‘บิ๊กตู่’ตั้งวงถกร่างกฎหมายสำคัญ ที่ต้องออกภายใน 1 ปี กำชับทุกหน่วยงานทำตามกรอบเวลา ‘มีชัย’ จวกกกต. ดักคอ‘คว่ำ’กฎหมายลูก เพื่อยื้อโรดแม็ป ชี้เป็นเรื่องสมมติไปเรื่อย ถามกลับถ้าหาก กกต.ตกเครื่องบินตายหมดต้องเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ ‘สมชัย’สวนกลับทันควัน ถ้ากรธ.ตายหมดโรดแม็ปเลื่อนแน่ ‘เพื่อไทย’สั่งลูกพรรคงดจ้อการเมืองช่วงเดือนต.ค. ‘มาร์ค’ระบุหลังผ่านพ้นพระราชพิธีสำคัญค่อยว่ากัน ‘แม้ว’ส่งทนายขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด จี้ทบทวนคำสั่งฟ้องคดีหมิ่นเบื้องสูง โฆษกทบ.โต้ซื้อรถถังจีนแพง

‘บิ๊กตู่’หารือความคืบหน้ากม.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือเป็นการภายใน ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผบ.ทบ.

ต่อมาเวลา 11.50 น. นายดิสทัต เปิดเผยภายหลังการหารือว่า นายกฯไม่ได้สอบถาม หรือเร่งรัดการออกกฎหมายประกอบรัฐ ธรรมนูญ เป็นเพียงการติดตามความคืบหน้ากฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายกฯ กำชับกฤษฎีกาให้พิจารณากฎหมายตามกรอบเวลาเท่านั้น

‘วิษณุ’ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกร

นายวิษณุกล่าวว่า เป็นการติดตามความคืบหน้าของกฎหมายฉบับต่างๆ จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 1 ปีดำเนินการได้ขนาดไหนเพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศใช้ได้ทัน โดยขอให้รัฐมนตรีบางคนช่วยกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนายกฯ กำชับทุกฝ่ายเคร่งครัดทำตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วย

ส่วนกฎหมายทรัพยากรน้ำ อยู่ในการพิจารณาของสนช. ให้คณะกรรมการไปรับฟังความคิดเห็นด้วย ซึ่งในหลักการได้พูดกันว่าไม่มีเรื่องการเก็บค่าน้ำเกษตรกรอย่างที่ พูดกันเป็นอันขาด จะเก็บเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเยอะ

กฎหมายวันนี้พูดกันชัดเจน รัฐไม่มีเจตนา ไม่ได้หน้ามืด ตาบอด หูบอด ต้องการเก็บค่าน้ำ หรือถังแตก กฎหมายนี้เป็นกฎหมายจัดสรรทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่กฎหมายเก็บสตางค์ค่าน้ำ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำลังดำเนินการ ไม่ได้ให้ชะลอ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นทางสภาก็มีกรอบเวลา

แจงกรอบวันเลือกตั้ง

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับไม่มีการหารือ เพราะไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของสนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) อย่างไรก็ตามเมื่อประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)สามารถกำหนดวันเลือกตั้ง จะช้าหรือเร็วก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใน 150 วัน เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้กกต.แจกใบเหลืองใบแดงและประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน หากการเลือกตั้งสุจริตประกาศผลได้เร็ว 30 วันอาจจะเสร็จ เสร็จเมื่อไรก็ประกาศผลได้เลย และเมื่อประกาศผลเลือกตั้งแล้ว จะได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภา แล้วมีการเลือกประธานสภา เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อประธานสภาจะกำหนดวันโหวตเลือกนายกฯ ต่อไป

เมื่อถามว่าพรรคการเมืองจะหาเสียงเลือกตั้งได้เมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า การหาเสียงของพรรค ไม่เกี่ยวกับคำสั่งคสช. แต่จะทำได้ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ส่วนที่ว่า กกต.เป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ๆ จะประกาศได้ ต้อง มีพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปก่อน ซึ่งเมื่อมีพ.ร.ฎ.แล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ จะลดหย่อนลงมาเพราะเป็นเทศกาลหาเสียง

‘มีชัย’ฉุนกกต.ปมยื้อเลือกตั้ง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ว่า ทบทวนรอบสองใกล้เสร็จแล้ว โดยกำหนดให้การเลือกไขว้มีรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงสมัครได้รับรู้ขั้นตอนว่า ขั้นไหนเลือกตัวเองได้ ขั้นไหนเลือกตัวเองไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กกต.ประเมินว่า หากมีการคว่ำกฎหมายลูกสัก 1 ฉบับ โรดแม็ปเลือกตั้งต้องเลื่อนจากเดือนพ.ย.2561 ออกไป นายมีชัยกล่าวว่า ก็สมมติกันไปเรื่อย ถ้าสมมติกกต.ตกเครื่องบินตายทั้งหมด แบบนี้การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไปใช่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เดากันไป

ยันให้ป.ป.ช.ทำคดี 2 ปีพอแล้ว

ต่อข้อถามถึงกรณีที่มีเสียงสะท้อนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงกรอบเวลา 2 ปี ในการทำคดีที่ระบุในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. น้อยเกินไปนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ตามร่างกฎหมายลูกที่ส่งให้ป.ป.ช.พิจารณามีการเปิดช่องให้ขยายเวลาได้ แต่ต้องชี้แจง เพื่อไม่ให้คดีมันหายต๋อมไป ประชาชนจะได้รู้ด้วยว่า ป.ป.ช.มีประสิทธิภาพแค่ไหน ป.ป.ช.จึงต้องบอกมาว่า ต้องการจะใช้เวลาในการทำคดีกี่ปี

ส่วนเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่หลวงเสียหายหลักหมื่น แต่ต้องตรวจสอบเป็นแสนเป็นล้าน เช่น ข้าราชการเอารถที่ทำงาน ไปใช้ส่งลูกเมีย ก็เปิดช่องให้ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับไปให้ต้นสังกัดสอบกันเอง แล้วก็คอยติดตาม หากมีการช่วยเหลือกัน ค่อยดึงเรื่องกลับมาทำเอง เชื่อว่า ป.ป.ช.คงไม่พอใจที่ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสอบป.ป.ช. แต่กรธ.ไม่ได้ตัดอำนาจป.ป.ช.ทั้งหมด เพราะเมื่อมอบให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เป็น ผู้สอบแล้วต้องส่งกลับมาให้ป.ป.ช.ดู หากให้เจ้าหน้าที่สอบกันเองแล้วจะถ่วงดุลได้อย่างไร คาดว่าจะนำความเห็นจากป.ป.ช.มาประกอบการพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า ตรงไหนมีเหตุผลจะปรับแก้ให้ แต่หากขัดเจตนารมณ์คงปรับไม่ได้

‘สมชัย’สวนกลับ‘มีชัย’

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ระบุว่าหากกกต.เครื่องบินตกตายหมดก็ต้องเลื่อนเลือกตั้งเหมือนกันว่า หาก กกต.ตกเครื่องบินตายหมด ก็ต้องสรรหา กกต.ใหม่ ซึ่งถ้าตายกันตอนนี้ ยังน่าจะทันเลือกตั้ง โรดแม็ปไม่เคลื่อน แต่ถ้าเป็นชุดใกล้เลือกตั้งคงปั่นป่วน แต่ต้องระวังอย่าให้ กรธ.ตายหมด เพราะยังเหลือกฎหมายลูกสำคัญอีกสองฉบับ เดี๋ยวต้องหาคนร่างใหม่ จะทำให้โรดแม็ปเคลื่อน

นายสมชัย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้การประกาศวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. หากกกต.ชุดนี้ยังปฏิบัติหน้าที่ จะพิจารณาว่าเมื่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อใด จะประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง โดยจะดูความเหมาะสม ซึ่งต้องอยู่ภายใน 150 วัน ส่วนตัวเห็นว่าระยะเวลาที่นายกฯะบุว่า เดือนมิ.ย.2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งคือเดือนพ.ย.2561 รวมแล้ว 5 เดือนคือ 150 วันเต็ม เท่ากับนายกฯ คิดว่าเวลา 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น หมายถึงเฉพาะแค่จัดเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ แต่ตนมองว่าควรรวมถึงการประกาศผลเลือกตั้งด้วย

ย้ำ 150 วันต้องรวมรู้ผลเลือกตั้ง

นายสมชัย กล่าวว่า ถ้าพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 269 (ก) ที่ให้ กกต.ต้องจัดเลือกตั้งส.ว. 200 คน กฎหมายใช้ถ้อยคำเดียวกับมาตรา 268 ว่า ให้กกต.จัดเลือกตั้งส.ว. 200 คนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่จะมีการเลือกตั้งส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน ดังนั้นถ้อยคำว่า ให้แล้วเสร็จ ตามมาตรา 268 จึงน่าจะเป็นความหมายเดียวกับมาตรา 269 (ก) คือจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ต้องรวมถึงการประกาศที่ได้ส.ส. 375 คนแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับ กกต.ขณะนั้นว่าจะมีความกล้าหาญตัดสินใจอย่างไร เพราะจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคต หากพรรคที่แพ้เลือกตั้งนำเรื่อง 150 วันไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือ นำมาเป็นประเด็นการเมือง

เมื่อถามว่ามีเสียงเรียกร้องให้พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง นายสมชัยกล่าวว่า นายกฯไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ให้นำความตามาตรา 264 วรรคท้าย กำหนดให้เอาความในมา 263 วรรคเจ็ด ที่ระบุว่า หากรัฐมนตรี และสนช. จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องพ้นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 90 วันนับแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเลยช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว

จ่อออกระเบียบตั้งพรรคใหม่

นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนการไปตั้งพรรคใหม่ก็ทำไม่ได้ เนื่องจากต้องรอปลดล็อกพรรค จึงจะดำเนินกิจกรรมการเมืองได้ รวมถึงการขอจดแจ้งจัดตั้งพรรค แต่กรณีหากจะเป็นนายกฯ คนนอก กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่ต้องเป็นเหตุในกรณีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีของพรรค

“หากพิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ 57 จะเห็นว่ามีข้อห้ามหลายอย่าง ห้ามพรรคจัดประชุมใหญ่ ดำเนินกิจกรรมการเมืองใดๆ จดทะเบียนตั้งพรรค และห้ามนำเงินกองทุนพรรคไปอุดหนุนพรรค หรือแม้แต่จะขอแบบฟอร์มเพื่อไปเตรียมตั้งพรรคใหม่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะกกต.ยังไม่ได้ออกระเบียบรองรับ แต่คาดว่าจะออกระเบียบได้ในวันที่ 16 ต.ค. และมีผลบังคับใช้ ช่วงที่คสช.จะปลดล็อกพรรคพอดี” นายสมชัยกล่าว

‘บิ๊กกุ้ย’ห่วงงานไร้คุณภาพ

ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งข้อเสนอแนะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้กรธ.ว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ในวันนี้ได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นครั้งที่สอง ก่อนเสนอความเห็นกลับไปที่กรธ. ซึ่งมีหลายประเด็นที่ป.ป.ช. กังวล โดยเฉพาะการใช้อำนาจของป.ป.ช.ที่แตกต่างจากอดีต และการกำหนดกรอบเวลาที่เคร่งครัด แม้การพิจารณาคดีจะเสร็จตามกรอบเวลา แต่กังวลเรื่องคุณภาพในขั้นตอนการไต่สวน ยิ่งในคดีทุจริต การสืบพยานหลักฐานต่างๆ เป็นเรื่องยาก

ที่ผ่านมาป.ป.ช.มีกรอบเวลาพิจารณาคดีตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่กรอบที่กรธ.กำหนดนั้น อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการไต่สวนคดีที่จะส่งต่อไปยังอัยการสูงสุดและศาล เจ้าหน้าที่อาจกังวลเรื่องกรอบเวลา เพราะหากทำไม่ทัน เขาต้องรับโทษ ดังนั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ อาจเป็นโทษได้เหมือนกัน

ชี้บางประเด็นส่อขัดรธน.

“ร่างดังกล่าวเป็นเพียงร่างแรกที่กรธ.ส่งมา และเราอยากไปชี้แจงกับกรธ.ก่อนจะส่งให้สนช. แต่ในขั้นแปรญัตติของสนช. จะต้องมีคนของป.ป.ช.เข้าไปอยู่ด้วย โดยจะใช้เวทีนี้ ชี้แจงเรื่องต่างๆ และอยากให้กรธ.ช่วยรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติ เราไม่ต้องการอะไรนอกจากการทำงานอย่างมืออาชีพ ให้มีประสิทธิภาพสมกับความคาดหวังของประชาชน และหลายเรื่องที่กรธ.กำหนดในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนคุณสมบัติของกรรมการป.ป.ช.นั้น ไม่มีการโต้แย้งเพราะเห็นด้วยที่จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” พล.ต.อ. วัชรพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรธ.เห็นว่าป.ป.ช.คงไม่สามารถทำงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทุจริตของสหประชาชาติได้ พล.ต.อ. วัชรพลกล่าวว่า คงไม่มีหน่วยงานไหนที่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้แล้วเสนออยากทำ ขณะที่การทำงานของป.ป.ช.ก็ถูกตรวจสอบเช่นกัน หากทำไม่ได้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติ

‘มาร์ค’จี้หยุดเถียงเรื่องการเมือง

ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวถึงกรอบการเลือกตั้งที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ระบุจะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.2561 ว่า ถือว่ามีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในเดือนต.ค.ซึ่งมีงานพระราชพิธี ยังไม่จำเป็นที่นักการเมืองจะทำกิจกรรมใดๆ และไม่ควรเอาการเมืองมายุ่ง ควรหยุดวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองก่อน เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากไม่อยากเห็นบรรยากาศการโต้เถียงในช่วงนี้ อยากให้ทุกพรรคร่วมกันรักษาบรรยากาศของบ้านเมือง เพื่อประชาชนคนไทยมีส่วนร่วมในพระราชพิธีด้วยบรรยากาศที่ดี ถือเป็นการรวมจิตใจคนไทยทั้งประเทศเพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นในความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

หากผ่านพ้นช่วงสำคัญในเดือนต.ค.ไปแล้ว เชื่อว่าพรรคจะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งกรอบเวลาไม่ช้าเกินไป ถึงแม้จะปลดล็อกพรรคแล้ว แต่สมาชิกพรรคยังต้องรอระเบียบการเป็นสมาชิกพรรคจากกกต. เพราะปัจจัยหลักที่พรรคจะเริ่มทำกิจกรรมได้คือ การรับทราบระเบียบการเป็นสมาชิกพรรคและการหาสมาชิกพรรค จึงอยากให้กกต.เร่งทำระเบียบให้เสร็จโดยเร็ว

หลังต.ค.ค่อยว่ากันอีกที

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ระหว่างที่พรรคยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ตนมอบหมายให้สมาชิกพรรคทำเบื้องต้น ดังนี้ 1.กลไกที่เกี่ยวข้องกับการบริหารภายในต้องให้เหมือนกับกฎหมายใหม่ และ 2.เรื่องอุดมการณ์และนโยบายโดยได้มอบหมายให้นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปปรับปรุงข้อบังคับ ส่วนนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นประธานฝ่ายนโยบาย ทำความเหมาะสมเรื่องนโยบายที่ต้องเข้าไปอยู่ในข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ สิ่งเหล่านี้ทำเป็นการภายใน และเมื่อมีโอกาสประชุมพรรคได้เมื่อไรจะมีความพร้อมในการนำเสนอเรื่องนี้เข้าไป สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่พรรคการเมืองน่าจะสามารถทำเป็นการภายในได้ ให้พ้นเดือนต.ค.ไปก่อนก็ค่อยว่ากันอีกที

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีความชัดเจนเรื่องช่วงเลือกตั้ง พรรคได้คุยกันภายในว่าอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยอะไรเป็นพิเศษ แต่ดีใจที่เรื่องนี้จะไม่ต้องมาเป็นเรื่องถกกันไปเถียงกันมาและจบเสียที เพราะก่อนหน้านี้มีประชาชนจำนวนหนึ่งใช้คำว่ารำคาญ ในเดือนที่มีพระราชพิธี ทำไมถึงต้องมาทะเลาะกันเรื่องนี้ ไม่มีใครไปกำหนดวันที่เลือกตั้งได้เพราะช่วงเวลาในรัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่นอยู่หลายขั้นตอน ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ก่อนมีการเลือกตั้งทุกคนต้องช่วยกัน เพราะประชาชนมีความคาดหวังว่าเมื่อเลือกตั้งแล้ว การแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องต่างๆ อาจมีกลไกที่จะมาตอบสนองได้มากขึ้น แต่ยังมีความเป็นห่วงว่าจะมีความวุ่นวายขัดแย้งกันหรือไม่ ฉะนั้นระยะเวลาปีกว่าๆ นี้ เราต้องมาช่วยกันทำ ทุกฝ่ายมั่นใจว่าหลังเดือน พ.ย.2561 ไปแล้วจะไม่มีเหตุการณ์แบบเดิมๆ กลับเข้ามา

เพื่อไทยฝากการบ้านกกต.

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9 ผ่านพ้นไปแล้ว กกต.ควรออกมาสร้างความชัดเจนเรื่องที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่กฎหมายลูก 4 ฉบับบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่ง กกต.ควรตีความตั้งแต่ตอนนี้ว่าการเลือกตั้งที่ครบถ้วนนั้นหมายรวมถึงการประกาศผลและการจัดเลือกตั้งซ่อมเพื่อให้มี ส.ส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเปิดประชุมสภานัดแรกใช่หรือไม่ และต้องกำหนดปฏิทินการเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาลสั่ง เพราะกกต.เป็นองค์กรอิสระไม่ใช่ลูกน้องรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุน และยังช่วยป้องกันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้บิดพลิ้วเรื่องการเลือกตั้งอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กกต.ควรเรียกประชุมพรรคการเมือง เพื่อให้มารับทราบแนวทางต่างๆ และหารือข้อสงสัยต่างๆ ร่วมกัน เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีข้อกำหนดมากมายที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม และต้องนำไปเผยแพร่ให้สมาชิกพรรคทราบ หาก กกต.ไม่รีบชี้แจงและทำทุกอย่างให้ชัดเจน พรรค การเมืองจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ทัน

แกนนำสั่งลูกพรรคงดจ้อช่วงต.ค.

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ คนนอกได้นั้น จะต้องมีเสียงในสภาเกิน 260 เสียง ไม่เช่นนั้นจะบริหารประเทศไม่ได้ จะติดขัดโดยเฉพาะเรื่องการอภิปรายงบประมาณหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าไม่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ล่ม ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ต้องมีพรรคการเมืองของตัวเอง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งพรรค แม้แต่พรรคนอมินีหรือเครือข่ายก็ยังไม่เห็นมีการขยับ ซึ่งการหาสมาชิกพรรคให้ครบไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในระยะเวลาสั้นๆ

นอกจากนี้ในการโหวตเลือกนายกฯ หากมีการเสนอนายกฯ คนนอก จะต้องมีการยกเว้นข้อบังคับ ซึ่งจะต้องใช้เสียง ส.ส. 2 ใน 3 นั้นก็เป็นเรื่องยาก ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ติดกับดัก เป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์พอสมควร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. เป็นต้นไป แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ขอความร่วมมืออดีต ส.ส.และสมาชิกพรรค ให้งดการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นในช่วงงานพระราชพิธี แต่หากมีประเด็นที่สำคัญๆ หรือเป็นประเด็นใหญ่ จึงจะพิจารณาให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องๆไป

‘แม้ว’ขอความเป็นธรรม อสส.

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความรับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีนายกฯ และพล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน อดีต ส.ว.เชียงราย ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด(อสส.) ภายหลังมีข่าวว่าอสส. มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการ กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ปอท.ได้ส่งสำนวนให้อัยการเมื่อปี 2558 โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการ เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวไว้เพื่อเสนออสส. พิจารณาต่อไป

นายโชคชัย กล่าวว่า เหตุที่มายื่นหนังสือวันนี้ เนื่องจากนายทักษิณได้ทราบข่าวว่า อสส.มีการสั่งฟ้องในมาตรา 112 กรณีในสัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลี เมื่อปี 2558 จึงต้องการทราบข้อเท็จจริงว่ามีคำสั่งฟ้องดังกล่าวจริงหรือไม่ และหากมีคำสั่งฟ้องจริง ขอให้อสส.มีคำสั่งทบทวนความเห็นดังกล่าวใหม่ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งฟ้องมีความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ จึงขอให้สอบคำให้การพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก ประกอบด้วย ผู้สื่อข่าวซึ่งสัมภาษณ์ที่เกาหลี เพื่อสอบสวนประเด็นการตั้งคำถามและขอบเขตของการสัมภาษณ์ และพยานที่เหลือ อาทิ พล.ต.อ. วิรุฬห์ ฟื้นแสน และนักวิชาการ ที่จะให้สอบสวนในประเด็นตีความและความเข้าใจในคำสัมภาษณ์และความรู้สึกว่าเมื่อรับฟังการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ แล้วเข้าใจอย่างไร

โฆษกทบ.โต้ซื้อรถถังจีนแพง

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีมีการเปิดเผยข้อมูลในโซเชี่ยลมีเดียถึงรถถัง VT4 (MBT-3000) ของกองทัพบก ที่ซื้อระยะ 2 จำนวน 10 คัน วงเงิน 2 พันล้านบาท จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มีราคาสูงถึงคันละ 200 ล้านบาท แต่ประเทศอื่นซื้อได้ในราคาคันละ 103.2 ล้านบาทเท่านั้น จนเกิดคำถามถึงส่วนต่างคันละกว่า 96 ล้านบาท หายไปไหนว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงมาก เนื่องจากรถถังVT4 ของจีนยังไม่ได้ขายให้กับประเทศอื่น แค่ผลิตใช้ประจำการในกองทัพจีนเท่านั้น ล่าสุดจีนได้ขายให้กับกองทัพบกไทย ส่วนเรื่องราคานั้น กองทัพบกซื้อมาคันละ 172 ล้านบาท ไม่ใช่คันละ 200 ล้านบาท

“เมื่อเปรียบเทียบกับราคาของรถถังประเทศอื่นๆ ที่มาร่วมเสนอราคา ตอนเริ่มจัดทำโครงการจัดซื้อรถถัง VT4 ของจีน มีราคาต่ำที่สุดแล้วและมีคุณภาพดี โดยคณะกรรมการของกองทัพบก ได้ไปดูการทดสอบและการผลิตด้วยตนเองในทุกขั้นตอน” พ.อ.วินธัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน