยานของอัยการที่เกิดขึ้นในชั้นศาลอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะที่เป็นพยานบุคคล

ระบบที่ให้อัยการมีอำนาจสอบสวนและควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนและมีอำนาจฟ้องคดีอาญาด้วยนั้นจะเป็นระบบการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายเป็นสากลในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ระบบดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้หลักที่ว่าอำนาจในการสอบสวนและ ฟ้องร้องคดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“หลักการสากลทั่วโลกที่อัยการเข้าไปมีอำนาจสอบสวน และควบคุม กำกับดูแล การสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนนั้น ไม่ใช่ว่าอัยการจะเข้าไปสอบสวนคดีด้วยตนเองทุกๆ คดี แต่จะเข้าไปสอบสวนเฉพาะบางคดี โดยเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษสูงและคดีที่มีความสำคัญ โดยส่วนใหญ่แล้ว บทบาทของอัยการจะอยู่ที่การควบคุม กำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวนตั้งแต่ เริ่มต้นคดี” นายธนกฤตกล่าว

ตั้งกก.ปฏิรูปกฎหมาย

การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาของไทยนั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์ บริภาร อัยการสูงสุด ออกคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 999/2560 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2560 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีอำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่งในการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้ระบบการสอบสวนคดีอาญามีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมและหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง

หวั่นกม.ลูก-กระทบเลือกตั้ง

วันที่ 13 ส.ค. กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยหลังครบ 1 ปีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ” เก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,217 คน ระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค. พบส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 เห็นว่า การเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ถามว่ากรธ.จะสามารถจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามโรดแม็ปหรือไม่นั้น ร้อยละ 45.3 ระบุว่าไม่น่าจะทันทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป ขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุว่าน่าจะทันและจัดเลือกตั้งได้ตามกำหนด ร้อยละ 20.6 ระบุว่าไม่แน่ใจ

สุดท้ายหากจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและมีการจัดการเลือกตั้ง จะออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 95.9 ระบุว่าจะออกไปใช้สิทธิ์แน่นอน ร้อยละ 0.8 ที่ระบุว่าจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,143 คน ระหว่าง 9-12 ส.ค. กรณีรัฐบาลยังไม่ปลดพรรคการเมือง อันดับ 1 อาจทำให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวกดดัน เรียกร้องขอความยุติธรรม 65.88% อันดับ 2 ควรรอเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ 61.42% อันดับ 3 ควรให้อิสระพรรคการเมืองเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง 58.99% อันดับ 4 ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือเพื่อความสงบ 52.29% อันดับ 5 ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร บ้านเมืองยังอยู่ในการควบคุมดูแลของ คสช. 49.32%

ถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อันดับ 1 เห็นด้วย 60.89% อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 39.11%

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน