6 พรรคฝ่ายค้าน ลั่นโหวตหนุนรับทั้ง 7 ญัตติ ชี้ต้องรับร่าง “ilaw (ไอลอว์)” เหตุ เป็นร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ขัดกฎหมาย อัดพวกใส่สีเท็จปมโยงนิรโทษ “แม้ว-ปู”

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 16 พ.ย.2563 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมแถลงหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านกรณีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าาวว่า พรรคฝ่ายค้านมีมติเป็นเด็ดขาดว่าจะสนับสนุนทั้ง 7 ญัตติ

เหตุที่เรารับร่างของไอลอว์ เพราะร่างนี้เป็นร่างที่มาจากพี่น้องประชาชน เราในฐานะผู้แทนที่มาจากประชาชนต้องรับร่างดังกล่าว ไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับ และร่างไอลอว์มีหลักการเดียวกับร่างของรัฐบาลและร่างของฝ่ายค้าน ไม่มีส่วนใดที่ขัดกับกฎหมาย

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า การประชุมวันที่ 17-18 พ.ย. จะเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จะกำหนดทิศทาง และอนาคตประเทศไทย ว่าจะพาประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญคือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ว. ซึ่งเราเชื่อว่าการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางอย่างแท้จริง ความจริงใจ และเจตนารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นตัวชี้ขาด

แม้ท่านจะอ้างว่าเป็นเรื่องของสภาก็ตาม ทั้งนี้ รัฐสภาควรผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เพราะจะผ่านเพียงแค่บางฉบับไม่เพียงพอแล้วต่อการคลี่คลายสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะร่างของไอลอว์ต้องผ่าน ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า ในการแก้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชน 50,000 ชื่อเข้าชื่อกันเพื่อขอยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ครั้งนี้มีกว่า 90,000 ชื่อที่ลงชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และการที่ประชาชนตื่นตัวขนาดนี้

เพราะเขาเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวนายกฯ ซึ่งรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงต้องการแแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้น ในวาระที่ 1 สมควรจะรับ แล้วด่านต่อไปคือการทำประชามติ ซึ่งเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกันว่าควรสนับสนุนร่างของประชาชนฉบับนี้ ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

  • 1.การนำเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการใช้สิทธิตามอำนาจอธิปไตยที่เสนอกฎหมายผ่านรัฐสภา
  • 2.ประชาชนมีความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยมองเห็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเห็นของประชาชนก็สอดคล้องกับความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มองเห็นปัญหาเช่นเดียวกัน
  • 3.หลักการร่างของประชาชนที่เหมือนกับหลักการของรัฐบาล และฝ่ายค้านคือ เห็นว่าควรมีส.ส.ร. ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ
  • 4.ร่างของประชาชนนี้ไม่ได้ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายใดเลย

ส่วนกรณีร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นร่างประกบกับร่างของรัฐบาล โดยวันที่ 18 พ.ย.นี้ ฝ้ายค้านจะยื่นร่างพ.ร.บ.ประชามติของพรรคฝ่ายค้านต่อรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญที่ต่างออกไปคือ

  • 1.เรายกเรื่องของการรณรงค์ให้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ให้สิทธิประชาชน ภาคเอกชนและพรรคการเมืองในการรณรงค์อย่างทั่วถึง
  • 2.ควรอนุญาตให้มีการออกเสียงล่วงหน้า และต่างพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสออกมาออกเสียงให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกับมาตรา 49 และอาจเลยเถิดไปถึงการนิรโทษกรรมให้นายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองอดีตนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นประเด็นเก่าของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหยิบยกมาใช้นานแล้ว

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 256 (8) ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วเรื่องอำนาจของสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครไปยกเลิกกฎหมายทั้งปวง มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศ ส่วนที่บอกว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้ใครนั้น เป็นการใส่สีตีความ และเป็นความเท็จทั้งสิ้น


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน