เมื่อวันที่ 27 ส.ค. เวลา09.30 น. ที่ห้องประชาธิปก ชั้น 5 สถาบันพระปกเกล้า นักศึกษาหลักสูตรวุฒิบัตรความรู้ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จัดการเสวนาหัวข้อ “บทบาทสื่อมวลชนไทยในยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยภายใต้กติกาใหม่” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานเสวนาว่า หากสังคมต้องการประชาธิปไตย สื่อมวลชนก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้กลไกการตรวจสอบในสังคมเกิดขึ้นได้ และสื่อยังจะต้องเป็นผู้นำทางความคิด หากสื่อไม่ทำหน้าที่นี้ แต่อ้างเพียงสะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ สังคมก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของสื่อมวลชนเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบันยังวนเวียนกับปัญหา 2 เรื่อง คือ เรื่องเสรีภาพ และคุณภาพของสื่อ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 เกิดการควบคุมสื่อจนเกิดปัญหาว่า ใครอยากรู้ความจริงต้องดูสื่อต่างประเทศ จนกระทั่งเกิดความตื่นตัวในการปฏิรูปสื่อ เกิดบรรยากาศอยากให้สื่อทำหน้าที่เต็มที่ มีการออกกฎหมายข้อมูลข่าวสาร เกิดทีวีเสรี จนต่างชาติให้การยอมรับว่าสื่อไทย มีเสรีภาพที่สุดในภูมิภาค แต่ปัจจุบันเสรีภาพสื่อมวลชนไทย กลับอยู่ในอันดับต่ำกว่า 100 ดังนั้น เสรีภาพของสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับถูกอำนาจรัฐและธุรกิจเข้ามาควบคุม คุกคาม แทรกแซง เช่น กรณีที่นักข่าวอิศรา ถูกกระบวนการยุติธรรมเข้ามาคุกคามการทำหน้าที่ตรวจสอบ และยังรวมไปถึงกรณีของนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่เนื้อหาต่างๆ ที่เจ้าตัวแสดงออกนั้น ไม่น่าถึงขนาดถูกกฎหมายความมั่นคงเข้ามาแทรกแซง จึงสะท้อนให้เห็นว่า สื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือสื่อมวลชนร่วมทำข่าว ครม.สัญจรว่า เรื่องนี้ ครม.ไม่เชิงเป็นการแทรกแซงสื่อ แต่เป็นการขอความร่วมมือที่ไม่ถูกวิธีการ พร้อมระบุถึงปัญหาของสื่อมวลชนปัจจุบัน คือ หลายสื่อมวลชน เลือกที่จะจำกัดเสรีภาพตัวเอง เพราะมีสื่อมวลชนที่ตัดสินใจยุติการนำเสนอข่าวล่อแหลม เพื่อความอยู่รอดของตนเองและผู้มีอำนาจรัฐ เพราะกลัวเกิดความขัดแย้ง ตนมองว่าการกระทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะประชาชนจะไม่มีข้อมูลตัดสินใจที่เพียงพอมากกว่า ทั้งนี้ ตนก็เป็นห่วงต่อเรื่องคุณภาพสื่อมวลชนว่า หากสื่อมวลชน ยังถูกสังคมมองว่าไม่มีคุณภาพ จะยิ่งทำให้สังคมไม่คิดปกป้องเสรีภาพสื่อ

“ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ความสนใจอยู่การพิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในวันดังกล่าว ผมมีภารกิจการบรรยายครูเทศบาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ผู้รับฟังการบรรยายต่างกังวลและติดตามข่าวของคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อมีผลออกมาว่า ศาลออกหมายจับและเลื่อนการอ่านคำพิพากษา ผมก็ได้เล่าถึงข้อเท็จจริงไปกับผู้บรรยายเพื่อให้คลายกังวล แต่กลับมีสื่อท้องถิ่นนำเสนอข่าวว่า ผมเย้ย น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ไม่มาศาล ทั้งที่ผมไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น จนสื่อมวลชนตัดสินใจแก้ข่าวให้ โดยแก้เพียงพาดหัวเป็น “อภิสิทธิ์ เห็นใจ ยิ่งลักษณ์” จึงสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าสื่อต้องการเสรีภาพ แต่ยังมีปัญหาด้านถ้าคุณภาพการนำเสนอ ก็ย่อมเป็นข้อกังวลของสังคม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ตนไม่แน่ใจว่า คนที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชนนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ สื่อมวลชนมักจะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดจากโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นโพสต์ด้วย ดังนั้น คำถามคือใครเป็นผู้สื่อข่าวกันแน่ ตนสงสัยที่รัฐบาลจะออกกฎหมายว่า ใครเป็นสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต แล้วจะนับอย่างไรว่าใครเป็นสื่อมวลชน แล้วที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ออกรายการทุกวันศุกร์นั้น จะต้องมีใบอนุญาตสื่อด้วยหรือไม่ เพราะหากสื่อไม่แยกการทำข่าวกับการทำธุรกิจนั้น ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจแล้ว แต่รวมถึงภาครัฐด้วย เพราะข่าวบางข่าวเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับภาครัฐ ปัญหาต่อมาคือ สื่อจะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไร และเมื่อสังคมเป็นสังคมที่แบ่งขั้ว ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกันมากขึ้น การที่จะให้สังคมตรวจสอบสื่อจึงเป็นไปได้ยาก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า กฎหมายที่รัฐบาลชุดนี้จะออกมา ตนไม่ยอมรับเรื่องการให้คนของภาครัฐเข้ามายุ่งกับสื่อ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐ ส่วนเรื่องใบประกอบวิชาชีพนั้น เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ แต่หากจะไม่ให้มีกฎหมายออกมา สื่อจะตอบคำถามได้หรือไม่ว่า สื่อจะให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริงได้อย่างไร จึงกลายเป็นเรื่องยากที่ให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ดังนั้น ต้องมีกฎหมายที่ออกมากำกับสื่อ มอบดาบกับสื่อมวลชน เพื่อให้การกำกับควบคุมกันเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่สื่อจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ สื่อต้องจัดระบบธรรมาภิบาลของสื่อ หากสื่อคิดว่า รายงานอะไรก็ได้ วันนี้ใครรายงานอะไรก็ได้อยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า สื่อจะทำอย่างไรให้เห็นว่า คุณค่าความเป็นวิชาชีพสื่อต่างจากคนที่ไม่ใช่สื่อ

“หากพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็จะต้องมีกฎหมายดูแลสื่อ แต่ต้องแก้ปัญหาการใช้อิทธิพลของภาครัฐและธุรกิจเข้ามามีอำนาจต่อรองในสื่อ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและสื่อมวลชน ต้องพึ่งพากันและกัน แต่ก็ยอมซึ่งกันและกันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเอง”นายอภิสิทธิ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน