สัมภาษณ์พิเศษ

‘ก้าวไกล’พร้อมเป็นรัฐบาล : หมายเหตุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2564 แนวทางการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน และการเดินหน้าอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยเฉพาะ 3 ป.

  • สถานการณ์การเมืองปี 2564

ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาใหม่กำลังจะมา ทั้งเรื่องการเมือง สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ เราอยู่กับโควิด-19 มาประมาณ 1 ปี ที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมที่กว้างมาก รอยรั่วทางเศรษฐกิจที่ลึกมาก ขณะเดียวกันก็เกิดการปะทุของคนรุ่นใหม่ ในปี 2563 เกิดการต่อสู้กันทางวิสัยทัศน์ ซึ่งวิสัยทัศน์หนึ่งบอกว่า อดีต คือ อนาคต อนาคตจะแตกต่างจากอดีตไปไม่ได้ จะมีอภิสิทธิ์ชนอยู่ข้างบนเสมอ แต่บางคนก็รู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับความคิดแบบนี้ เพราะความคิดแบบใหม่คือ การมองเห็นอนาคต คือ อนาคต และเป็นอนาคตที่มีความหวัง

คนรุ่นใหม่ ทั้งเด็กระดับมหาวิทยาลัย มัธยม ต่างเห็นช่วงเวลาในสถานการณ์โควิด-19 เห็นพ่อแม่ตกงาน เห็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม สามารถค้นหาประวัติศาสตร์ที่ห้องเรียนไม่ได้สอน เห็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ในหลายๆ ประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เบลารุส และนี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ประมวลได้ และเป็นความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ว่าหากพวกเขาไม่ทำอะไร อดีตจะเป็นอนาคต แต่พวกเขาต้องการให้อนาคตเป็นอนาคต ดังนั้นสังคมจึงยังหา “พื้นที่ปลอดภัย” ไม่ได้

ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลเห็นความสำคัญของพื้นที่ปลอดภัย หากมองให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน สามารถพูดคุยกันได้ทุกหมวดทุกมาตรา เราพยายามทำเรื่องนี้กันตั้งแต่เดือนส.ค.2563 เราพูดคุยกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเพื่อร่วมกันปลดสลักระเบิดเวลานี้ไม่ให้ไฟลามทุ่ง

แต่น่าเสียดายที่รัฐสภาทิ้งโอกาสเหล่านี้ไป ทำให้ปัญหาเก่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาใหม่ๆ ก็กำลังจะเข้ามา ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยจึงสำคัญที่สุด เพื่อหาฉันทามติร่วมกันได้

  • 3 ข้อกังวลปัญหาเศรษฐกิจ

ในเรื่องเศรษฐกิจ ผมกังวลอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.หนี้เสีย 2.ค่าเงินบาทแข็ง และ 3.ความเหลื่อมล้ำ ดูตัวเลขว่างงาน 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมา 4 เท่าจาก 1.2 แสนคนเป็น 5 แสนคน ตัวเลขการท่องเที่ยวของโรงแรม มีผู้มาเข้าพักประมาณร้อยละ 30 แม้จะมีโครงการเที่ยวด้วยกันให้คนไทยออกมาเที่ยวเยอะๆ แต่หากมีลูกค้าแค่ 30 จาก 100 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายแล้วโรงแรมก็ยังหาทางออกไม่ได้

เค้าโครงทางเศรษฐกิจที่ต้องการเน้น SME แต่บริหาร SME ด้วยธนาคารเอกชน ถ้าคุณเป็น SME แล้วอยากต่อลมหายใจ คุณต้องเป็นลูกค้าของธนาคารเอกชนเท่านั้น และถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าย้อนหลัง 6 เดือน นั่นก็แปลว่า ปล่อยตามมีตามกรรม

ฉะนั้น ความท้าทายเก่าๆ ที่คนวัยผมเติบโตกันมา ทั้งเรื่องทหาร การค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม ก็ยังมีอยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไข ในปี 64 จะเป็นปีที่มีปัญหาใหญ่ๆ เข้ามาเยอะมาก ทั้งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ปัญหาคนว่างงาน และอื่นๆ ขณะที่โครงสร้างการเมืองไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเลยตลอดหลายสิบปี

ประเทศไทยเน้นการส่งออก แต่เราก็ยังเกินดุลเยอะ เมื่อค่าเงินบาทไทยแข็งค่าก็จะแข็งกว่าประเทศอื่น เวลาค่าเงินบาทอ่อนก็จะอ่อนกว่าประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ค่าเงินบาทประเทศไทยไม่เสถียร มีการแกว่งเยอะ ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศลดน้อยลง

เราจะเห็นได้ว่า การฝากความหวังไว้ที่กลุ่มทุนแค่ไม่กี่กลุ่ม หรือการให้ทหารมาบริหารประเทศ มันจะทำให้เกิดการกระจุกตัวของทรัพยากร รายได้ ทรัพย์สิน และอำนาจ ถ้าเราไม่กระจายมันออก ก็คงไม่มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานราก การกระจาย อำนาจ โอกาสในการทำมาหากิน การมีสิทธิมีเสียงในระบบการเมืองการปกครองไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

  • แนวทางการขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล ในปีนี้

ปัญหาเก่าไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาใหม่กำลังจะมา เมื่อเอาสองสิ่งนี้มาประมวล ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กำหนดแผนประจำปีเป็นปีแรกให้เหมือนเป็นบริษัทเอกชน เพื่อให้แผนงานเป็นไปตามระบบ อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นหลักสูตรการเมือง ให้คนภายนอกที่ต้องการจะมาสมัครว่าที่ส.ส. หรือที่ต้องการจะลงเล่นการเมือง หรือต้องการจะมาเป็นอาสาสมัคร เพื่ออุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลตามเสรีประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่แค่ในพรรค แต่จะปักธงความคิดให้คนรุ่นใหม่ รวมทั้งคนที่สนใจให้ประเทศไทยเท่าเทียมกัน และเท่าทันโลก

แผนงานของพรรคก้าวไกล ไตรมาสแรกคือ การปลดระเบิดเวลา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 และวาระ 3 ที่กำลังถกเถียงในกรรมาธิการ และมีการแปรญัตติกันอย่างเข้มข้น

แน่นอนว่าต้องมีการอธิปรายไม่ไว้วางใจกันอย่างดุเดือด ทั้งเรื่องการทุจริต และการบริหารบ้านเมืองผิดพลาด

ส่วนหลังการปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 18 ก.พ. จะเป็นช่วงเวลาปิดเทอม เน้นการโชว์วิสัยทัศน์ ว่าเราจะรีสตาร์ตไทยแลนด์ได้อย่างไร เราพร้อมจะสร้างบ้านใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลในปีแรก เราต้องการปฏิรูปทหาร แรงงาน การกระจาย อำนาจรวมศูนย์ แม้เราจะยังไม่มีโอกาสสร้างบ้านหลังใหม่ เราก็จะใช้เวลาหลังปิดสภาประมาณ 2-3 เดือนในการโชว์นโยบายและวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยควรจะอยู่แบบไหน

จากนั้นจะเป็นเรื่องงบประมาณ ที่เรามีกมธ.คอยตามติดมาตลอด เราต้องยอมรับว่าการทำงบประมาณของประเทศไทย ทำเหมือนไม่มีวิกฤตเพราะปี 63 ไปเอางบปี 62 และเพิ่มงบมานิดหน่อย ส่วนปี 62 ก็ไปเอางบปี 61 และเพิ่มมานิดหน่อย ไม่มีการเรียงลำดับความสำคัญ แม้ปีนี้จะประสบกับเรื่องโควิด-19 แล้วนำงบกลางมาเป็นตัวตั้ง แม้จะมีข้อดีในความยืดหยุ่น แต่การตรวจสอบจะน้อยทำให้มีการคอร์รัปชั่นได้ ส่วนไตรมาสที่ 3 จะเป็นเรื่องของงบประมาณที่เกี่ยวข้อง และไตรมาสที่ 4 เรามีแผนพบปะพี่น้องประชาชนตามนโยบายที่เราเคยหาเสียงเอาไว้

  • ยันส่งตัวแทนลงผู้ว่าฯกทม.พัฒนากรุงเทพฯ

พรรคก้าวไกลเคยประกาศไปแล้ว ว่าเราจะส่งตัวแทนสู้ศึกกทม. เต็มที่ ส่วนจะเป็นใครนั้น ยังไม่ขอบอก เพราะเปิดเร็วเดี๋ยวมันจะช้ำ ถึงเวลายุทธศาสตร์พรรคก้าวไกลจะเปิดตัวแน่นอน

ตอนนี้เราคุยกันทุกสัปดาห์ถึงความเหมาะสม เราทำงานเป็นทีม ไม่ได้เน้นบุคลากรคนใดคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงเด่นๆ เราสนใจการพัฒนากทม. โดยการคิดถึงคนกทม. เป็นหลัก ไม่ได้คิดแค่โครงสร้างกทม. แต่เราจะสร้างคนกทม. ให้เป็นพลเมืองที่ดีไปในตัวด้วย

  • เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ-ที่มาของส.ส.ร.

มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าได้ปลดล็อกจากรัฐธรรมนูญปี 60 แล้วมาสร้างล็อกใหม่ในการหาส.ส.ร. เพื่อสืบทอดอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหากจะเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่พวกเขาได้เปรียบและทำมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ ถามว่าการที่พวกคุณทำเช่นนี้มันไม่มีความชอบธรรมที่จะพัฒนาประเทศต่อไปได้

ตั้งแต่มีการเลือกตั้งมาในวันที่ 24 มี.ค. 62 เขาสามารถจะรักษาอำนาจไว้ได้ แต่ไม่สามารถจะปกครองคนได้ ไม่สามารถแก้ไขของประชาชนได้ และถ้าส.ส.ร. เป็นเช่นนั้นอีก มันก็เหมือนแก้ปัญหาจากรัฐธรรมนูญที่มีการลากตั้งส.ว. 250 คน มาเป็นส.ส.ร. ที่มีการลากตั้ง 50 คน จากคนที่คิดว่ามีคุณวุฒิมากกว่า คิดว่าคนมากกว่า

เราจะสู้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความชอบธรรม เราสู้ด้วยจำนวนไม่ได้ เพราะมีการออกแบบมาเป็นแบบนี้ ส.ส.ร. 200 คน ควรมาจากตัวแทนประชาชน จากนั้นจะมาเลือกกมธ.ไปร่างรัฐธรรมนูญ ตามคุณสมบัติที่ควรมีและตอบโจทย์กับประชาชนที่มาเลือกส.ส.ร. นี้

พวกเราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านรัฐสภา แต่พวกเขาก็หาวิธีการให้พรรคการเมืองใหม่ คนรุ่นใหม่ๆ ไม่สามารถทำต่อไปได้ การเปลี่ยนแปลงภายในสภาต้องการพลังจากนอกสภา นี่เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสิ่งสวยงามของระบอบประชาธิปไตย

ส่วนเรื่องจำนวนฝ่ายค้านที่น้อยกว่านั้น หากพวกเขาไม่เย็นชากับความรู้สึกของประชาชนมากเกินไป ก็น่าจะมีแนวโน้มที่แก้ไขได้

  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล็อกเป้าพี่น้อง 3 ป. เน้นทุจริต

แน่นอนว่าเราต้องล็อกเป้าพี่น้อง 3 ป. ซึ่งจะเป็นเรื่องการทุจริต และการบริหารบ้านเมืองผิดพลาด แต่หากไทยเป็นระบบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นในสากล รัฐบาลคงถูกพิพากษาไปตั้งแต่ปี 2562 แน่นอน ที่ผ่านมา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่มีโอกาสได้อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้วอย่างน่ากังขามากๆ ต้องไปเสี่ยงติดคุกติดตะรางเพื่อมาอภิปรายที่ใต้ถุนรัฐสภา

หากเราได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เป็นปกติ ที่ไม่ได้มีส.ว. 250 มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มคนไม่กี่คน ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญที่ทำให้แตกแยก ไม่ได้มีพรรค การเมืองกว่า 20 พรรค ถ้าไม่มีการซื้อส.ส. กัน ไม่มีโปรโมชั่นส.ส.ย้ายค่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนโหวต หรือเนื้อหาอภิปราย ทั้งเรื่องป่ารอยต่อ การจัดการขยะ การพัฒนาโครงการใหญ่ๆ เช่น เหมือง อุตสาหกรรมจะนะ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ล้วนไม่ชอบมาพากลทั้งนั้น

การอภิปรายครั้งต่อไป ผมและพรรคก้าวไกลจะทำงานกันอย่างรัดกุมมากขึ้น เพื่อให้เนื้อหาที่ได้เตรียมมาได้อภิปราย ที่ผ่านมาหากเราไม่โดนมือที่มองไม่เห็น ทำให้พลังทำลายล้างของการอภิปรายไม่ไว้ใจของพวกเราลดลง ทั้งเรื่องไอโอ ของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือเรื่องทุจริต 1MDB ของน.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตพรรคอนาคตใหม่

ถ้าทุกอย่างตรงไปตรงมา พลังทำลายล้างครั้งที่แล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลจะถูกประชาชนพิพากษาไปแล้วด้วยซ้ำ

ครั้งนี้เราจะต้องระมัดระวัง และเอาบทเรียนของปีที่แล้ว เพื่อทำให้เนื้อหาและกระบวนการเข้มข้น ซึ่งทุกคนจะต้องได้อภิปราย ไม่น่าจะมีอุบัติเหตุเหมือนครั้งก่อนอีกต่อไป

  • ยันความเป็นเอกภาพของพรรคฝ่ายค้าน

เรื่องนี้คงเป็นมุมมองของภายนอกมองเข้ามาว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีเอกภาพ แต่ผมขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ผมกับนาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังพูดคุยกันตลอดเวลา ยังพบหน้ากันในที่ประชุม คุยหารือกันทางโทรศัพท์กัน ซึ่งพรรคฝ่ายค้านไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ก็ยังมีพรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคอื่นๆ ที่อยู่ในฝ่ายค้านและมีสิทธิ์มีเสียงในการอภิปราย

แน่นอนว่าพรรคฝ่ายค้านจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่เราก็อยู่คนละพรรค ซึ่งอาจจะเอนซ้ายหรือเอนขวาไปหน่อย เพราะแต่ละพรรคมีนโยบาย มีฐานเสียง วิธีคิด อุดมการณ์การเมืองของ ตัวเอง มีประวัติศาสตร์การเมืองแตกต่างกัน จะไปคาดหวัง ให้เหมือนกันทั้งหมดแล้วเรียกว่าเอกภาพคงเป็นไปไม่ได้ ในที่ประชุมต่างก็มีการถกจนเห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละพรรค แต่เมื่อถึงนาทีสุดท้ายก็จะมีข้อสรุปว่าแต่ละพรรคจะเอาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเมือง

ดังนั้น ในเรื่องของมหภาค พรรคฝ่ายค้านจะมีแนวคิดใกล้เคียงกัน ทิศทางทางเดียวกัน แต่เรื่องของจุลภาคก็จะแตกต่างไปตามดีเอ็นเอของแต่ละพรรค

  • ไม่คาดหวังว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี พรรคก้าวไกลพร้อมทำหน้าที่แทน

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบความสำเร็จในการรักษาอำนาจ และการสืบทอดอำนาจ แต่ไม่มีความสามารถในการปกครองและการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้

ผมพร้อมทั้ง 2 รูปแบบ หากรัฐบาลไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง แต่ด้วยเล่ห์กลวิธีที่สกปรก ใช้มือที่มองไม่เห็น ใช้อภิสิทธิ์ชน การไม่คำนึงถึงนิติรัฐ แล้วอยากจะอยู่ให้ครบถึง 4 ปี ผมก็ไม่รู้ว่าพี่น้องประชาชนจะทนได้หรือไม่

ฉะนั้น ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน จะอยู่ครบหรือไม่ครบ 4 ปี พรรคก้าวไกลก็พร้อมที่จะเป็นรัฐบาล และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนในทุกมิติ เพราะประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อให้มีที่ยืนในเวทีโลกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน