ทวี ชี้ คดีเหมืองทองอัครา ใช้ ม.44 ไม่ชอบด้วยกม. ข้องใจใช้เงินภาษีสู้ ทั้งที่เคยบอกจะรับผิดชอบเอง

วันที่ 30 ส.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนำเงินภาษีไปใช้ต่อสู้ ประเด็นการฟ้องร้องคดีเหมืองทองอัครา ความว่า การนำเงินภาษีอากรไปทุ่มกับ “ค่าใช้อำนาจตาม ม.44 คดีเหมืองทองอัครา” ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เป็นการเหมาะสมแล้วหรือ ?

ตามที่รัฐบาลโดย สำนักงบประมาณและกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอของบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2564 ต่อสภาผู้แทนราษฏร ใช้ชื่อ “แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบรายจ่ายอื่น จำนวน 111,115,700 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด” นั้น

ปรากฎคำชี้แจงของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา ว่า กรณีบริษัทอัคราไมนิ่ง จังหวัดพิจิตร ที่ถูกดำเนินคดีเป็นผลมาจากการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ในการสั่งปิดนั้น ในการประกอบการของบริษัทอัคราไมนิ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จะมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้นมีการตรวจสอบพบว่าจากการตรวจเลือดของประชาชนพบสารหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลในขณะนั้นมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ลงพื้นที่และตรวจสอบตามหลักฐานต่างๆ

แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่ และมีข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้คนในพื้นที่ในการสนับสนุนการทำเหมือง รัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องการที่จะปกป้องประเด็นเรื่องสุขภาพประชาชนในพื้นที่จึงเลือกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการสั่งปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

จากคำชี้แจงดังกล่าว เป็นการยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อจริง “ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่” ดังนั้นใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองอัคราไมนิ่ง ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน และข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ จึงเป็นการใช้อำนาจ ม 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและขัดหลักนิติธรรม ถือเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

จากข้อมูลวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สภาฯ พบว่ามีการใช้งบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน 2562 และ2563 ในการต่อสู้คดีส่วนหนึ่งแล้ว คือ ในปีงบประมาณ 2562 ได้งบประมาณในลักษณะเดียวกันไปจำนวน 60,000,000 บาท และปีงบประมาณ 2563 ได้ไปจำนวน 217,778,100 บาท

ความเห็นส่วนตัวนั้น เรื่องการควบคุมมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกภาพส่วนต้องให้ความสําคัญในการคุ้มครองสิทธิแต่ต้องดำเนินการอยู่บนกฏหมาย หลักนิติธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

และในกรณีดังกล่าวประเทศไทยมีกฏหมายปกติอยู่แล้ว คือ ตามพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งอำนาจในการปิดเหมืองนั้นหากมีอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 125 และมาตรา 126 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 กำหนดให้อธิบดีสั่งระงับใบอนุญาตได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเผด็จการในการสั่งปิด

คำสั่ง มาตรา 44 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา จนต่อมาเมื่อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ปัจจุบันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ ผ่านคดีอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสำนวนและคาดว่าคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นน่าจะอยู่ในปลายปี พ.ศ.2563 หรือในช่วงต้นปี พ.ศ.2564 จะทราบผลคำตัดสิน

กรณี คดีเหมืองทองอัคราไมนิ่ง เป็นการตอกย้ำว่ามีการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล ที่เรียกว่า “สองมาตราฐาน” เพราะ ในเรื่องประเทศไทยถูกต่างชาติฟ้องร้องเรื่องทำนองเดียวกันเหมือนทองอัคราไม่นิ่ง จำนวนหลายคดี ใน WTO

ซึ่ง กมธ วิสามัญฯ งบประมาณปี 64 ได้ตั้งคำถามกับ กระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมเจรจาการค้า มีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ มีคดีความเป็นจำนวนมากที่ ประเทศ ไทยถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่นคดี ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ฟ้องร้องประเทศไทย ให้ชดใช้เงินเป็นจำนวนเกือบประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยกลับมีการใช้ทนายอาสา และทนายคนดังกล่าว เคยทำงาน อยู่ในสำนักงานทนายความของคู่กรณีและต่อมาประเทศไทยแพ้คดีให้กับคู่กรณี เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์โดย กรมเจรจาการค้าตอบชี้แจงว่า : “คดี ฟิลิป มอร์ริส มีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาสนับสนุนงานทางคดี การจ้างทนายความ เกิดจากการหารือกันของคณะทำงาน”

ซึ่งทราบว่าหน่วยงานในคดี ฟิลิป มอร์ริสว่า หน่วยงานต้องการให้รัฐบาลจ้างทนายให้ เพื่อสร้างความมั่นใจเพื่อต่อสู้คดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ต้องการทนายขอแรงหรือทนายอาสา แต่รัฐบาลไทยกลับมีใช้ทนายของ ACWL ซึ่งเป็นทนายอาสาหรือทนายขอแรง ที่ WTO จัดทนายไว้สำหรับช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาจากสำนักกฎหมาย ACWL

และมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทนายความที่มาต่อสู้ให้ไทย เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความ หรือบริษัทกฎหมายที่คู่กรณี (ฟิลิปปินส์) ว่าจ้าง จึงไม่มีหลักประกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในคดีดังกล่าวประเทศไทยได้แพ้คดี ถึง 2 ครั้ง

การใช้เงินภาษีอากรจ่ายจำนวนมากเพื่อ เป็น “ค่าใช้อำนาจมาตรา 44“ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ต้น(ข่าวจากสื่อมวลชน ระบุจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 62 ) เห็นว่าเพื่อความชอบธรรมต้องให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้อย่างกว้างขวางต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน