ครม.ตั้งแล้วกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ล็อตแรก 120 คน รับเฉพาะเบี้ยประชุมคนละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน คสช.ถกประเมินสถานการณ์ 25 ส.ค. ชี้ชะตาคดีจำนำข้าว สั่งจับตาแกนนำภาคเหนือ-อีสาน ขนคนเข้ากรุงล่วงหน้าทั้งทางรถตู้-รถไฟฟรี ย้ำยึดแผน”กรกฎ 52″ อารักขาเข้มบ้านพัก 9 ตุลาการ “บิ๊กป๊อก”กำชับผู้ว่าฯ กวดขันอปท.ใช้งบฯ “บิ๊กตู่”เตือนมวลชนระวังทำผิดกฎหมายจราจร ปัดไม่เกี่ยวข้องจัดโผทหาร แจงปฏิเสธซื้อขีปนาวุธ”ฮาร์พูน บล็อก ทูว์” เพราะจำไม่ได้ ศาลขอนแก่นสั่งจำคุก”ไผ่ ดาวดิน” 2 ปี 6 เดือน คดีผิดมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพ์

บิ๊กตู่แจงครม.สัญจร-รับฟังปชช.

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ถึงการจัดประชุมครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ในวันที่ 21-22 ส.ค. ที่จ.นครราชสีมา ว่า ไม่ได้จัดประชุมเพื่อค้นหาความเคลื่อนไหวนักการเมืองหรือจะไปจับตานักการเมือง ตนไม่สนใจและไม่ให้เครดิตอยู่แล้วเพราะไม่ใช่เวลาของเขา แต่วันนี้ตนต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา 3 ปี ตนพยายามทำอย่างเต็มที่ และจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ไปฟังจากปากประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมาเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหน ถึงประชาชนหรือไม่ ถ้าไม่ถึงจะต้องทำอย่างไร ขณะเดียวกัน จะอธิบายขั้นตอนการใช้งบประมาณที่จัดสรรลงมา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลรู้ดีว่างบประมาณที่ลงไปเป็นโครงการขนาดใหญ่เยอะพอสมควร บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ก็ได้ไป บริษัทขนาดเล็กยังไม่ได้ ตนกำลังพิจารณาให้บริษัทเล็กได้โครงการของรัฐบ้าง โดยตั้งงบฯให้ต่ำลง แต่ไม่ใช่บริษัทใหญ่มาล้วงลูกประมูล ซึ่งต้องดูขีดความสามารถของบริษัทเล็กด้วย ไม่ใช่ประมูลแล้วทิ้งงาน พวกนี้ขึ้นบัญชีไว้แล้ว วันหน้าไม่ต้องมาทำอะไรกับรัฐอีก ตนไม่รู้จักใครสักคน ใครผิดก็คือผิด ขึ้นบัญชีก็ต้องขึ้นบัญชี ตนไม่ช่วยใครเพราะช่วยใครไม่ได้

ปัดไม่เกี่ยวจัดโผทหาร

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของพ.ร.บ.กลาโหม การแต่งตั้งมีคณะกรรมการ 7 คน ประกอบด้วย ผบ.เหล่าทัพ มีรมว.กลาโหม เป็นประธาน ซึ่งรับผิดชอบแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตนไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละเหล่าทัพจะมีบัญชีเสนอขึ้นมา และมีการหารือร่วมกันถึงความเหมาะสม

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดทุกใบ ทุกหน้า ผบ.เหล่าทัพจะเป็นผู้ลงนามก่อนจะส่งมาถึงตน เพื่อจะติ๊กตรงท้าย เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฉะนั้นคนเหล่านั้นรับผิดชอบอยู่แล้ว ดังนั้นการแต่งตั้งคนไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิด จะเอาคนนั้นคนนี้ก็ได้ กองทัพไม่ใช่แบบนั้น มันมีคนกลุ่มหนึ่ง ระดับหนึ่งที่พร้อมจะแต่งตั้งได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่โตมาจากกองทัพ มากองรวมกันอยู่ข้างบน กว่าจะมาถึงยศพลเอก หรือยศพันเอกพิเศษ ต้องมากองอยู่ที่กองทัพ เพราะตำแหน่งนายพลต้องแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ถ้าต่ำกว่านั้นเป็นเรื่องของแม่ทัพ ผู้การ มีกรรมการพิจารณาทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนที่จะหลุดขึ้นมาข้างบนต้องมาดูว่าจะเป็นผบ.ได้หรือไม่ ต้องไล่ความอาวุโส 5 เสือ คนที่จะเป็นผบ.คนแรกคือรองผบ.ทบ. เพราะตำแหน่งอัตราจอมพลกับประธานที่ปรึกษา อันนี้เป็นผบ.ได้ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งรองผบ.แล้ว ต้องพิจารณาผู้ช่วยผบ.คนที่ 1 ผู้ช่วยผบ.คนที่ 2 และเสนาธิการ ตามลำดับอาวุโส เป็นเรื่องของคณะกรรมการจะพิจารณา

“ที่ผมพูด ไม่ใช่ผมไปยุ่งเกี่ยวแต่พูดเพราะเคยเป็นผบ.ทบ.มาก่อน ผมเคยเป็นคณะกรรมการ ที่ผ่านมามีอดีตนายกฯ เป็นรมว.กลาโหมอยู่ 1 ปี ผมก็ชี้แจงในที่ประชุมก็ฟังกันทั้งหมด ฉะนั้นตำแหน่งหลักแบบนี้มันชี้กันไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจของกองทัพ อย่าไปประเมินเอง อย่าไปเชียร์ ไม่ใช่เชียร์ม้าหรือเชียร์มวย เชียร์ไม่ได้ แต่เห็นว่าใกล้จะเสร็จแล้ว เดี๋ยวทุกเหล่าทัพก็เซ็นลงนามลงมา ปลัดกระทรวงกลาโหมจะเซ็นมา และรมว.กลาโหมจะเสนอมาที่ผม ซึ่งผมจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทันเดือนก.ย. คนใหม่จะได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เหมือนแต่งตั้งข้าราชการ แต่มีคณะกรรมการผบ.เหล่าทัพทั้งหมด เพราะบางทีอาจสลับย้ายที่ได้เพราะศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่ไม่ใช่ว่าจะเอาคนนี้ไป แล้วเอาคนนั้นขึ้น แต่ดูความเหมาะสม” นายกฯ กล่าว

แจงบอกปัดซื้อจรวด”ฮาร์พูน”

พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงกรณีกองทัพเรือยอมรับซื้อขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ เพื่อติดตั้งบนเรือฟรีเกตว่า เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณประจำปี ไม่ได้มาเพิ่มเติมในงบฯกลาง ซึ่งเราให้เขาต่อเรือฟริเกต เพราะมีความจำเป็นในการดูแลอธิปไตยของประเทศและเรือเก่ามากแล้วต้องทยอยต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่เรามีงบประมาณและตามความจำเป็น ทั้งนี้ งบฯต่อเรือฟรีเกต รวมถึงระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย วันแรกที่ตนปฏิเสธว่าไม่รู้ว่ามีการซื้อนั้นเพราะโครงการมันอยู่ในเรื่องเดิม ตนจำไม่ได้ เป็นการซื้อตามระบบของ กองทัพเรือ ถ้ามีเรือแล้วไม่มีอาวุธแล้วจะต่อเรือไปทำไม ทั้งหมดจำเป็นต้องมียุทโธปกรณ์ติดเรือและไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่ม เป็นงบของกระทรวงกลาโหมในส่วนของกองทัพเรืออยู่แล้ว

นายกฯกล่าวว่า ที่หลายคนพูดในส่วนของงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นถึง 2.2 แสนล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้นมาตามลำดับของแต่ละปี ซึ่งทุกกระทรวงก็เพิ่มมาแบบนี้สัดส่วนก็มีอยู่ ไม่เกินสัดส่วนของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ความจริงก็น้อยกว่าสัดส่วนจริงๆ ด้วยซ้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง และจะไปทิ้งเรื่องความมั่นคงไม่ได้ เราต้องมีไว้บ้าง ถ้าไม่มีแล้วอนาคตจะอยู่อย่างไร ไม่ได้หมายความเราจะไปรบกับใคร ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะซื้ออาวุธเพื่อไปรบ เราซื้อไว้เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางบก ทางทะเลของเรา

นายกฯกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดซื้อ ทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยสนใจ ทำให้ชำรุด ผุพังใช้ไม่ได้ ต้องเสียงบฯซ่อมแซมจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจัดหามาบ้างเท่าที่จำเป็นและทำได้ ยอมรับว่าในยามปกติ เช่น รถถังก็ใช้อะไรไม่ได้ แต่พวกอากาศยานเรานำมาใช้ช่วยเหลือป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ดูแลประชาชน ส่วนหนึ่งเรามีไว้เพื่อป้องกันตัวเอง ต้องฝึกร่วมรบกับประเทศต่างๆ แต่ถ้าเรามียุทโธปกรณ์ที่สับปะรังเค ไปฝึกกับคนอื่นเราจะตามเขาทันหรือไม่ ขอให้คิดแบบนี้บ้าง ขอร้องว่าอย่าเอาเรื่องโน้นมาตีเรื่องนี้ จนพานรังเกียจข้าราชการ

ฮึ่มเชียร์ปู-ระวังผิดกม.จราจร

เมื่อถามถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางพื้นที่ ใช้งบประมาณผิดประเภท อ้างจัดสัมมนาแต่กลับพามวลชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังตรวจสอบอยู่ ถ้ามีใครนำงบฯมาใช้ในลักษณะดังกล่าวถือว่ามีความผิด อ้างว่าไปจัดสัมมนาแล้วกลับพาคนเข้ามาเชียร์คนถือว่าส่อเจตนา ต้องดูว่าใครทำ มีเจตนาบริสุทธิ์หรือเปล่า ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ตนไม่เคยไปห้ามใครเลย อยากมาให้กำลังใจ ขับรถกันมาเองก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือว่าไม่บริสุทธิ์ใจ

นายกฯ กล่าวว่า ตนเคยเตือนแล้วว่าตนไม่ได้ขู่ด้วยกฎหมาย เพราะทุกคน ไม่ว่าจะไปที่ศาล ที่ทำเนียบ ถ้ากีดขวางการจราจร กฎหมายจราจรก็มี ทุกคนจะต้องถูกลงโทษทั้งหมด ตนจะไม่ปล่อยให้กฎหมายถูกละเมิด หลายอย่างตนผ่อนปรนไปเยอะแล้ว คำสั่งมาตรา 44 ศาลทหารก็ปลดล็อกไปให้เยอะแล้ว มันดีขึ้นหรือไม่ ยิ่งไม่กลัวกันขึ้นไปอีก ตนไม่รู้จะว่าอย่างไรกับคนเหล่านี้

“การให้กำลังใจเป็นเรื่องธรรมดาผมไม่ว่าอะไร แต่ขอให้พอสมควร ไม่ใช่จะระดมขนคนมาให้หมด แล้วมาด่าว่ารัฐบาลปิดกั้น ถามว่าปิดกั้นตรงไหน ถ้าปิดกั้นจริงผมคงประกาศห้ามเข้ามาทั้งสิ้น แต่วันนี้ผมยังไม่ได้ประกาศอะไรเลย ต้องตรวจสอบว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ขนคนเข้ามาหรือไม่ ไปจ้างไปเกณฑ์มาหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงก็ถือว่าผิด แต่ถ้าไม่ผิดผมก็ไม่ทำอะไรอยู่แล้ว เอาคนมาลงโทษมาติดคุกมันดีที่ไหนเพราะทุกคนก็เป็นชาวบ้านทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“ป้อม”ไม่ใช้ทหารดูแลหน้าศาล

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมดูแลความเรียบร้อยในวันที่ 25 ส.ค. ที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินคดีจำนำข้าวว่า เป็นเรื่องของตำรวจและศาลฎีกาฯ ว่าจะประสานกันอย่างไร โดยจะให้ตำรวจท้องที่ดูแลการเคลื่อนย้ายคนเพราะเราไม่อยากให้ขนกันมา อยากให้กำลังใจกันอยู่ที่บ้าน ส่วนการดูแลความปลอดภัยของผู้พิพากษาจะใช้กำลังตำรวจและใช้กฎหมายปกติ ซึ่งมีการเตรียมการไว้อยู่แล้วเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

เมื่อถามว่าเกรงจะมีกระบวนการที่ใช้เหตุการณ์นี้มาเป็นเหตุสร้างสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี มือที่สามก็ไม่น่าจะมี คิดว่าไม่น่ามีอะไร และจะไม่มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ไปดูแลหน้าศาล คงใช้กำลังปกติของตำรวจ ซึ่งศาลต้องพูดกับตำรวจว่าจะให้จัดสถานที่อย่างไร ทั้งนี้ จะไม่มีกำลังทหารเข้าไปช่วย

เมื่อถามว่ายืนยันไม่มีการสกัดเรื่องการเดินทางของมวลชนใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เราไม่สกัด ก็พูดจากันให้รู้ว่ามาเยอะก็ไม่มีที่ยืน

มท.1สั่งอปท.กวดขันใช้งบฯ

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้งบฯขนคนมาให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตรกล่าวย้อนว่า “ไม่มี องค์กรไหน ใคร ที่ไหน บอกมา ไม่จริง ก็พูดกันไป” เมื่อถามย้ำว่ามีแกนนำนปช.ระบุหากมีการสกัดไม่ให้คนเช่ารถมา เขาจะซื้อตั๋วรถทัวร์มาเอง แบบนี้มาได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มาได้ อยากมาก็มา ไม่มีอะไร

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.ว่า ยืนยันว่าได้แจ้งกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารอปท.ไปแล้วให้กวดขันเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นรถหรืออะไรก็ตาม ต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย อย่าให้ขัดระเบียบ ขณะนี้ยังไม่เห็นมีความผิดปกติ ส่วนหนังสือที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งมาถึงกระทรวงมหาดไทย ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบของอปท. เป็นการขอความร่วมมือให้กวดขันเรื่องดังกล่าว

คสช.ถกฝ่ายมั่นคงรับมือ 25 ส.ค.

ที่บก.ทบ. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึง กกล.รส. 4 กองทัพภาค และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ประเมินสถานการณ์ กรณีศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษาตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง

พล.อ.เฉลิมชัย เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองให้เกิดความสงบเรียบร้อยเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมา ควบคู่กับการเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมประเมินว่าจะมีประชาชนมาให้กำลังใจประมาณ 1-2 พันคน ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดปริมณฑล อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และอยุธยา ส่วนพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน หน่วยงานด้านความมั่นคงให้จับตากลุ่มแกนนำในพื้นที่ที่อาจเคลื่อนไหวชักชวนคน โดยพิจารณาว่าหากพื้นที่ไหนมีท่อน้ำเลี้ยง ซึ่งจะมาโดยรถตู้มีค่าใช้จ่ายเกือบ 1 แสนบาทต่อ 1 คัน และอีกช่องทางหนึ่งมาจากรถไฟฟรี ที่จะเดินทางมาก่อนวันตัดสินอย่างน้อย 2-3 วัน โดยจะนัดกันที่ดอนเมืองและหลักสี่

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ได้เป็นห่วงถึงจำนวนคนที่จะมาให้กำลังใจ แต่ห่วงมือที่สามจะมาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายโดยเฉพาะตัวบุคคล

อารักขา 9 ตุลาการ

สำหรับการดูแลพื้นที่บริเวณหน้าศาลฎีกาฯ จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบหลัก พร้อมส่งกำลังดูแลอารักขาบ้านพักของคณะตุลาการฎีกาทั้ง 9 คน ทั้งก่อนจะมีคำตัดสินและหลังคำตัดสินไปแล้ว เบื้องต้นจะยังคงใช้แผนกรกฎ 52 ทั้งนี้สัปดาห์หน้า พล.อ.เฉลิมชัย จะเรียกหน่วยงานความมั่นคง ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. ถึงการติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มบุคคลที่จะเดินทางมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 ส.ค. ว่า ต้องพิสูจน์ทราบก่อน และจะพยายามอย่างที่สุดที่จะดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เมื่อถามว่ามีการเตรียมสกัดมวลชนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ให้เข้ามากรุง พล.อ.ทวีปกล่าวว่า ทุกภาคส่วนในแต่ละจังหวัดได้พูดคุยติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ท่าทีของแกนนำกลุ่มการเมืองเป็นการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น กระบวนการพิจารณาคดีทุกอย่าง รวมทั้งหลักฐานต่างๆ นั้น ศาลฎีกาฯ ได้รับฟังไว้แล้ว ให้รอวันที่ 25 ส.ค.นี้

วัฒนาโวยสกัดทุกทาง

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาตนกับรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปแจกสิ่งของจำเป็นให้กับประชาชนชาวจ.ร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ที่ถูกน้ำท่วม คำถามที่ถูกถามมากที่สุดคือเมื่อไรจะมีเลือกตั้ง ตนก็ตอบไม่ได้ แสดงว่าประชาชนสิ้นหวังกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ

นายวัฒนา ระบุว่า อีกเรื่องที่ประชาชน บ่นกันมากคือทุกคนอยากมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันฟังคำพิพากษา แต่กลับถูกฝ่ายความมั่นคงสกัดกั้นทุกทาง ตั้งแต่การห้ามรถตู้ รถโดยสาร รถรับจ้างนำประชาชนเข้ามา หนักกว่านั้นคือการสั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ดูแลลูกบ้าน หากมีประชาชนในหมู่บ้านของใครหายไปให้กำลังใจ ผู้นำชุมชนต้องรับผิดชอบ ขณะที่โฆษก คสช.แก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ว่าไม่ได้สกัดมวลชนเพียงขอความร่วมมือ

“การมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มวลชนไม่ได้ยกกำลังมากดดันศาล ดังนั้นการสกัดกั้นไม่ว่าด้วยวิธีใดคือการละเมิดเสรีภาพของประชาชน ผมยืนยันว่าจะไปให้กำลังใจอย่างแน่นอน กั้นรถหรือปิดถนนผมก็จะเดินไป มันเป็นเสรีภาพของผม ทำไมจะไปไม่ได้” นายวัฒนาระบุ

ครม.ตั้งเลขาฯ สศก.

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอแต่งตั้ง 1.นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวง เป็น อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2.นางไพรวรรณ พลวัน ผู้ตรวจฯ เป็น รองปลัดกระทรวง 3.นายณรงค์ คงคำ ผู้ตรวจฯ เป็น รองปลัดกระทรวง 4.นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็น อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 5.นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ ผู้ตรวจฯ เป็น อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้ง นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็น เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

คลอดกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปด้านละไม่เกิน 15 คน รวม 165 คน วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งที่ประชุมวันนี้แต่งตั้งทั้งสิ้น 120 คน เหลืออีก 45 คน จะพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ใน 120 คน เป็นผู้หญิง 20 คน อายุระหว่าง 40-70 ปี จบปริญญาเอก 30 คน และเป็นไปตามแนวทางที่นายกฯ เคยสั่งการให้มีข้าราชการประจำน้อยที่สุด ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. นี้ เป็นต้นไป และจากนี้คณะกรรมการทั้ง 11 คณะ จะประชุมเพื่อยกร่างแผนการปฏิรูปในด้านต่างๆ และนำแผนของแต่ละคณะมารวมกันเพื่อกำหนดเป็นแผนปฏิรูประดับชาติ คาดว่าแผนการปฏิรูประดับชาติจะใช้เวลา 8 เดือน จะเสร็จเม.ย.2561

อดีตสปท.คัมแบ๊กอื้อ

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ปฏิรูป กำหนดวิธีการทำงาน เช่น 1.มีหัวข้อปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญและครม.กำหนด 2.ระบุกลไก วิธีการ ขั้นตอน และผลลัพธ์ของการปฏิรูปในแต่ละด้าน พร้อมมีตัวชี้วัดด้วย 3.ผลสัมฤทธิ์ในช่วงระยะเวลา เช่น 5 ปี 4.กฎหมายที่ต้องออกเพื่อให้กลไกการปฏิรูปเดินหน้าไปได้มีหน่วยงานใดบ้างที่จะต้องปฏิบัติ ใช้งบประมาณเท่าใด และทั้ง 11 คณะ ต้องติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐสภา ศาล กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ และหน่วยงานอื่นๆ จากนั้นทำรายงานเสนอครม.และรัฐสภาให้รับทราบถึงผลการดำเนินงาน จะเห็นว่าทั้ง 11 คณะคุ้มค่ากับการแต่งตั้ง

“คำถามยอดฮิตคือ ถ้าหน่วยงานใดไม่ทำตามคณะกรรมการปฏิรูปจะทำอย่างไร เรื่องนี้ได้ให้มีการเจรจาพูดคุยเพื่อขอทราบเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำ ถ้ารับฟังได้ก็ค่อยว่ากัน แต่ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้รายงานนายกฯ หรือรายงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะแต่งตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินการกับหน่วยงานเหล่านี้ได้” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ 120 รายชื่อที่แต่งตั้ง ประกอบด้วย ข้าราชการกระทรวงต่างๆ อดีตข้าราชการ อดีตสมาชิกสปท. และทหารเป็นส่วนใหญ่

รับเบี้ยประชุมตก 4.8 หมื่น/เดือน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงรายชื่อกรรมการปฏิรูปฯจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้หรือไม่นั้น แล้วแต่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ รายชื่อที่ตั้งวันนี้ 120 คน เหลืออีก 45 คน ที่เหลือจะทยอยตั้งเพิ่มให้ครบ 165 คน และอาจตั้งได้มากกว่านี้หากมีด้านอื่นเพิ่ม รายชื่อที่เสนอมาจากหลายภาคส่วน ทั้งพรรคการเมืองหลายพรรค และจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยเลือกให้มีข้าราชการร่วมน้อยที่สุด ยกเว้นข้าราชการที่ใกล้เกษียณ เพราะคณะกรรมการชุดต่างๆ จะต้องทำงานหนัก

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนค่าตอบแทนจะได้รับเป็นเบี้ยประชุมรายครั้ง ครั้งละ 6,000 บาท คาดว่าประชุมไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หนึ่งเดือนมี 4 สัปดาห์ เท่ากับ 8 ครั้ง จะเป็นเงิน 48,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเงินเดือนของสปท.ครึ่งหนึ่ง ส่วนวาระการทำงานกำหนดไว้ให้ 5 ปี ระหว่างนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะลาออกก็ได้ หรือนายกฯคนใหม่ที่เข้ามาบริหารจะปรับเปลี่ยนก็ได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพยายามไม่ให้เป็นคนหน้าเดิม โดย 11 ชุดนี้ชื่อจะไม่ซ้ำ ยกเว้นบางคนที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งต้องเลือกเพียงชุดใดชุดหนึ่ง ส่วนรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 คณะ มีการเสนอรายชื่อเข้ามาบ้างแล้ว จะเร่งแต่งตั้งให้เสร็จในสิ้นเดือนส.ค.นี้

ยันสหรัฐไม่ได้สั่งแบนเกาหลี

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ ต.ค.นี้ว่า จะมีการหารือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง การทหาร รวมถึงสถานการณ์ในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ การเดินทางเยือนครั้งนี้จะได้ประโยชน์ทั้งความสัมพันธ์ การค้าการลงทุน เพราะขณะนี้ไทยมีการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐอยู่ จึงจะทำอย่างไรให้การค้าการลงทุนนี้อยู่ในตัวเลขที่สมเหตุสมผล โดยไทยอาจลงทุนกับสหรัฐมากขึ้น

นายดอนกล่าวว่า ยืนยันสหรัฐไม่ได้กดดันไทยให้ปิดบริษัทของเกาหลีเหนืออย่างที่ปรากฏเป็นข่าว และนายเร็กซ์ เวย์น ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐ ที่มาเยือนไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่หารือในภาพกว้างของท่าทีของสหรัฐต่อเกาหลีเหนือ

รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน เราได้ถามว่าเป้าหมายของสหรัฐต่อเกาหลีเหนือเป็นอย่างไร โดยสหรัฐตอบว่า ต้องการเห็นเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ จึงต้องการหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน

เมื่อถามว่าการเยือนสหรัฐครั้งนี้จะพูดคุยถึงปัญหาเกาหลีอีกเหนือหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เชื่อว่าพูดคุยกันได้อีก และท่าทีของสหรัฐคงไม่เปลี่ยนไปจากนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดสงคราม เพราะทางออกที่ดีคือการพูดคุย ซึ่งอาเซียนต่างสนับสนุนการพูดคุย

“มีชัย”ยันต้องเซ็ตซีโร่กสม.

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สนช.ปรับแก้ให้กสม.อยู่ต่อครึ่งวาระว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะกรรมการชุดปัจจุบันกระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ซึ่งไม่ว่าจะให้อยู่ต่อครึ่งวาระหรือเต็มวาระ ก็จะถูกลดเกรดด้านการยอมรับจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ดี และไม่รู้ถึงเหตุผลของ สนช.ที่กำหนดให้อยู่ต่อครึ่งวาระด้วย ซึ่งกรรมาธิการในสัดส่วน กรธ.จึงสงวนความเห็นให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดแล้วสรรหาใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสากล ส่วนที่มองว่าหวังผลไปถึงการกำหนดสถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยนั้น ตนคิดว่า อย่าเพิ่งมองไปถึงขั้นนั้น

เมื่อถามว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.มีแนวคิดจะเชิญให้ไปดูการสาธิตเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบหลายเบอร์ นายมีชัยกล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายยังร่างไม่เสร็จ ต้องรอให้ถึงตรงจุดนั้นก่อนค่อยว่ากัน

ครม.แต่งตั้ง120กรรมการปฏิรูป

วันที่ 15 ส.ค. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ดังนี้

1.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง 10 คน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ พล.อ.ฐิติวัจน์ กําลังเอก พลตํารวจโท ตรีทศ รณฤทธิวิชัย กรรมการ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ กรรมการ นางนรรัตน์ พิมเสน กรรมการ นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ กรรมการ นายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ กรรมการ นายวันชัย สอนศิริ กรรมการ นายรวี ประจวบเหมาะ กรรมการและเลขานุการ

2.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 12 คน นายกฤษฎา บุญราช ประธาน นายกานต์ ตระกูลฮุน นายถวิล เปลี่ยนศรี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายบัณฑูร ล่ำซํา นางเบญจวรรณ สร่างนิทร นายประหยัด พวงจําปา นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ พลเอก อภิชาต เพ็ญกิตติ นายอาศิส อัญญะโพธิ์ นายสุรพงษ์ มาลี กรรมการและเลขานุการ

3.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 คน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นายคํานูณ สิทธิสมาน พลเอก จิระ โกมุทพงศ์ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ นายประภาศ คงเอียด นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ นายสุขุมพงศ์ โง่นคํา นางสุดา วิศรุตพิชญ์ นายพีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ กรรมการและเลขานุการ

4.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 10 คน นายอัชพร จารุจินดา ประธาน พลโท กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ นายตระกูล วินิจนัยภาค ว่าที่ร้อยตรี ถวัลย์ รุยาพร คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายวันชัย รุจนวงศ์ นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ นายสราวุธ เบญจกุล พลตํารวจโท อํานวย นิ่มมะโน นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ กรรมการและเลขานุการ

5. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ 11 คน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธาน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ นายชาติศิริ โสภณพนิช นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล นายเทวินทร์ วงศ์วานิช นายสมชาย หาญหิรัญ นายสว่างธรรม เลาหทัย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการและเลขานุการ

6. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11 คน นายรอยล จิตรดอน ประธาน นายขวัญชัย ดวงสถาพร นายชูชัย ศุภวงศ์ นายธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายภาวิญญ์ เถลิงศรี นายสัญชัย เกตุวรชัย พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ พลเอก เอกชัย จันทร์ศรี นางสาวลดาวัลย์ คําภา กรรมการและเลขานุการ

7. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 10 คน นายเสรี ตู้จินดา ประธาน นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นายปิยะ หาญวรวงศ์ชัย นายพลเดช ปิ่นประทีป นายพานิชย์ เจริญเผ่า นายภิรมย์ กมลรัตนกุล นายสมชัย จิตสุชน นายโสภณ เมฆธน นายไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล กรรมการและเลขานุการ

8. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 11 คน นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธาน นางกนกทิพย์ รชตะนันทน์ พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร นายธงชัย ณ นคร นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายเสรี วงษ์มณฑา นายสุทธิชัย หยุ่น นางปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการและเลขานุการ

9. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม 13 คน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธาน หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายไมตรี อินทุสุต พลเอก รณชัย มัญชุสุนทรกุล นายวินัย ดะห์ลัน นายวิเชียร ชวลิต นายสมเดช นิลพันธุ์ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายอําพล จินดาวัฒนะ นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ กรรมการและเลขานุการ

10. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 10 คน นายพรชัย รุจิประภา ประธาน นายดนุชา พิชยนันท์ นายดุสิต เครืองาม นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายมนูญ ศิริวรรณ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายสุนชัย คํานูณเศรษฐ์ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการและเลขานุการ

11. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 12 คน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน นายกล้านรงค์ จันทิก นายเจษฎ์ โทณะวณิก พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต นายมานะ นิมิตรมงคล นายวิชัย อัศรัสกร นายวิชา มหาคุณ พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ นายอนุสิษฐ คุณากร นายอุทิศ ขาวเธียร นายประยงค์ ปรียาจิตต์ กรรมการและเลขานุการ

เผยแพร่ทีวี-วีดิทัศน์”ร.9-ราชินี”

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม. ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ได้รับพระราชทานวีดิทัศน์ จำนวน 4 แผ่น เกี่ยวกับการสานต่อ รักษา และต่อยอดแนวทางพระราชดำริและโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ป่า และเรื่องต่างๆ ที่เป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งมาแล้วให้รวบรวม และนำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ รวมถึงเพื่อให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ในการสานต่อและต่อยอดสิ่งที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงทำไว้ ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการทรงงานต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนตลอดไป ส่วนรัฐบาลจะนำมาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน และจะให้กรมประชาสัมพันธ์นำ วีดิทัศน์ไปเผยแพร่ทางโทรทัศน์ในเวลา 18.00 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน