‘บิ๊กตู่’ โต้ล้าสมัย 20 ปี ย้ำอีกยุทธศาสตร์ชาติ ให้ทุกคนทุกพรรคช่วยคิดตามกรอบที่ คสช.วางไว้ ไม่ใช่ติดกับ ลั่นจ้องสร้างประชาธิปไตยที่คงเอกลักษณ์ไทย อัยการยื่นขอเวลาอุทธรณ์คดีข้าวจีทูจี ด้านทนายจำเลยมั่นใจพ.ย.นี้ยื่นอุทธรณ์แน่ ศาลให้ประกัน ‘เบญจา’ และพวก พิศิษฐ์ชี้สอบป.ป.ช.เป็นนวัตกรรมใหม่ ติง ม.108 สกัดนั่งผู้ว่าฯ สตง. โอ๊คโวยดีเอสไอ แพร่ภาพเข้าให้ปากคำละเมิดสิทธิ์

ตู่ลั่นสร้างปชต.คงเอกลักษณ์ไทย

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยมีอีกหลายปัญหาที่รอการแก้ไข ทั้งจากภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือจากประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุด “เกาถูกที่คัน” ตามที่ต้องการอย่างทั่วถึง ถ้ามีวิธีที่ดีกว่านี้ก็บอกตนมา ถ้าทำอย่างนี้แล้วมันยังไม่ดีพอ จะเอายังไงก็บอกมาได้ เสนอความเห็นมาได้ แต่อย่าไปบอกว่าควรจะใช้งบประมาณเหมือนเดิม เป็นไปไม่ได้ในวันนี้และวันหน้า

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนขอถ่ายทอดแนวความคิดของตนและของรัฐบาลที่คุยกัน หาหนทางที่เราจะต้องร่วมกันแก้ไขต่อไปคือ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรประชาชนเข้มแข็งขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีส่วนร่วมในนโยบายและการบริหารของประเทศมากขึ้นในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนต้องเรียนรู้พื้นฐานระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่แบบเดิมๆ ที่ผ่านมา

เราต้องเป็นประชาธิปไตยที่คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ช่วยกันคิด ถือว่าจำเป็น ถ้าวันนี้ เราจะไปสู่ประชาธิปไตยวันหน้า เราต้องเข้าใจระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ ให้มากขึ้น วันนี้ที่มันยาก ที่มันช้าเพราะเราทำไปทั้งประเทศ แต่ถ้าเราทำเป็นกลุ่มมัน ก็ไม่ยาก ถ้าประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง มันก็ลำบาก

แจงยุทธศาสตร์ 20 ปี-ช่วยกันคิด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขอความเห็นของนักการเมืองทุกพรรคด้วย เราจำเป็นต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปติดกับ 20 ปีล้าสมัย แต่เราต้องการให้มีความต่อเนื่อง ไม่สะดุด ทุกรัฐบาลเดินหน้าไปตลอด 20 ปี จะมีนโยบายต่างๆ ก็ต้องร่วมกัน ทุกพรรคช่วยกันวางกรอบ ตามที่รัฐบาลและคสช.ได้วางไว้แล้วในขั้นต้น ตนเพียงแต่วางไว้ให้ ต่อไปจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ว่าตามกฎหมายที่มีอยู่ การร่วมมือกันทำงาน แน่นอนทุกความคิดทุกวิธีการมันมีแตกต่างกัน แต่ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ชาติ อะไรคือนโยบายพรรค เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกด้าน บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในภาพรวมอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจกัน ช่วยกันทำในสิ่งดีๆ ให้กับคนไทยด้วยกัน เราต้องช่วยกันคิด เกื้อกูลกันให้เกิดการกระจายรายได้ เกิดความเป็นธรรม ไปถึงทุกคนทุกกลุ่ม รวมทั้งยึด โยงไปสู่ผู้มีรายได้น้อยในทุกระดับด้วย ข้อสำคัญ เราต้องแก้ปัญหาทุจริตให้ได้ในทุกระดับ ทั้งการสร้างระบบป้องกัน ระบบแก้ไข ระบบการบริหารจัดการต่างๆ ให้โปร่งใส อย่าคิดว่าราชการจะใช้กฎหมายได้อย่างเดียว มันต้องอาศัยความร่วมมือด้วย ต้องจัดทำกฎหมายที่เกื้อกูล ทั้งหมดนี้เป็นแนวความคิดของนายกฯ และรัฐบาลที่ต้องการจะสื่อสารให้คนไทยทุกคนทุกกลุ่ม ได้ร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป ไม่อยากให้เข้าใจกันผิดพลาดอีก

อัยการขอยืดอุทธรณ์ข้าวจีทูจี

วันเดียวกัน นายกิตินันท์ ธัชประมุข อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน คณะทำงานรับผิดชอบโครงการจำนำข้าวและการทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาประเด็นพิพากษาคดีทุจริตระบายข้าว ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และอดีตรมช. อดีตข้าราชการ รวมทั้งเอกชนรวม 26 รายว่า วันนี้อัยการได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 2 ในการยื่นอุทธรณ์คดี ต่อแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เนื่องจากกระบวนการพิจารณาของอัยการยังไม่แล้วเสร็จ โดยขออนุญาตศาลขยายเวลาอีก 30 วัน หลังครั้งแรกศาลอนุญาตขยายเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ซึ่งจะครบวันที่ 25 ต.ค. ขณะนี้ยังไม่ทราบคำสั่งว่าศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งที่ 2 นานเท่าใด

นายกิตินันท์กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาประเด็นอุทธรณ์นั้นหลังจากได้สำเนา คำพิพากษาฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนครบแล้ว อัยการก็ตรวจดูและสรุปประเด็นไว้มีความก้าวหน้าเกินกว่าร้อยละ 50 แล้ว โดยดูประเด็นทั้งหมดไม่ว่าเรื่องที่ศาลยกฟ้องจำเลยเอกชนบางส่วน และฐานความผิดว่าที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องจำเลยที่แม้ศาลจะพิพากษาลงโทษนั้นได้ลงโทษทุกข้อกล่าวหาหรือไม่ และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ ที่จะเป็นผู้เสียหายในการยื่นคำร้องขอชดใช้ความเสียหาย โดยประเด็นหน่วยงานราชการที่เสียหายก็มีความจำเป็นต้องพิจารณาอุทธรณ์เพราะคำพิพากษาของศาลจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในกรณีอื่นด้วยว่า หากหน่วยงานราชการอื่นเสียหายต้องให้กระทรวงคลังมีสิทธิเพียงหน่วยงานเดียว หรือไม่ในการยื่นคำร้อง อย่างไรก็ดี คณะทำงานอัยการจะรายงานเรื่องความคืบหน้าการอุทธรณ์นี้ให้นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ทราบด้วยเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญและคดีนี้อัยการสูงสุดก็เป็นโจทก์ฟ้องคดีตามกฎหมายและคำฟ้องด้วย

จำเลยจ่ออุทธรณ์ พ.ย.นี้

ด้านนายธนากร แหวกวารี ทนายความของนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและกลุ่มอดีตข้าราชการกรมการค้าต่างประเทศจำเลยที่ 4-6 คดีทุจริตระบายข้าว กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยด้วยว่า ในส่วนของจำเลยที่ตนรับผิดชอบดูแลนั้น ได้ขยายเวลา ยื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว และ ศาลฎีกาฯ ก็อนุญาตให้ขยายเวลาได้จนถึงประมาณวันที่ 20 พ.ย.นี้

นายธนากรกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดีได้ร่างประเด็นคำอุทธรณ์เกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้าหรือต้นเดือนพ.ย.นี้ จะยื่นคำอุทธรณ์คดีได้เรียบร้อย

ศาลให้ประกัน‘เบญจา’

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกากรณีคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีตอบข้อหารือการคำนวณภาษีของนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตรในการซื้อหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอ เรชั่น จาก บ.แอมเพิลริช แล้วไม่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2549 เพื่อชำระภาษี ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี โดยทั้งหมดไม่รอลงอาญา

ภายหลังจำเลยทั้งหมดยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาคดีไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังจากมีการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว ปรากฏว่าวันนี้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้า โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และยังให้จำเลยทั้งหมดนำหนังสือเดินทางมามอบต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ และให้ศาลแจ้งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้ทราบ

เผยโดนขังวันแรกมีเครียด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ศาลได้ออกหมายปล่อยจำเลยทั้งห้า แล้วส่งไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งเป็นที่คุมขังจำเลยทั้งหมด เพื่อให้ปล่อยตัวทั้งหมดออกจากเรือนจำ ซึ่งคาดว่าจำเลยจะได้รับการปล่อยตัวไม่เกินเวลา 20.00 น. ในวันเดียวกัน

นางชฎาพร รักษาทรัพย์ ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าวถึงราชทัณฑ์นำตัวนางเบญจา และพวก มาควบคุมตัวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า หลังรับตัวผู้ต้องขังทั้ง 4 รายมาควบคุมที่แดนแรกรับ ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้สอบประวัติและซักถามอาการป่วยเบื้องต้น ผู้ต้องขังบางคนมีโรคประจำตัวเป็นความดันและเบาหวาน แต่เตรียมยาส่วนตัวมาด้วย วันนี้แพทย์จะมาตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง คืนแรกผู้ต้องขังทุกคนมีอาการเครียดและเป็นกังวลเล็กน้อย เพราะเป็นผู้สูงอายุทุกคน แต่สามารถปรับตัวได้ โดยช่วงเช้ากินข้าวได้ตามปกติ

มีชัยรอดูร่างสตง.ฉบับสุดท้าย

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงมติสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การตรวจเงินแผ่นดินว่า กรธ.ยังไม่โต้แย้งอะไร เพราะยังไม่เห็นเนื้อหาสุดท้าย คงต้องรอให้สนช.ส่งร่างที่ผ่านวาระ 3 มาก่อน เพื่อดูรายละเอียดทั้งหมดว่าจะต้องยื่นข้อโต้แย้งเพื่อขอตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ร่วมหรือไม่ เบื้องต้นในมาตรา 7 สนช. ได้ยอมปรับแก้เนื้อหา ให้อำนาจผู้ว่าฯ สตง. สามารถไต่สวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช.ที่กระทำการทุจริตได้ ถือว่าปรับแก้ตามที่กรธ.เคยเสนอก่อนหน้านี้ ซึ่งกรธ.ก็ต้องพอใจ

ส่วนในมาตรา 108 ที่สนช.ได้ปรับแก้ช่วงท้าย กำหนดให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ สตง.มาก่อน ไม่สามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีกนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ประเด็นนี้กรธ.ไม่ได้เขียนไป แต่เป็นเรื่องใหม่ที่สนช.เขียนเพิ่ม ซึ่งกรธ.คงไม่โต้แย้ง เพราะการปรับแก้ของ สนช.ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าให้กรรมการในองค์กรอิสระไม่สามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีก ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ส่วนการดำเนินการดังกล่าวของ สนช.จะเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครผู้ว่าฯ สตง.หรือไม่ ก็ต้องไปตีความในเรื่องคุณสมบัติกันต่อไป

ชี้สอบปปช.เป็นนวัตกรรมใหม่

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีต ผู้ว่าการ สตง. กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีเนื้อหาให้ผู้ว่าฯ สตง. สอบเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ กรธ.ออกแบบให้ตรวจสอบถ่วงดุล ยึดหลักว่าองค์กรอิสระที่มีอำนาจตรวจสอบจะถูกตรวจสอบได้ด้วย สตง.ก็ถูกผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบเช่นกัน

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า การออกแบบของ กรธ.ครั้งนี้กำหนดแค่เจ้าหน้าที่ ในกรณีเมื่อ สตง.ตรวจพบว่ามีพยานหลักฐานเชื่อว่ามีการกระทำในทางมิชอบก็ตรวจสอบต่อได้ แต่มีขั้นตอนว่าเมื่อรวบรวมหลักฐานเสร็จจะต้องส่งประธานป.ป.ช. ว่าพบเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่มีปัญหา เป็นวิธีการเดียวกับที่ป.ป.ช.ตรวจสอบคนอื่น ถือเป็นวิธีชั้นสูงกว่าการสอบสวนแล้วชี้มูลกล่าวโทษ จึงเห็นว่ามีลักษณะคุ้มครองมากกว่า ส่วนที่วิตกกังวลว่าจะไปล่วงล้ำในเรื่องของสำนวน ในกรณีเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.เป็นเจ้าพนักงานไต่สวน การไต่สวนคดีจะถูกรบกวนนั้น ตนเห็นว่าเรื่องการตรวจสอบการเงินไม่มีเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบสำนวนหรือรูปคดี แต่ก็เห็นใจเพราะเป็นเรื่องใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องยอมรับเพราะทุกหน่วยงานต้องตรวจสอบถ่วงดุลเช่นนี้ เพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าปราศจากการตรวจสอบ แต่คนทำงานในป.ป.ช.ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลด้วย

พิศิษฐ์ติงสกัดนั่งผู้ว่าฯสตง.

นายพิศิษฐ์ยังกล่าวถึงมาตรา 108 วรรคท้าย ว่าผู้ที่เคยเป็นผู้ว่าฯ สตง.ก่อนกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ให้ถือว่าเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.มาก่อน ส่งผลให้อดีตผู้ว่าฯ สตง.จะมีปัญหาในการสมัครผู้ว่าฯ สตง.ใหม่ ว่า ตามกฎหมายปัจจุบันตนมีสิทธิลงสมัครรับการสรรหา โดยยึดตามคำสั่ง คสช. ที่ 71/2557 ซึ่งได้ดูอย่างรอบคอบแล้วว่า ผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ สตง. และเคยดำรงตำแหน่งแล้วยังสมัครได้อีก 1 วาระ อย่างน้อย 2 ปี ซึ่งคำสั่งนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่

“ดังนั้น ผมจึงมีคุณสมบัติลงสมัครได้ โดยถือว่าไม่เคยดำรงตำแหน่งใดในองค์กรอิสระตามความหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และที่ประชุมสนช.ก็ยอมรับ จึงไปกำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 108 เพื่อสกัดกั้น ซึ่งการถือว่าเคยดำรงตำแหน่งตามกฎหมายอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้แล้ว ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมคงจะรับทราบและตรวจสอบได้ เพราะไม่เคยมีมาก่อน และสังคมต้องตั้งคำถามด้วยว่าเขียนกฎหมายมาตรานี้ออกมาแล้วบ้านเมืองได้ประโยชน์อย่างไร” นายพิศิษฐ์กล่าว

ยันไม่คิดถอนตัว

เมื่อถามว่าเชื่อว่าการเขียนในมาตรา 108 เป็นการสกัดกั้นใช่หรือไม่ นายพิศิษฐ์กล่าวว่า พอจะเห็นได้อยู่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. แต่กลับเขียนย้อนไปว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงพอทราบเจตนารมณ์อยู่ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้ในทางวิชาการไม่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องมา สกัดกั้นตน

นายพิศิษฐ์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามจะไม่ถอนตัวจากการลงสมัครเพราะไม่มีข้อห้าม ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้พิจารณา โดยคณะกรรมการสรรหาไม่เกี่ยวข้องกับประธานทั้ง 3 ศาล เป็นเรื่องของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นผู้สรรหา ตนมีหน้าที่นำเสนอแนวคิดการทำงานตามนโยบาย คตง.ชุดปัจจุบัน แต่ถ้าหลังจากกฎหมายออกแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขมาตรา 108 ก็ต้องเคารพตามนั้น แต่ระหว่างนี้หากมีการพิจารณาทบทวนว่าขัดหลักนิติธรรมแล้วจะแก้ไขก็เป็นเรื่องของ สนช.หรือขั้นตอนที่ส่งไปยังนายกฯ พิจารณาทบทวน ตนจะไม่ยื่นเรื่องถึงนายกฯ ให้เป็นอำนาจของนายกฯ พิจารณาโดยไม่ขอก้าวล่วง

พท.หนุนตรวจสอบ‘ปปช.’

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ สตง.สอบเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ได้ว่า เห็นด้วย เพราะทุกอย่างควรต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งนี้ ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรหนึ่งก็ควรต้องมีการตรวจสอบด้วย เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ส่วนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ห้ามไม่ให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯ สตง. รวมถึงผู้ว่าฯ สตง.คนเก่าเข้าสมัครรับสรรหาได้อีกนั้น ตนมองว่าควรให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะถ้าเคยดำรงตำแหน่งมาแล้วก็คงจะมาเป็นอีกไม่ได้ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็สมัครได้ทั้งหมด

โอ๊คโวย‘ดีเอสไอ’ทำภาพหลุด

วันเดียวกัน นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำคลิปวงจรปิดที่ตนเองเข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้มาเปิดเผยว่า ที่ไปดีเอสไอเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาวันก่อน วันนั้นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้มาคุยกับตนว่า พวกเขาต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะคราวก่อนมีเจ้าหน้าที่แอบถ่ายภาพขณะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มารับทราบข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกันนี้ ต่อมาภาพหลุดออกไปยังสื่อมวลชน จนนายอภิสิทธิ์โทร.มาต่อว่าอธิบดี และจะฟ้องร้องฐานที่ดีเอสไอละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จนกระทั่งอธิบดีดีเอสไอต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน หาตัวคนที่ถ่ายภาพไปเผยแพร่

“เมื่อได้ยินดังนั้นผมจึงได้เงยหน้าและชี้ขึ้นไปที่กล้องวงจรปิด พร้อมกับกล่าวว่าถ้าภาพจะหลุดก็มาจากกล้องพวกนี้ เพราะดูแล้วไม่มีบุคคลอื่นใด ที่จะเข้ามาถ่ายรูปในนี้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่ากล้องนี้เป็นกล้องของทางราชการที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย ไม่ได้ใช้เพื่อการถ่ายรูปบุคคลใดๆ เพื่อนำไปส่งให้สื่อมวลชน”

จี้แจงมาตรฐานหน่วยงาน

นายพานทองแท้ระบุว่า มาวันนี้มีภาพตนขณะที่ไปรายงานตัวหลุดออกมาจริงๆ โฆษกดีเอสไอออกมายอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้ส่งภาพดังกล่าวให้สื่อมวลชน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าตนได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ถ้ามาตรฐานการทำงานของหน่วยงานต้นน้ำทางกระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมด้วยการละเมิดสิทธิบุคคลอื่นเช่นนี้ ประชาชนจะคาดหวังความยุติธรรมจากหน่วยงานนี้ได้อย่างไร

“ผมคงต้องถามไปยังโฆษกว่าหน่วยงานของรัฐระดับดีเอสไอไม่มีความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ไร้เครดิต ถึงขนาดต้องแคปรูปของบุคคลที่มารายงานตัวจากกล้องวงจรปิด เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่แถลงนั้นเป็นความจริงด้วยหรือ และคงต้องถามไปถึงอธิบดีดีเอสไอด้วยว่าลูกน้องท่านออกมายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าเป็นผู้นำภาพจากกล้องวงจรปิดไปส่งให้สื่อมวลชนเอง โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดอย่างอธิบดีคนก่อน จะพิจารณาโทษอย่างไร” นายพานทองแท้ระบุ

นายพานทองแท้ระบุว่า คงต้องถามไปถึง รมว.ยุติธรรม เนื่องจากที่ตนมั่นใจว่าการไปพบพนักงานสอบสวนครั้งนี้จะได้รับความเป็นธรรม เพราะท่านได้แถลงต่อสื่อมวลชนขอให้ตนไปรับทราบข้อกล่าวหาโดยยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรม ไม่มีการกลั่นแกล้ง ไม่ปฏิบัติลักษณะ 2 มาตรฐาน แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏมา ได้อย่างไร แต่ละคนช่วยตอบกันให้ดีๆ ตอบอย่างมืออาชีพที่เป็นตัวแทนของกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วย เพราะถ้าตอบว่าเรื่องนี้ถูกต้องแล้ว คงจะมีคนจ้องจะขอดูกล้องวงจรปิดของดีเอสไออีกหลายกรณี ซึ่งแต่ละกรณีที่ดีเอสไอดำเนินการมานั้นภาพคงจะน่าดูและน่าพิสูจน์มากกว่าภาพการไปรายงานตัวของตน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน