วันที่ 2 ต.ค. ที่โรงแรมเดอะเบิร์คลีย์ ประตูน้ำ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ที่เตรียมเก็บภาษีน้ำกับกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มอุตสาหกรรม ว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการเก็บค่าน้ำหรือภาษีน้ำจากเกษตรกรรายย่อย และขณะที่ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยังอยู่ในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะที่พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ นายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. และพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมวเกษตรและสหกรณ์ ได้พูดแล้วว่าไม่เก็บภาษีน้ำจากเกษตรกรรายย่อย ซึ่งกำลังพิจารณาว่าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างเป็นทางการ
นายวิษณุ กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวที่จริงจะมีการแบ่งเกณฑ์ แต่เนื่องจากมีการออกมาให้สัมภาษณ์ที่ไปพูดเหมารวมทั้งหมดทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความสะพรึงกลัว ทั้งที่จริงไม่ได้ไปถึงขั้นต้องไปเรียกเก็บเงินจากชาวนา แต่จะให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมากเป็นผู้รับผิดชอบ และใครที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษก็ต้องจ่ายค่าดูแลสิ่งแวดล้อม อาจเป็นในรูปของการจัดเก็บภาษีหรือการเรียกเก็บค่าทรัพยากรน้ำ ซึ่งต้องกำหนดสัดส่วนการเรียกเก็บเหมือนกับการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่เคยต้องรับผิดชอบเลย
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทำงานด้านน้ำ แถลงข้อเสนอแนะว่าทีมนโยบายพรรคฯศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำมาตลอด มีขอเสนอแนวคิดต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาล แถลงความชัดเจนว่าจะไม่เก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อยรวมถึงชี้แจงรายละเอียดของนิยามการเป็นเกษตรกรรายย่อย และเกณฑ์สำหรับเกษตรกรที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ตามมาตรา 39 ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ
2.นำรายได้ค่าน้ำของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมาเป็นรายได้ตรงต่อการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนการอนุรักษ์แหล่งน้ำและการสนับสนุนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ปฏิรูปกฎหมายน้ำควบคู่กับการปฏิรูปองค์กรด้านน้ำเพื่อให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำทั้ง 33 หน่วยงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้เป็นเกษตรกรอย่างแท้จริง 4.เร่งรัดการขยายพื้นที่ชลประทานที่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่เพาะปลูกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน โดยจัดให้มีระบบการเก็บกักน้ำที่ทั่วถึงและเพียงพอ และ 5. ขอให้รัฐบาลพิจารณาเช่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในฤดูน้ำหลากเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ และใช้น้ำจากพื้นที่นี้สำหรับพื้นที่เกษตรบริเวณใกล้เคียง