เสวนาเรื่องชาติ ชี้เยาวชนสู้เพื่อชาตินี้ ไม่ใช่ชาติก่อนหรือชาติหน้า

เสวนาเรื่องชาติ – สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดเสวนา ‘เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ว่าด้วยชาติและลัทธิชาตินิยม’ ที่มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม

เสวนาเรื่องชาติ

การจัดเสวนาครั้งนี้ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ .เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงานชิ้นสำคัญ คือ ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (Imagined Communities (IC) : Reflection on the Origin and Spread of Nationalism)

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวปาฐกถานำ ว่า งานเสวนาวันนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง ศ. เบน แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงาน ‘ชุมชนจินตกรรม’ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยสมัยใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน หาก ศ.เบนยังมีชีวิตอยู่และได้สัมผัสกับแฟลชม็อบ ม็อบมุ้งมิ้ง และม็อบตุ้งติ้ง ก็อยากรู้ว่าท่านจะมีความเห็นอย่างไรในวันที่เรามาถึงจุดซึ่งมีการหยิบเรื่องชาติขึ้นมาหาความหมาย มีการใช้วาทกรรมรักชาติ ชังชาติ

เสวนาเรื่องชาติ

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ด้าน อ. พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าชาติไทยยิ่งใหญ่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ชาติที่รู้จักก่อนอื่นคือชาติในเพลงชาติ ต้องรักชาติโดยไม่เคยตั้งคำถามใดๆ

กระทั่ง การค้นหาความหมายของคำว่าชาติในทางวิชาการเกิดขึ้นตอนเรียนกฎหมาย คำว่า ชาติ รัฐ และประเทศปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอย่างมากมาย โดยเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงหน้าที่คนไทยว่าต้องพิทักษ์ชาติ แต่ไม่มีการให้นิยามกำกับ

มีเพียงการอธิบายความหมายไว้ในตำราของปรมาจารย์รุ่นเก่า เช่น ผลงานของ ศ.หยุด แสงอุทัย สำหรับความหมายในพจนานุกรม หมายถึงประเทศ, ประชาชนของประเทศ และกลุ่มคนที่มีความรู้สึกเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน

“ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าเราต้องรักชาติ ทุกวันต้องร้องเพลงชาติหน้าเสาธง ต้องยืนตรงเลี่ยงไม่ได้ มีเพลงปลุกใจอย่างเพลงต้นตระกูลไทย ต่อมาผมพยายามศึกษารากเหง้า ชาติกำเนิดว่าตัวเองมาจากไหน จึงพบว่าน่าจะเป็นมอญ ต้นตระกูลอยู่ทางอำเภอสรรบุรี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี” นายพนัสกล่าว

กรณีวาทกรรม ‘ชังชาติ’ อ.พนัสกล่าวว่า นัยยะของผู้ที่กล่าวหาคนอื่นคือ ถ้าคุณไม่อยากอยู่ที่นี่ก็ไปอยู่ที่อื่น ทางแก้คือต้องให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชาติยอมเปิดพื้นที่ ซึ่งตนมองว่า ‘ประชาธิปไตยเท่านั้น’ จึงจะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลาง

พนัส ทัศนียานนท์

“ปรากฏการณ์ตอนนี้คือการที่บรรดาเยาวชนปลดแอกพยายามของพื้นที่ที่เห็นต่างได้ ลัทธิชาตินิยมคือปัญหา คุณคิดอย่าง ผมคิดอย่าง คนชี้หน้ากันว่าชังชาติ พอไม่ชอบทหารบอกว่าชังชาติ ทหารกลายเป็นองค์ประกอบของลัทธิชาตินิยม”

สำหรับประเด็นสื่อมวลชน อ.พนัสกล่าวว่า ยุคนี้สื่อไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงอย่างที่ควรมี ไม่สามารถรายงานได้อย่างอิสระ ทุกข้างมีกฎในการเซ็นเซอร์ตัวเอง ที่แย่กว่านั้นคือ คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศก็พยายามเข้าไปเป็นเจ้าของสื่อ

“สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาก็เช่นกัน องค์กรครูแทบไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีแค่ความเป็นข้าราชการที่บีบรัด ถูกผู้บังคับบัญชาข่มขู่ ระบบการศึกษาสร้างขึ้นมาเพื่อกล่อมให้คนไทยตั้งแต่เด็กไปสู่อะไรกันแน่ ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องมาทบทวน ว่าทำอย่างไรจะให้สื่อเป็นอิสระ มีเสรีภาพ อาจต้องใช้คำว่าปฏิวัติสื่อและการศึกษา” อ.พนัสกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เจ้าของผลงานตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎรกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การนำเพลงชาติมาเป็นเพลงต่อต้านรัฐบาลไม่เคยมีมาก่อน นักเรียนเรียกร้องสิทธิในความแตกต่าง เช่น ประเด็นแอลจีบีที เสรีภาพในการแต่งกาย และทรงผม ซึ่งเป็นสำนึกใหม่ว่าพวกเขาเป็นพลเมืองโลก ไม่ใช่แค่พลเมืองไทย เป็นการเริ่มเรียกร้อง ‘ชาติของฉัน’

ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง

“อยากคุยกับพ่อแม่ ว่าสมัยตัวเองยังหนุ่มสาว เราเคยต้องรบกับปู่ย่าตายายตัวเองหรือไม่ เคยถูกเอากีตาร์ และกางเกงยีนส์ไปซ่อนหรือไม่ เราเคยมีความฝัน ลูกเราก็มีความฝัน อยากให้พ่อแม่เคียงข้างลูก ให้เขากำหนดโลกของตัวเอง เมื่อฝันทั้งหมดมารวมกันจะเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ชาติในมุมมองของคนในวัยต่างๆ มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ชาติของคนอายุ 50-70 ปี เชื่อเรื่องชาติที่แล้ว ผูกพันกับยุคบ้านเมืองยังดี ส่วนรุ่นตน คือช่วงอายุ 30-40 ปี นึกถึงแต่ชาติหน้า เน้นออมเงินเพื่ออนาคตสุขสบาย ในขณะที่ชาติของคนรุ่นใหม่ คือชาตินี้

เสวนาเรื่องชาติ

ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์

“เยาวชนปัจจุบันที่มีพลังซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ให้ความสำคัญกับชาตินี้ เขาคิดว่าอนาคตเสี่ยงเกินไปถ้าการเมืองไร่เสถียรภาพและความชอบธรรม เด็กบอกว่า ถ้าไม่สู้ตอนนี้ จะสู้ตอนไหน เขาไม่ได้สู้เพื่อพ่อแม่ แต่สู้เพื่ออนาคตตัวเอง หรือลูกหลานที่จะอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น” ผศ.ดร.ลลิตากล่าว

……

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เสวนา ‘เป็นประชารัฐ’ ชี้เด็กสู้เพื่ออนาคต ผุดสำนึกใหม่เป็น ‘พลเมืองโลก’

‘ชาญวิทย์’ รำลึก ‘ศ.เบน แอนเดอร์สัน’ อยากรู้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึง ‘ม็อบมุ้งมิ้ง-ตุ้งติ้ง’ จะคอมเม้นต์ว่าไง ?)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน