สภาตีตก ญัตติ “ไพบูลย์” ขอให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย 4 ญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าตัวจ่อส่งเรื่อง ศาล รธน. วินิจฉัยต่อ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หารือต่อที่ประชุม

ในประเด็นญัตติเสนอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความชอบของการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ญัตติ ซึ่งตนทักท้วงว่ามีปัญหาด้านข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ว่า ส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้คราวละหนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ซึ่งตนทราบว่า ส.ส.ที่เสนอญัตติ 4 ฉบับดังกล่าว ลงนามซ้ำกันเอง

จึงเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่จะอยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของประธานรัฐสภา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย แต่ปรากฎว่าญัตติที่ตนเสนอ ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระ เพราะนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย และตีตกญัตติดังกล่าวไป

ซึ่งอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนั้น เพื่อรักษาหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตนจึงขอให้ทบทวนการไม่บรรจุญัตติที่ตนเสนอ เพราะหากตีตกตนจะฟ้องศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะต้องการรักษาหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถ้าเลขาธิการสภาฯมั่นใจจะตีตกก็ดำเนินการได้เลย แต่ตนก็จะดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดเหมือนกัน

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ญัตติตกไปเพราะฝ่ายเลขาธิการสภาฯ พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายทั้งหมดของสภา และทำความเห็นเสนอมายังตน คือ ญัตติที่เสนอทั้ง 4 ฉบับ เป็นคนละเรื่องและคนละหลักการ ดังนั้น การลงชื่อซ้ำนั้นไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้

ทั้งนี้ การสืบค้นย้อนหลังพบว่ามีการเสนอกฎหมาย และมีผู้ลงลายมือชื่อซ้ำ และไม่เคยมีปัญหาต่อการตีความ ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 10 บังคับไว้ด้วยว่า การประชุมรัฐสภาให้เป็นไปตามมาตรา 156 คือ การประชุมรัฐสภาจะมีสิทธิพิจารณา 16 เรื่อง ที่สามารถประชุมร่วมกันได้ ดังนั้น ญัตติที่นายไพบูลย์เสนอนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“ผมไม่ได้มองว่าถ่วงเวลา หรือเจตนาถ่วงให้รัฐธรรมนูญ หากเลือกบรรจุสวนกับฝ่ายกฎหมายของสภา เข้าใจว่าแนวปฏิบัติไม่มีปัญหาว่าคนเดียวลงชื่อหลายฉบับ ว่ามีปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ หากบรรจุเรื่องนี้จะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเสี่ยงที่จะสวนความเห็นฝ่ายปฏิบัติ และเมื่อไตร่ตรองแล้ว จึงไม่ได้รับญัตติ และขอให้จบเรื่องนี้ และผ่านไปเพราะกังวลว่าจะทำให้เสียเวลาการประชุมในวันสุดท้าย” นายชวน กล่าว

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ โต้แย้งว่า การวินิจฉัยเรื่องลงลายมือชื่อซ้ำกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ จะวินิจฉัยได้ แต่เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนจะไปยื่นเรื่องนี้ยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

นายชวน จึงกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “ขอให้มั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ ฝ่ายเลขาธิการสภาฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง อย่างไรก็ตาม ญัตติที่เสนอก่อนหน้า และญัตติที่เสนอด้วยวาจาไม่ถือว่าเป็นญัตติที่รัฐสภาพิจารณา จึงไม่สามารถพิจารณาได้ และขอเข้าสู่การพิจารณาตามวาระ”


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน