ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ หนุ่มโรงงาน โปรยใบปลิวต้านรัฐประหาร แต่ให้โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 26 ม.ค.64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดระยอง นัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีของ นายพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 28 ปี อดีตพนักงานช่างเทคนิคประจำโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโปรยใบปลิวที่มีข้อความ “ตื่น!!! และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว… ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน…เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อแสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร ในจังหวัดระยองเมื่อปี 2558

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงคืนวันที่ 21 มี.ค. 58 เมื่อพบว่ามีผู้นำใบปลิวกระดาษ A4 พิมพ์ข้อความดังกล่าว และยังมีภาพมือชูสามนิ้ว และรูปพื้นหลังเป็นกรณีการประหารชีวิต “ครูครอง จันดาวงศ์” ในใบปลิว ไปโปรยกระจายในพื้นที่ 4 จุด ภายในจังหวัดระยอง ได้แก่ ที่หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง, ทางเข้าสวนศรีเมือง, หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และม้าหินอ่อนหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง

วันนี้ ศาลจังหวัดระยอง อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งจัดทำตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงในคดีฟังยุติได้ว่าในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้นำใบปลิวซึ่งมีข้อความว่า “ตื่น!!! และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว… ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน…เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่มีข้อความว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ต่อต้านรัฐประหาร” หลายแผ่น ไปทิ้งโปรยในจุดต่างๆ ของตัวเมืองระยอง

ศาลเห็นว่าแผ่นปลิวที่นำไปโปรยทิ้งนั้นมีข้อความลักษณะเป็นการชักชวนประชาชนที่พบเห็นและมีความคิดเห็นในทางการเมืองเช่นเดียวกับจำเลย ให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศจากการยึดอำนาจ และควบคุมอำนาจของการปกครองประเทศของ คสช. ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน ความวุ่นวาย ความรุนแรง หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรได้ และประชาชนทั่วไปจะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่ลงโทษจำคุกจำเลยมีระยะเวลาสั้นเป็นเวลา 4 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จะเป็นเหตุให้จำเลยต้องมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากจะกลับมาประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุก ย่อมจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

อ่านฉบับเต็ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน