อนุดิษฐ์ ชี้ รธน.40 ดีสุดทำไทยผงาดในเวทีโลก ขอ ส.ว.ร่วมพาบ้านเมืองพ้นขัดแย้ง ยัน ตั้ง ส.ส.ร.ไม่ใช่ตีเช็คเปล่า ด้านจุรินทร์ ย้ำจุดยื่น ปชป. ยันต้องมีวุฒิสภา

ต่อมาเวลา 11.05 น. เข้าสู่การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาโดยเป็นการอภิปรายรวมกันทั้ง 6 ฉบับ โดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ขัดหลักประชาธิปไตยหลายเรื่อง ทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เศรษฐกิจถดถอยหลัง

ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ทำให้ประเทศไทยมั่งคั่ง เป็นสวรรค์ของนักลงทุน เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย สามารถจัดระเบียบสังคม ปราบปรามาเฟีย ยาเสพติด พักหนี้เกษตรกร ปรับปรุงโครงสร้าภาษี จัดงบประมาณสมดุล ปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นต้น

สรุปว่ากติกาที่ประชาชนร่างมาทำให้ไทยผงาดในเอเชียและเวทีโลก แม้รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งก็ยังทิ้งมรดกไว้มากมาย เกิดนโยบายสำคัญมากมายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นการจะให้กติกาได้รับการยอมรับต้องให้คนในสังคมมีส่วนร่วมด้วย

ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วม แต่เกิดจากแนวคิดผู้ยึดอำนาจ ไม่มีหลักนิติธรรมสากล ขณะที่การแก้ไขทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ทำให้เกิดความขัดแย้ง มีปัญหาการเมือง ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นต้นตอปัญหา จึงต้องช่วยกันยุติปัญหาทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง

“หลับตาเห็นอนาคต ลืมตาเห็นความสำเร็จ เมื่อตาดูดาว เท้าติดดิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะโชคช่วย รัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น จากกติกาที่เป็นธรรม กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนุญ 40 จนนำมาซึ่งความรุ่งเรืองสถาพรของประเทศ

แม้รัฐธรรมนูญ 40 จะถูกฉีกทิ้งไป แต่รัฐธรรมนูญ 40 ได้เป็นผู้ทำคลอดโอกาสและความเท่าเทียม ทำคลอดรัฐบาลของประชาชน ทำคลอดประชาธิปไตยที่กินได้ จนนำมาซึ่งนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่า ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเห็นชอบหลักการตามญัตติที่เสนอ เหลือเพียงเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เสียง ที่จะมีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองพ้นจากความขัดแย้ง แต่ ส.ว.บางคนยังเข้าใจผิด คิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นการตีเช็คเปล่า

จึงขอทำความเข้าใจว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม หาก ส.ส.ร.ร่างมาไม่ดี รัฐสภาก็สามารถตีกลับได้ หรือประชาชนทำประชามติไม่เห็นชอบ ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่การตีเช็คเปล่า และคิดว่าคุ้มหากจะใช้งบประมาณทำประชามติเป็นหมื่นล้านบาท แลกกับการปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง

ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาล จึงไม่มีอุปสรรคต่อกัน รัฐบาลสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ จึงอยากเรียกร้องให้ ส.ว.ให้การสนับสนุนตั้ง ส.ส.ร. ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นชอบตรงกัน

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ก็ขอให้ ส.ว.สบายใจ ในการทำงานร่วมกัน ทุกฝ่ายสามารถตั้งตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบครอบ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด เชื่อว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนมีความรักชาติไม่ต่างกัน

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ควรแก้ไขได้ ตนและพรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีชัดเจนมาตั้งแต่ต้น

แต่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยลำพังได้ เพราะมีแค่ 52 เสียง จึงต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้

มาตรา 256 ระบุว่า ต้องใช้เสียงของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และส.ว.เกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขอีกว่า เสียงที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้นต้องมีฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 48 เสียง และต้องมีส.ว.ให้ความเห็นชอบอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง รวมทั้งเมื่อผ่านสภาฯ ต้องเอาไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งด้วย

ดังนั้นความร่วมมือของรัฐสภาจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่ารัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือส.ว.ขาดหายไป การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ตนสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล

เพราะมีการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่พรรคประชาธิปัตย์จุดประกายมาแต่ต้นก่อนเข้าร่วมรัฐบาล กำหนดให้มีการตั้งส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะมีส่วนร่วมด้วยการนำเสนอประเด็นต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของส.ส.ร. เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ตนสนับสนุนว่าควรมีวุฒิสภา แต่ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ควรมีอำนาจและบทบาทที่จำกัดคือ ควรมีบทบาทกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ไป และควรมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่แตะหรือไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 หมวดที่2 พราะเป็นหมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ รูปแบบการเป็นประเทศของเรา และเป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่มาของเหตุผลที่ พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่มีหลักการใกล้เคียงกัน

ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ส.ว. ทุกคนมีเอกสิทธิ์และมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองทำหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนอิสระ ตนไม่ได้สะท้อนความคิดของ ส.ว. คนไหน ตั้งแต่กระบวนการยกร่างและผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 พี่น้องกลุ่มเปราะบางได้รับการปักธงไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็อายุสั้น

ตนคิดว่าถ้าตอนนั้นเราแก้รัฐธรรมนูญในปี 2548 หรือ ปี 2549 ก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่ผู้มีอำนาจต้องไม่ฝืนให้เกิดแรงต้านในสังคม ตนเชื่อว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะนำมาสู่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา มีการแก้ไขหลายครั้งแต่เป็นการแก้ไขในบางประเด็น ไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับ

ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ แต่ไม่เชื่อว่ายกร่างใหม่ทั้งฉบับจะทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ ดังนั้นจึงอยากให้แก้ไขเป็นรายประเด็น อย่างไรก็ตามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ตนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระ แต่เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

และเพื่อไม่ให้เป็นความชอบธรมเป็นเหตุให้สิ้นอายุของรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการให้รับร่างรัฐธรมนูญไว้พิจารณาเป็นสิ่งที่ตนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และตนจะไม่เป็นอุสรรคการเดินหน้าแก้ไข


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน