ไอลอว์ เปิด 4 ข้อ หาก บิ๊กตู่ พ้นนายกฯ คดีอยู่บ้านหลวง แต่ระบอบ คสช.ยังอยู่!

ไอลอว์ (ILAW ) รายงานว่า วันนี้(2 ธ.ค.) เป็นวันชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

จากกรณีอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร ทั้งที่เกษียณอายุราชการ และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญต่อ “อภิสิทธิ์” ของบรรดาอดีตผู้นำเหล่าทัพในการเข้าพักบ้านหลวงหลังเกษียณแต่ยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง

อีกทั้ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบรรดาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.

โดยตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 170 (5) กำหนดว่า ถ้ารัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 หรือ รัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 184 ที่ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง

ดังนั้น ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงพักอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งที่ได้เกษียณและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งแต่ปี 2557 เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะสิ้นสุดลง

อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 ยังกำหนดด้วยว่า รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170

ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดารัฐมนตรีที่ประยุทธ์เป็นคนเสนอชื่อแต่งตั้งก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยแต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 160 ยังกำหนดเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ด้วยว่า ต้องไม่เป็นนผู้เคยพ้นจากตําแหน่ง เพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง หรือหมายความว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากคดีพักบ้านหลวงจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้การ “พักบ้านหลวง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง

แต่ทว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ยังคงมีกลไกในการพยุงระบอบคสช. ให้ยังดำรงต่อไปได้ กล่าวคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลแต่ไม่ได้เปลี่ยนระบอบคสช. แต่อย่างใด

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบคสช. ยังคงดำรงต่อไปได้ ก็คือ การที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 269 กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรก มาจากการคัดเลือกโดยคสช. จำนวน 250 คน และในมาตรา 272 กำหนดว่า การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมาจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา หรือหมายความว่า ส.ว. 250 คน ของคสช. ยังคงมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ

และที่ผ่านมา ส.ว. ชุดนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้หลังการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลก็มีทางเลือกพิเศษเอาไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ ให้ใช้การลงมติของ ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือเกือบ 500 เสียง ก็จะเปิดทางให้มีการเสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” หรือ การเสนอให้ใครก็ได้มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้ ซึ่งหากพิจารณาจากเสียงของพรรครัฐบาล และเสียงของ ส.ว.ชุดพิเศษนี้ ก็ไม่ได้ถือว่า เป็นทางเลือกที่ยากจนเกินไป

อ่าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน