‘บิ๊กป๊อก’ถามลั่นแพงตรงไหน ยันจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วมูลค่า 573 ล้าน ได้ราคาถูกแล้ว ‘บิ๊กตู่’ สั่งงดตอบโต้ หวั่นกระทบบรรยากาศช่วงงานสำคัญ ปัดข่าวเก็บเบี้ยประกันสังคมเพิ่ม ย้ำรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร กรธ.ร่างกฎหมายลูกที่มาส.ว. เสร็จแล้ว เตรียมส่งสนช. 21 พ.ย. กกต.เร่งเขียนระเบียบพรรคการเมือง คาดเสร็จปลายเดือนนี้ คสช.ใช้ ม.44 เดินหน้า ‘ระเบียงเศรษฐกิจ’ ครม.ไฟเขียวกฎหมายคุ้มครองประชาชนต้านโกง เพิ่มโทษจนท.ใช้อิทธิพลข่มขู่ อสส.คนใหม่ชูนโยบาย 5 ด้าน หนุนอัยการร่วมสอบสวนคดี

คสช.จ่อใช้ม.44 ผลักดันอีอีซี

เวลา 09.00 น. วันที่ 24 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานประชุมการหารือร่วมระหว่างคสช.กับครม. ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและสมาชิกคสช.เข้าร่วมพร้อมเพรียง เสร็จแล้วนายกฯ เป็นประธานประชุมครม.

เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงถึงการประชุมร่วมครม.-คสช.ว่า ได้หารือคำสั่งต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการเกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รอร่างพ.ร.บ. ซึ่งกำลังพิจารณาในรัฐสภา แต่ในทางปฏิบัติหารือกันว่าต้องหาวิธีการให้การทำงานรวดเร็วขึ้น จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 บางประเด็น เพื่อให้เกิดการทำงานคู่ขนานไปให้ได้ภายใต้เวลาจำกัด ในเรื่องการลงทุนหลายประเทศ ก็ปรับปรุงพัฒนาส่งเสริมการลงทุนมากมาย เราก็ต้องเร่งพัฒนาเรื่องเหล่านี้

โต้ข่าวเก็บเบี้ยประกันสังคมเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนั้นมาตรา 44 จะจัดสร้างสำนักงานการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งจะใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ย้ายมาอยู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อบูรณาการให้ได้ทั้งระบบ ขณะเดียวกันจะจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำให้เข้ามาอยู่ในสำนักนายกฯด้วย เพื่อบริหารแผนงานทั้งวงจรทั้งระบบ หน่วยงานที่รับผิดชอบข้างล่างมีอยู่แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนข่าวกองทุนประกันสังคมจะขอเก็บเงินเข้ากองทุนสูงสุด 1,000 บาทนั้น รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น เป็นการเตรียมการ หารือกันมานานแล้วกว่า 15 ปี ก็กำลังหาทางทำให้เกิดความเข้าใจ มากยิ่งขึ้น เห็นมีข่าวว่าจะเก็บเงินเพิ่มตนยืนยันว่ายังไม่ได้ทำอะไร บางอย่างมีคนพูดไปก่อนสร้างความตกใจ รัฐบาลไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร รับฟังทุกปัญหา แต่จะแก้ปัญหาได้มากบ้างน้อยมากก็ว่ากันไป

สั่งงดโต้-เครื่องตรวจความเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธจะตอบคำถามสื่อมวลชนที่ส่งคำถามไปล่วงหน้า โดยกล่าวว่า เรื่องอื่นเอาไว้ก่อน รัฐบาลพยายามทำให้ได้มากที่สุด อะไรที่ไม่ใช่ประเด็นก็ลดๆไว้บ้างแล้วกัน ทั้งวันนี้และวันหน้า รัฐบาลจะปฏิรูปให้ได้ บางเรื่องทำไปแล้ว เป็นปฏิรูปเล็กให้เกิดปฏิรูปใหญ่ ก็บอกและย้ำไปหลายครั้งขอให้ติดตามกันต่อไป ขอเพียงกำลังใจให้กันและกัน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีมีการวิจารณ์การอนุมัติงบกลาง 573,075,000 บาท เพื่อจัด หาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา 849 เครื่องของกระทรวงมหาดไทย มีราคาแพงว่าที่ประชุมครม.พูดคุยกันเล็กน้อย นาย ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการครม. เป็นผู้ชี้แจง ส่วนพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่ได้รายงาน ในรายละเอียด ขณะที่นายกฯทราบถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว แต่กำชับว่าช่วงนี้ไม่อยากให้ตอบโต้ เพราะไม่อยากให้อะไรมาทำให้เสียบรรยา กาศของสังคมในวันนี้

เมื่อถามว่าเมื่ออนุมัติแล้วกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่มีสิทธินำไปใช้ตั้งด่านตรวจจับ แต่ต้องให้ตำรวจนำไปใช้แทน ใช่หรือไม่ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่กล้าตอบ กลัวมั่ว

มท.1 ยันไม่ได้ซื้อแพง

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมถึงเสียงวิจารณ์กรณีครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 573,075,000 บาท เพื่อจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา 849 เครื่อง แพงเกินจริงว่า ทราบว่าครั้งนี้ซื้อถูกกว่า ไม่เห็นว่าซื้อแพงกว่าตรงไหน แต่ขณะนี้ ปภ. ยังไม่ได้จัดซื้อ ยังไม่ได้เริ่มขั้นตอนใดๆ เพราะหน่วยงานที่จะจัดซื้อต้องวางสเป๊กพร้อมกำหนดทีโออาร์ว่าอยากได้เครื่องแบบใด โดยใช้มาตรฐานเดิมที่เคยทำมา เพราะเป็นมาตรฐานที่ยอมรับว่าใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล เมื่อซื้อมาแล้วค่อยไปวิพากษ์ตอนนั้นว่าซื้อถูกหรือแพง และเหตุผลที่จะซื้อเพราะอะไร

เมื่อถามว่างบที่จะจัดซื้อสามารถลดหรือเพิ่มได้อีกใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ลดได้แต่เพิ่มไม่ได้ เพราะกำหนดวงเงินไว้แล้ว ยืนยันว่าที่ผ่านมามีการซื้อเครื่องมือชนิดเดียวกันที่แพงกว่านี้ ดังนั้น ราคาที่จะซื้อตอนนี้จึงถูกกว่าที่ผ่านมามากพอสมควร

“ผมไม่อยากว่าคนที่อ้างว่าซื้อถูกกว่านี้ได้ ไม่เป็นไร เพราะเขากำหนดอยู่ที่สเป๊ก ถ้า สเป๊กอย่างนี้ที่จะซื้อ ใครว่าถูกขอให้มาบอก อย่าไปพูดข้างนอก ราคาจะพันจะหมื่นก็ได้ ตอนนี้ยังไม่ได้ซื้อ ปภ.จะเชิญสื่อไปร่วมฟังการชี้แจงด้วยเพื่อให้รับทราบว่ากำหนดสเป๊กอย่างไร ขอให้สื่อไปร่วม อย่าไปพูดโดยไม่เกิดประโยชน์” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

กม.ที่มาสว.เสร็จแล้ว-ส่งสนช.21พย.

ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. เผยว่า กรธ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งให้ กกต.ทำความเห็นส่งกลับมายังกรธ.อีกครั้ง โดยขอให้ส่งความคิดเห็นมาก่อนที่กรธ.จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยัง สนช.ในวันที่ 21 พ.ย. เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะการประชุมของกรธ.ก็มีตัวแทนกกต.ประชุมด้วยตลอด

นายนรชิตกล่าวว่า หลักการทั่วไปของร่างกฎหมายฉบับนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามเดิมทุกประการ เช่น การให้ผู้สมัคร ส.ว.ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี หากระหว่างการเลือกส.ว. ผู้สมัครรายใดกระทำการทุจริตจะถูกตัดสิทธิทันทีและส่งเรื่องให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต่อไป

“เชื่อว่าเมื่อถึงขั้นตอนการเลือกส.ว.ในทางปฏิบัติแล้วไม่น่ามีปัญหามากนัก เนื่องจากช่วง 5 ปีแรก คสช.จะเป็นผู้เลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งส.ว. จึงคิดว่าคสช.น่าจะคอยติดตามตรวจสอบอยู่เป็นระยะ” นายนรชิตกล่าว

คาดปลายต.ค.ออกระเบียบพรรค

ที่สำนักงาน กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองว่า กกต.กำลังเร่งยกร่างระเบียบซึ่งเสร็จไปแล้วบางส่วน เชื่อว่าจะพิจารณาเสร็จทั้งหมดปลายต.ค.นี้ คาดเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ คสช.ปลดล็อกพรรคให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ส่วนขั้นตอนส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น คงไม่มีปัญหา ถ้าเป็นไปได้ อยากให้อยู่ในจังหวะเดียวกัน หรือช้ากว่า 1-2 วัน แต่คงไม่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติของพรรค

นายสมชัยกล่าวว่า การพิจารณาระเบียบและประกาศต่างๆ ของ กกต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากเจ้าหน้าที่ กกต. และพรรค การเมืองทั้ง 70 พรรค เพื่อให้ความเห็นกลับมาว่าการออกระเบียบดังกล่าวเหมาะสมหรือมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งหลังจากรับฟังความเห็น กกต.ได้นำมาปรับปรุง เชื่อว่าระเบียบ ที่ออกมาจะสะดวกและเป็นธรรมกับทุกพรรค

อสส.ลั่น-ทนายแผ่นดินมืออาชีพ

ที่ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) แถลงนโยบายการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังอัยการภาค 1 ถึง 9 เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากร ทราบนโยบายการบริหารราชการ การบริหารงานบุคคลและการดำเนินการด้านต่างๆ ด้วย ว่า นโยบายการบริหารงานแบ่งเป็น 5 ด้าน คือด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ด้านการพัฒนาองค์กรอัยการ ด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ด้านการรักษาประโยชน์ของรัฐและด้านต่างประเทศ โดยนโยบายทั้งหมดเป็นความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและต้องการความร่วมมือกับทุกคน ยืนยันว่าเราจะทำหน้าที่ทนายแผ่นดินอย่างมืออาชีพ

นายเข็มชัยตอบคำถามถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการปฏิรูปองค์กรตำรวจที่มีแนวทางให้อัยการร่วมสอบสวนด้วยว่า เป้าหมายสำคัญของการสอบสวนคือการได้มาซึ่งพยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์ การดำเนินคดีอาญาถือเป็นการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจมีการปรึกษากับอัยการในการดำเนินคดี จากประสบการณ์ เช่น คดีโรฮิงยา ตำรวจก็ปรึกษาร่วมกับอัยการทำให้คดีประสบความสำเร็จ ดังนั้น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยที่มีในสังคมและอัยการก็พร้อมรับบทบาทในการสอบสวน โดยมีความพร้อมมานานแล้วแต่เราไม่อยากหักหาญกับใคร เราจะให้คนที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้เสาะแสวงหาแนวทาง เพราะเคยมีการถกเถียงมานานแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่มาจากคนกลางเข้ามาปฏิรูป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน