‘นายสั่งมา’ คำกล่าวที่ใช้อ้างในการสารภาพ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่า 6 ล้านคน ของเจ้าหน้าที่นาซีเยอรมัน คำกล่าวที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับสังคมใดในโลกอีก

ในช่วงการสลายการชุมนุมและจับตัวแกนนำที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกระทำที่เกินกว่าเหตุไปมาก ในหลาย ๆ ครั้ง เช่น การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา สลายการชุมนุม ทั้งที่ผู้ชุมนุมมาเดินขบวนอย่างสันติ รวมถึงการจับกุมตัวแกนนำ ที่ปรากฏให้เห็นว่า แกนนำที่ถูกจับกุมไปนั้น ได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

Prachatai

เมื่อมีประชาชนหลายคนเข้าไปสอบถามว่า เพราะเหตุใดจึงกระทำเกินกว่าเหตุเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ‘นายสั่งมา’ ประโยคในลักษณะดังกล่าว อาจนำไปสู่โศกนาฎกรรมที่น่าสลดใจได้ หากไม่มีการแก้ไขความคิดดังกล่าวอย่างทันท่วงที

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวเน็ตในโซเชียลต่างพากันถกเถียงว่า นั่นไม่ใช่ข้ออ้างอันชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน และยกตัวอย่างการพิพากษาคดีนูเรมเบิร์กขึ้น

โดยชาวเน็ตหลายคนได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ในลักษณะ ‘นายสั่งมา’ ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่มันกลับเคยเกิดขึ้นมาแล้วในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทั้งโลกจดจำ นั่นคือ โศกนาฎกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ค่ายกักกัน นาซีเยอรมัน

ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น

Nuremberg Trial / AP

คำกล่าวอ้างในลักษณะ ‘นายสั่งมา’ ดังกล่าว มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “คำป้องกันตัวนูเรมเบิร์ก” โดยประโยคดังกล่าว เชื่อว่ามีที่มาจาก วลีเยอรมัน ว่า “คำสั่งก็คือคำสั่ง” (Befehl ist Befehl)

คำป้องกันตัวนูเรมเบิร์ก เป็นข้ออ้างในศาลว่าบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของทหาร ผู้บังคับใช้กฎหมาย กองกำลังดับเพลิง หรือ ประชาชนพลเรือน ไม่ควรได้รับการพิจารณาว่า มีความผิดในการกระทำที่ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือเจ้าหน้าที่

คำป้องกันตัวนูเรมเบิร์ก เป็นหนึ่งในการใช้ข้ออ้างหรือการป้องกันที่ถูกใช้มากที่สุด ในผู้ต้องหาในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก

การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก เป็นชุดการพิจารณาคดีทางทหารที่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองเป็นผู้จัด โดยเป็นการฟ้องสมาชิกชั้นสูง ในคณะผู้นำทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจของนาซีเยอรมนีซึ่งพ่ายสงคราม

การพิจารณามีขึ้นที่ เมืองนูเรมเบิร์ก แคว้นบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี​ ในศาลทหารระหว่างประเทศ (International Military Tribunal) โดยเริ่มในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2488 การพิจารณาครั้งนี้ เป็นการพิจารณาคดีที่เป็นที่กล่าวขานไปทั่วทั้งโลก

สาเหตุที่เลือกกนูเรมเบิร์กเป็นที่พิจารณาคดี เนื่องจาก นูเรมเบิร์กถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของพรรคนาซี รวมทั้งมีการจัดการชุมนุมโฆษณาชวนเชื่อที่นี่ทุกปี จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมอบจุดจบให้กับนาซีในเชิงสัญลักษณ์

ตัวอย่างของระบบที่ชั่วร้ายทำให้ คนกลายเป็นปีศาจโดยไม่ได้เจตนา

Adolf Eichmann / The Telegraph

อดอล์ฟ ไอชมันน์ เขาคืออดีตสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญและข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ตำแหน่งสำคัญของเขาภายใต้รัฐบาลนาซีคือเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยราชการที่มีชื่อว่า กรมกิจการว่าด้วยชาวยิว (Office of Jewish Affairs)

หน่วยงานของเขา มีหน้าที่ในรวบรวมข้อมูลชาวยิว ยึดทรัพย์สิน ขนย้ายและลำเลียงชาวยิวขึ้นรถไฟไปยังค่ายกักกันต่างๆ ในยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นสถานที่ ที่คนยิวหลายล้านคนถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ไอช์มันน์ทำการหลบหนี และปลอมแปลงอัตลักษณ์จนสามารถไปอยู่ที่ ประเทศอาร์เจนตินา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถรอดพ้นจากสายตาหน่วยสายลับอิสราเอลได้

ไอชมันน์ถูกส่งตัวกลับมาขึ้นศาลในอิสราเอลด้วยหลายข้อหาฉกรรจ์ สุดท้ายเขาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี พ.ศ.2505

Hannah Arendt / The Oregon Institute for Creative Research

ประวัติชีวิตของ ไอช์มันน์ เป็นที่รู้จักและโด่งดังอย่างมาก แม้แต่ ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาการเมือง ยังเขียนถึงการพิพากษาครั้งนี้ โดยอาเดรนดท์ อธิบายถึงสิ่งที่ไอชมันท์ กระทำว่า เป็น ‘ความชั่วร้ายที่แสนสามัญ’

เพราะไอช์มันน์นั้นไม่รู้สึกผิดกับการกระทำของตนเองเลย ทั้งเขายังอ้างเหตุผลว่าทั้งหมดที่เขาทำนั้นเป็นเพียง “การทำตามคำสั่งธรรมดา ๆ ที่เขาเคยชิน” เขาเป็นเพียงข้าราชการธรรมดาคนหนึ่งในฟันเฟืองระบบราชการอันใหญ่โต เขาซื่อสัตย์กับงานที่รับผิดชอบ และทำตามหน้าที่เท่านั้น

แนวคิดเช่นนี้เองที่อเรนดท์มองว่ามันอันตรายอย่างยิ่ง เพราะผู้กระทำผิดมองตนเองเป็นเพียงกลไกของระบบโดยไม่เห็นว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ไอช์มันกลายเป็นคนที่กระทำความชั่วร้าย โดยที่ไม่มีเจตนาร้าย ไอช์มันได้รับสารภาพว่ากระทำสิ่งต่าง ๆ ที่ชั่วร้ายไปจริง ๆ แต่เขากระทำไปตามหน้าที่ โดยที่ตนเองไม่ได้เกลียดชังชาวยิวเลย ทั้งยังรู้สึกมีมิตรไมตรีกับชาวยิว

ในการพิจารณาคดี ไอช์มันถูกไต่สวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน มีจิตแพทย์มาประเมินสภาพจิต โดยจิตแพทย์ได้ระบุว่า เขามีสภาพจิตที่ปกติดี ทั้งยังกล่าวว่าเขาเป็นคนที่ดูเป็นมิตรเสียด้วยซ้ำไป

ประวัติศาสตร์จะต้องไม่ซ้ำรอย

Eichmann In Jerusalem by Daniel Zender / The New Yorker

สิ่งสำคัญที่เราควรนำประวัติศาสตร์เหล่านี้มาเป็นบทเรียนคือ ไอช์มันไม่สามารถ ‘คิด’ ได้ด้วยตนเองเลยว่า การฆาตกรรมคนแม้เพียงหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ผิดโดยตัวมันเอง การสังหารหมู่ก็เช่นกัน

เหตุที่เขาไม่สามารถคิดตามตรรกะปกติได้อาจเป็นเพราะตัวเขาเองก็คิดไปตามระบบลำดับชั้นของนาซี อันเป็นคำสั่งที่ถูกปลูกฝังมาอย่างเป็นระบบที่เขาต้องปฏิญาณทุกวันว่า ‘คำสั่งก็คือคำสั่ง’ และตัวเขาเองเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่กระทำหน้าที่ของตนเองไป โดยไม่จำเป็นต้องคิดสิ่งใด

สาเหตุสำคัญ 2 ประการที่ก่อให้เกิดความชั่วร้ายที่แสนสามัญขึ้น ประการแรกคือ การยอมจำนนและไม่ตั้งคำถามใด ๆ กับอำนาจที่สั่งลงมา ประการที่สองคือ การสร้างความเป็นอื่น หรือแบ่งแยกพวกพ้อง พร้อมด้อยค่าความเป็นมนุษย์ สร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตนเองในการกำจัด คนที่เราแบ่งแยกว่าเป็น ฝั่งที่ไม่ใช่พวกพ้องของตนเอง

Khaosod English

อาเรนดท์ ได้กล่าวว่า “แก่นสำคัญของรัฐบาลเผด็จการ หรือ บางทีอาจเป็นธรรมชาติของระบบราชการทุกแห่ง คือการสร้างให้มนุษย์ทำตามหน้าที่ และเป็นเพียงฟันเฟืองในกลไกการบริหาร และเพื่อลดทอนมนุษยธรรม”

คนไทยต้องตระหนักถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ให้ความชั่วร้ายนี้ กลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา” และฝังรากลึกในสังคมไทย นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องนึกถึงความเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะเป็นอย่างอื่น เพราะตำแหน่งเป็นเพียงแค่หัวโขนที่สวมใส่ แต่ความเป็นมนุษย์นั้นติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิดไม่ว่าคุณจะเป็นใคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน