เพื่อไทยมีมติยื่นแก้รธน.เพิ่ม 4 ญัตติ วอนพรรคร่วมรบ.-ฝ่ายค้าน-ส.ว.ร่วมลงชื่อ ดันเปิดประชุมวิสามัญแก้รธน.

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 8 ก.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำพรรคพท. อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ร่วมแถลงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 4 พรรค ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ไปแล้วนั้น ต่อมาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้เสนอผลการศึกษาต่อประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. และจะมีการพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 10 ก.ย. โดยในวันที่ 1 ก.ย. พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อแล้วเสร็จให้ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่

ขณะเดียวกันมีข้อเรียกร้องให้ตัดอำนาจของวุฒิสภาในหลายประเด็น โดยเฉพาะให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกติกาที่มีแต่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศและประชาชน รัฐบาล นายกฯ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ล้วนตอบสนองต่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ พรรคจึงเห็นว่า สภาฯ ซึ่งจะพิจารณาญัตติดังกล่าววันที่ 23-24 ก.ย. ในวาระที่ 1 และเพื่อเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ พรรคจึงขอเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา ร่วมลงชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ซึ่งต้องการเสียงประมาณ 250 คน เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 25 ก.ย. และจะเปิดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 พ.ย.

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า พรรคพท.มีมติเตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในอีก 4 ญัตติ ประกอบด้วย 1.การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกฯ ตามม.272 โดยพรรคเสนอเพิ่มเติม ม.159 นอกจากเลือกนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจากส.ส.ได้ด้วย และเสนอร่างนี้เช่นเดียวกับร่างแก้ไข ม.256 ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ

2.การยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาตาม ม.270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และม.271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษที่เสนอโดยสภาฯ

3.การยกเลิกม.279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของคสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ

และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิกม.88 83 85 90 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ2540 คือใช้บัตร 2 ใบ (เลือกคนและเลือกพรรค) ทั้งนี้สมาชิกพรรคได้ให้ความเห็นชอบและขอเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดันด้วยการร่วมเสนอญัตติและพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างสันติ โดยคาดว่าจะเสนอญัตติได้ภายในวันที่ 9 ก.ย.

ด้านนายโภคิน กล่าวว่า หลายคนสงสัยว่าทำไมเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ส.ส.พรรคพท.ไม่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญม.272 กับพรรคก้าวไกล เพราะก่อนหน้านั้นเราได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญม.256 ไปเพียงร่างเดียว และในเวลาต่อมาคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำรายงานแล้วเสร็จ โดยไม่แตะหมวด 1-2 แต่ในหมวดอื่นๆ ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ อำนาจส.ว. ระบบการเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญม.256 เช่นกัน ซึ่งหลักการก็ตรงกัน

ขณะที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาก็เรียกร้องให้มีส.ส.ร. เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่กว่าที่ส.ส.ร.จะร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ใช้เวลาเป็นปี จนหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการต่ออายุให้พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกันและเหตุที่เราต้องเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีก 4 ร่างด้วย และขอเชิญชวนส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และส.ว. ร่วมลงชื่อด้วย เพื่อให้บ้านเมืองเดินมีทางออก และจะได้เดินไปอย่างสันติ เป็นการปกป้องระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้สภาฯของเราเดินไปได้

นายโภคิน กล่าวว่า สภาจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 25 ก.ย. และก่อนเปิดสมัยประชุมมีเวลา 35 วัน จึงควรจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อเร่งรัดในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้เร็วขึ้น อย่างน้อยก็ 1-2 อาทิตย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน