รมว.ต่างประเทศ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” จับตา นโยบาย “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ แก้ GSP – มีเรื่องใดที่จะมาเชื่อมโยง ภูมิภาคเราบ้าง

เมื่อเวลา 10.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์ ไทย และสหรัฐฯ หลัง นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า นายไบเดน ดำเนินการสิ่งที่เขาเห็นต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนในทันที โดยเฉพาะการยกเลิกกฎหมาย 17 ฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆที่เคยเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลนี้จะเข้ามาปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแนวทางของตัว

เมื่อถามว่าประเทศไทยจะได้รับผลดีจากการที่นายไบเดนเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอย่างไรบ้าง นายดอน กล่าวว่า ต้องคอยดูกันต่อไปว่า จะมีเรื่องใดที่มาเชื่อมโยงกับภูมิภาคเราบ้าง หรือจะเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญกับเราอย่างไรบ้างซึ่งต้องให้เวลาก่อน แต่น่าสนใจตรงที่ว่าปกติเข้าจะใช้เวลา 100 วันในการปรับตัว แต่นี้เพียงแค่วันที่ 2 เขาก็เริ่มทำงานแล้ว

เมื่อถามว่าสำหรับประเทศไทยความสัมพันธ์ ไทยสหรัฐฯจะยังคงรูปแบบเดิมหรือต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์กับประธานาธิบดีคนใหม่ นายดอน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐมีมายาวนาน ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลอเมริกามาโดยตลอด แต่ภาพรวมความสัมพันธ์ก็ดีมาตลอด อาจมีความตื่นเต้นบ้างในบางด้าน

อย่างเช่น กรณีระบบการให้สิทธิ พิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ที่สมัยนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดี ไม่ได้แตะเลย แต่พอมารัฐบาล นายโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญเรื่องการค้าประเทศไหนที่มีการค้าที่ได้เปรียบก็จะอยู่ในเป้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งเรื่องที่ นายไบเดน เห็นต่าง

เมื่อถามว่าการปรับเช่นนี้เราได้ประเมินหรือไม่ว่าประเด็น GSP จะกลับไปเหมือนสมัยนายบารัค โอบามา หรือไม่ นายดอน กล่าวว่า ก็ต้องดูเขาแต่เรื่องนี้อยู่ในวิสัยที่เราคุยต่อกันได้ เพราะได้คุยกันแล้วตั้งแต่แรกเริ่มยุครัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยซ้ำไป

เมื่อถามว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลสหรัฐ เราจะมีข้อหารือที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ขึ้นหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่สอดคล้องกับงานที่เราทำเช่นเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนไปทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลที่แล้วเขาไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่นี้เป็นหนึ่งใน 17 รายการที่นายไบเดนจะกลับมาให้ความสำคัญ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสากลและประเทศไทยก็ให้ความสำคัญ

และเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ก็มีการประชุมอาเซียน ที่ประเทศบรูไน เป็นเจ้าภาพก็ได้มีการพูดคุยเรื่องสภาพอากาศ และประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาเรื่อง โมเดลเศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ บีซีจี ว่าจะมาเป็นยุทธศาสตร์ของอาเซียนหลังโควิดหรือไม่ เมื่อเราได้รับมอบหมายก็เป็นจุดที่ดีที่จะทำให้เราเชื่อมกับทางสหรัฐได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน