ด่วน ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว. ไฟเขียวส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการแก้ไข รธน. ด้านพรรคฝ่ายค้าน เสนอเปิดชื่อประจาน เผย ส.ส.ร่วมรัฐบาล ก็โหวตคว่ำ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 ก.พ.64 ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วนขอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ตามที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

นายไพบูลย์ เสนอเหตุผลว่า การยื่นญัตติครั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด เพราะหากไม่ดำเนินการให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ตนห่วงว่าส.ว.อาจเกรงว่ามีปัญหา ในการลงมติวาระ 3 จะไม่กล้าให้ความเห็นชอบ หรืออาจงดอกเสียง

ทำให้ได้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ จึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ ญัตติไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว หรือให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขยังดำเนินต่อไปได้

“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว.สบายใจและการลงมติวาระ 3 ไม่มีปัญหา แต่หากศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และให้แก้ไขรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้งกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์ กล่าว

จากนั้นสมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็น โดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่างอภิปรายไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เนื่องจากเสมือนการดึงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า และการแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) สามารถทำได้ตามมาตรา 256

ในขณะที่ส.ว.ส่วนใหญ่ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว เพื่อให้ศาลวินิจฉัย ได้ข้อยุติในความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดความเสียเปล่าหรือเสียหาย

ต่อมาเวลา 14.00 น. สมชาย แสวงการ ส.ว.หนึ่งในผู้เสนอญัตติ อภิปรายสรุปว่า อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความรอบคอบ เพราะเมื่อมีข้อกังขาเรื่องข้อกฎหมายที่ต่างกัน และประชาชนส่วนหนึ่งลงชื่อคัดค้าน เราจึงเห็นควรส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามหน้าที่ของส.ว.

ทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาให้ร่างแก้ไขรัฐธรมนูญฉบับที่กรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาอยู่ยืดเยื้อ หรือเตะถ่วง เพราะการพิจารณาก็ดำเนินการไปตามปกติ แต่การยื่นศาลรัธรรมนูญเพื่อความชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยแล้วใครจะเป็นผู้วินิจฉัย สุดท้ายแล้วศาลมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร พวกตนพร้อมน้อมรับ

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 315 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา แจ้งว่า ที่ประชุมีมติเห็นชอบส่งญัตติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ นายวิสาร เตชะธีระวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ขอให้ประธานใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เปิดเผยการลงมติ ว่าสมาชิกรัฐสภาคนใดมีมติอย่างไรโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล ผลการลงมติดังกล่าวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิก แต่นายพรเพชร ได้ตัดบทเข้าสู่วาระการประชุมต่อไปทันที โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องที่นายวิสารร้องขอแต่อย่างใด

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้โหวตคว่ำญัตติดังกล่าว ร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน แต่แพ้เสียงส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรค พลังประชารัฐ และส.ว.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน