ชาวประมง จ่อนำม็อบกว่าแสนคน บุกทำเนียบ พบ บิ๊กตู่ หลังโควิดออกเรือไม่ได้ ขู่ทิ้งเรือหมื่นลำ ชี้รัฐบาลไม่เหลียวแล สินเชี่อประมงไม่คืบหน้า

วันนี้ (28 ส.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เข้าพบเรียกร้องเพื่อเสนอขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี ว่า ตนในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรีในการรับมอบหนังสือรองเรียนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ยื่นขอให้รัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยได้มีการพูดคุยหารือ และจะทำสรุปข้อเรียกร้องเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

กระทรวงเกษตรฯไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่อข้อเรียกร้องสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ยืนยันจะทำสรุปข้อเรียกร้องเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเรียนได้ภายในสัปดาห์หน้า พร้อมทั้ง เร่งดำเนินการเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ที่ผ่านครม.แต่ยังติดขัดปัญหาอยู่ นำเงินออกจากระบบมีปัญหา

ซึ่งในข้อนี้เป็นประเด็นหลัก ของปัญหาทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะประสานงานและเร่งดำเนินการแก้ไขให้โดยเร็ว

ข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังกล่าวขณะนี้สภาผูแทนราษฏรรับเรื่องและได้ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงานแล้ว ส่วนกรณีกรมประมงดำเนินการได้ก็ให้ไปดูแลอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดดำเนินการซื้อเรือคืน แต่ปัญหาที่ผ่านมา ยอมรับว่าปริมาณที่ซื้อมีจำนวนมาก โดยระยะที่3 มีมากกว่า2,500 ลำ ดังนั้น ต้องรองบประมาณอีกหลายพันล้านบาท

“วันนี้ที่ทราบปัญหาหลักๆคือแบงค์ บอร์ดคณะกรรมการบอร์ดยังไม่ได้บรรจุเข้า ทั้งที่วาระผ่าน ครม.ไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะประสานงานและเร่งดำเนินการแก้ไขให้โดยเร็ว ขออย่าเอาประเด็นความเดือดร้อนมาเป็นการเมือง ผมจำรับเรื่องทั้งหมดไปเสนอท่านนายก และจะขอให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานประมงและตั้งเป็นวาระแห่งชาติ” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ มาบังคับใช้กับชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหา ไอยูยู มากว่า 6 ปี แต่ชาวประมงยังเผชิญกฎ ระเบียบรัฐบาล บังคับใช้มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ ชาวประมง 22 จังหวัด ได้ยืนยันขายเรือคืนไปแล้วประมาณ 2,500 ลำ

คาดว่าทั้งประเทศจะมีการขายเรือคืนไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำ จากเรือที่มีทั้งระบบ ประมาณ 12,000 ลำ ซึ่งหากชาวประมงขายเรือคืน 5,000 ลำ รัฐบาลจะมีทรัพยากรที่ยั่งยืน ดังนั้นถ้ากฎหมายและกฎระเบียบยังเป็นลักษณะนี้ ชาวประมงก็พร้อมที่จะขายเรือคืนทั้งระบบ และจะเลิกอาชีพชาวประมงทันทีเพราะทำต่อไม่ไหว รวมทั้งจะได้ไม่ต้องมาเรียกร้องกันบ่อยๆ

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่ชาวประมงได้รับผลกระทบเนื่องจากธนาคารที่ต้องปล่อยสินเชื่อให้กับชาวประมง ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรแลสหกรณ์การเกษตร มีวงเงินในการช่วยเหลือชาวประมงรายละ 5.3 พันล้านบาท ปล่อยเวลาให้ผ่านไป 2-3 เดือน ซึ่ง ครม. โครงการสินเชื่อช่วยเหลือชาวประมงแล้ว โดยปกติ 1 เดือน ก็สามารถนำเรื่องเสนอเข้าคณะทำงาน (บอร์ด) ของธนาคารได้แล้ว แต่ตอนนี้เรื่องก็ยังไม่มีความคืบหน้า เหมือนเป็นการขายฝันให้กับชาวประมง

สำหรับ มูลค่าความเสียหายในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ชาวประมงบางส่วนไม่ได้ทำการประมงประมาณ 3,000 ลำ หรือสร้างความเสียไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ขาดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประกอบกับช่วงโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติม ไม่ใช่เพียงชาวประมงที่ได้รับความเสียหาย ยังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ สร้างความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

ดังนั้น ชาวประมงจึงจำเป็นต้องเลิกอาชีพ และรัฐบาลต้องชดใช้ เยียวยา ด้วยการรับซื้อเรือประมงไปพร้อมทั้งเครื่องมือทำประมงในราคา 100% เพราะมาตรการของรัฐได้ทำลายอาชีพของชาวประมงทั้งประเทศโดยไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ถ้ารัฐบาลยังมองเห็นความสำคัญ ก็ขอให้แก้ไขกฎหมาย ผ่อนคลายกฎ ระเบียบที่ไม่เป็นธรรมโดยเร็วหากรัฐบาลยังเพิกเฉย ไม่หยุดออกกฎระเบียบออกมาบังคับอย่างไม่มีบังคับ ชาวประมงอาจต้องเลิกอาชีพ

ดังนั้น สมาคมจึงขอเรียกร้อง 3 ข้อ เร่งด่วน ได้แก่ 1.เร่งปรับปรุงพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 เพื่อนำเข้าสูสภาผู้แทนราษฎร และขอให้มีตัวแทนเข้าแก้ไขกฎหมาย 2.ขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะที่ผ่านมาไม่มีกรรมการชุดไหนจริงใจต่อชาวประมงสักคณะ เพียงแค่ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ 3.ขอให้ยกเลิกกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย (ฉ1) และติดตามแรงงานภาคประมง (ฉ2) และขอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติแทน

“หากไม่มีสัญญาณตอบรับ หรือได้รับคำตอบจากรัฐบาล 7-10 วัน นับจากวันนี้ จะนำม็อบกว่า 1 แสนคนมาพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล มาตรการต่อไปเดินเท้าเรียกร้องเพราะใกล้จะหมดตัวแล้ว ตอนนี้ก็มีแต่หนี้สิน อาชีพประมงเสียหายไปหมดแล้วถ้าไม่เยียวยาก็ต้องล้มหายตายจาก วิกฤตซ้ำเติมวิกฤติปัญหาต่างๆ รุมเทประดังเข้ามาจนเราต้องเรียกร้อง

ถ้าไม่สนใจ ไม่เหลียวแล ก็ล้มหายตายจากหมดสิ้นอาชีพไป สุดท้ายออกไม่ไหวเรือก็ต้องจอดอยู่ดี ส่วนสินเชี่อประมงที่รัฐบาลออกข่าวปาวๆแต่ความจริงแล้วยังไม่มีใครได้รับเพราะแบงค์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ถ้าภาครัฐยังเป็นอย่างนี้ ชาวประมงก็คงจะหมดตัวไปเรื่อย เราพร้อมสู้ทุกรูปแบบเพื่อทวงอาชีพคืนกลับมา”


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน