ไพบูลย์ ยื่น ประธานสภาฯ ค้านบรรจุ 4 ญัตติ แก้ รธน.ของฝ่ายค้าน อ้าง ศาล รธน. เคยวินิจฉัยแล้ว ด้านชวน ยัน 4 ญัตติ แก้ รธน. ไม่ซ้ำกัน ชี้ ที่ไพบูลย์อ้าง คนละกรณี

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.เวลา 10.35 น. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของฝ่ายค้าน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนขอคัดค้านร่างบรรจุแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับของฝ่ายค้าน เพราะเห็นมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในร่างดังกล่าวมีลายมือชื่อส.ส.ซ้ำซ้อนกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งให้บรรจุในระเบียบวาระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอความเห็นของส.ส. จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ

วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งหน้าที่ 4 ว่า เมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่าประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563

ซึ่งมีรายชื่อส.ส.ผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวนส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึง1ใน10ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ75 คน กรณีนี้จึงไม่ถูกต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า จากข้างต้นย่อมหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการลงลายมือชื่อของส.ส.จะลงชื่อได้ครั้งเดียวเท่านั้น จะมีลายมือชื่อซ้ำในทำนองเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น ตนจึงขอคัดค้านการบรรจุร่างแก้ไข 4 ฉบับที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่วาระการประชุม

ด้วยเหตุมาตรา 256 (1) เพราะมีการลงชื่อซ้ำกันในเรื่องเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งที่ 5/2563 ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าถ้ามีการบรรจุ 4 ญัตติ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาทั้งที่ไม่มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง

ตนจึงขอประธานรัฐสภาพิจารณายับยั้งการบรรจุญัตติทั้ง 4 ฉบับไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบให้ได้ยุติ และในวันที่ 16 ก.ย.ตนจจะยื่นญัตติ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 256 (1)

เมื่อถามว่าการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เป็นการแก้ไขคนละมาตรา ดูแล้วเนื้อหาน่าจะเป็นคนละแบบ ทำให้สามารถลงชื่อซ้ำซ้อนกันได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ถือเป็นการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ทุกญัตติคือการยื่นรายมาตรา อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทราบว่าฝ่ายค้านสงสัยเช่นกัน จึงได้ทำหนังสือไปสอบถามสำนักเลขาธิการสภาฯว่าสามารถลงชื่อหลายญัตติได้หรือไม่

ด้าน นายสมบูรณ์ กล่าวว่า จะนำหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ร่างแก้ไขรัฐะรรมนูญขณะนี้สภาฯเสนอมาทั้งหมด7ร่าง โดย2 ร่างแรกทั้งฉบับของฝ่ายค้าน ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล และมีอีก5ร่าง อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีเนื้อหาขัดรัฐะรรมนูญมาตรา 255 ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หรือรูปแบบของรัฐ หรือไม่ซึ่งจะกระทำมิได้ อีกทั้งต้องตรวจสอบจำนวนส.ส. ตามมาตรา 256 ที่สามารถยื่นโดย ครม. หรือส.ส.ไม่น้อยกว่า 1ใน5 เท่าที่มีอยู่ของส.ส. โดยส.ส.ปัจจุบันมีจำนวน 488 คน

หรืออย่างน้อย 98 คน รวมทั้งตรวจสอบรูปแบบการเสนอร่างเข้ามาว่ามีหลักการเหตุผลหรือไม่
เมื่อถามว่าส.ส.ลงรายมือชื่อซ้ำกันได้หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าตรงตามมาตรา 256 หรือไม่ และเบื้องต้นสมาชิกลงลายมือชื่อซ้ำกันคงไม่เป็นไร เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดสิทธิ์ไว้

ต่อมา นายชวน หลีภัย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ 4 ญัตติของฝ่ายค้าน อยู่ในกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ถึงความถูกต้องในการเข้าชื่อ แต่ได้บรรจุญัตติ 2 ญัตติแรก ของผู้นำฝ่ายค้านและของพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว ส่วน 4 ญัตติดังกล่าวเบื้องต้นพบว่ามีปัญหาการเข้าชื่อ 3 ญัตติ ที่ ส.ส.บางคนมีลายเซ็นไม่เหมือนของตัวเอง จึงต้องตรวจสอบว่าเป็นการเข้าชื่อแทนกันหรือไม่

ส่วนปัญหาส.ส.เข้าชื่อซ้ำกันนั้น นายชวนกล่าวว่า เบื้องต้นญัตติที่มีการเสนอมาทั้ง 4 ฉบับ เป็นคนละเรื่องกัน แม้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกันแต่คนประเด็นกับ 2 ญัตติแรก ดังนั้น ส.ส.มีสิทธิ์ลงชื่อในแต่ละฉบับได้โดยไม่ถือว่าเป็นการซ้ำกัน

นายชวน กล่าวต่อว่า กรณีที่นายไพบูลย์อ้างคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าเคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในการเข้าชื่อเสนอคำร้องมายังตนเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.งบประะมาณปี 63 และศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะเห็นว่ามีการลงชื่อซ้ำกันนั้น

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้เป็นการเสนอร่างกฎหมาย เมื่อถามว่า จะต้องชะลอทั้ง 4 ญัตติ หรือไม่หากมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ นายชวน กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน