เครือข่ายภาคประชาชน จากหลายองค์กร ประกาศ หนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ ยืนยันร่วมกลุ่มราษฎร บุกสภา ซัด รธน.60 ไม่ยึดโยงปชช.

วันที่ 16 พ.ย.63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เครือข่าย People Go Network นำโดย นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์เครือข่ายภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน น.ส.ชฎาพร ชินบุตร เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน นายจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4ภาค & ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) น.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และ นายนิมิตร เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและเครือข่ายอื่นๆ ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “จากราษฏร์ดำเนินสู่ราษฏร์สภา รัฐสภาต้องรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยระบุว่า “จากการที่รัฐสภามีวาระพิจารณารับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ ซึ่งมี ‘ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่าแสนคนรวมอยู่ด้วยนั้น

เครือข่าย People GO ขอเรียกร้องให้รัฐสภาต้องรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อร่วมสร้างทางออกของวิกฤตประเทศ เพื่อที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องปราศจากวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง และคำนึงถึงการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจให้ประชาชน มีการปฏิรูปองค์กรอิสระ และสถาบันตุลาการให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลครอบงำใด ๆ

โดยยืนยันข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ยุติการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่นำพาความขัดแย้งของสังคมไทยไปสู่ทางตัน

เราขอให้รัฐสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และให้ประชาชนผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณา

เราขอเน้นย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในสังคมไทย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยปราศจากการแทรกแซงใด ๆ จากรัฐบาล

โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีอำนาจในการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวดทุกมาตราให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย

สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงและมีช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และทำให้ทุกสถาบันในสังคมไทยไม่มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

ด้วยแนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่สันติสุข และทำให้สังคมและการเมืองไทยตอบสนองต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้วัฒนาถาวรสืบไป”

จากนั้น น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า เราจะจับตาดูวันพรุ่งนี้ 17 -18 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ว่าจะมีการนำร่างฉบับประชาชน จากน้ำพักน้ำแรงกว่าแสนรายชื่อที่เสนอเข้าไปสู่รัฐสภา เพื่อที่จะได้มีการพิจารณาในวาระนี้ และเราก็จะจับตาว่ารัฐบบาลจะมีความจริงใจในการนำร่างของประชาชนเข้าสู่การเข้าพิจารณาของสภาหรือไม่ โดยเครือข่าย People Go เคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ตนเห็นปัญหาในหลายส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงรณรงค์อย่างต่อเนื่องที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้าน นายนิมิตร เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานในเรื่องของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พบเจอปัญญาความเหลื่อมล้ำอย่างมาก วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า คนยากจน หรือในทุกระดับย่ำแย่กันทุกคน

“พวกเรามีคติประจำตัวที่ว่า ทุกถ้วนทั่วต้องอุดรอยรั่วด้วยรัฐสวัสดิการ ถ้าจะสร้างสังคมที่เป็นธรรม จะต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เขียนมา รัฐจะจัดสวัสดิการให้กับประชาชนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

เช่น ในเรื่องสุขภาพ รัฐบอกว่าจะจัดบริการด้านสุขภาพให้กับคนที่ยากไร้ คนที่ไม่มีความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ เรื่องบํานาญ คนอายุ 60 ปีจะได้รับหลักประกันด้านรายได้และได้รับการดูแลจากรัฐ แต่ในรัฐธรรมนูญก็ไปเขียนห้อยท้ายไว้ว่า จะต้องเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ไม่มีความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเป็นการแบ่งแยก

รัฐจะต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์แต่เป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้องได้รับ และคนที่จะไปร่างรัฐธรรมนูญ เขียนเรื่องสวัสดิการ จะต้องไม่ใช่ข้าราชการ ต้องไม่ใช่นักการเมืองท้องถิ่น แต่ต้องเป็นประชาชน เรื่องรัฐสวัสดิการ คนที่อยู่ข้างบนจะไม่มีวันเห็นความเหลื่อมล้ำ ทุกข์ยากของประชาชน ฉะนั้น ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน” นายนิมิตรกล่าว

น.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กล่าวว่า สภาต้องรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในวันพรุ่งนี้ เหตุผลเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาของประเทศในขณะนี้ และเป็นทางออกสำคัญในการพัฒนาประเทศ

“รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้มีความยึดโยงใดๆ กับประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดย คสช. เพื่อ คสช. มีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้ง การรณรงค์ที่ถูกคัดค้าน มีประชาชนที่ถูกจับดำเนินคดีกว่า 64 คน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ในช่วงนั้นมีการใช้อำนาจการกดทับการแสดงออกของประชาชน และชัดเจนในเรื่องของการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ถ้าไม่แก้ตอนนี้ก็เหมือนกับการไม่ทำอะไรเลย เพราะการสืบทอดอำนาจก็จะยังมีต่อไป”

น.ส.จุฑามาส กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มองเห็น คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ได้วางแนวทางระยะยาวเพื่อควบคุมประเทศผ่านแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งเหมือนเป็นการเขียนแบบกว้างๆ โดยไม่มีหนทางที่ชัดเจน และมีการเขียนกฏหมายเพื่อให้ประเทศนี้เดินตามยุทธศาสตร์นี้อีก 20 ปี หากรัฐบาลไหนไม่ทำตามจะถูกลงโทษ เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และขอร่วมประกาศเจตนารมณ์ ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ จะต้องมีการรับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ในวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2563 เครือข่าย People GO จะร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ออกมาร่วมชุมนุมที่หน้าราษฎร์สภาเพื่อรอคอยจนกว่าสภาจะมีมติรับร่าง อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน