ปิยบุตร ชวน ไอติม วิเคราะห์ที่ประชุมรัฐสภาวาระสามแก้ รธน.-เตรียมเปิดแคมเปญแก้รายมาตรายุบ ศาลรัฐธรรมนูญ – ยุบ ส.ว. ทิ้ง ขจัดอุปสรรคแก้ รธน.

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. กลุ่ม Resolution โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากกลุ่ม iLaw ร่วมเปิดห้องสนทนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse หัวข้อ “จับตาผลโหวต! เราจะไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชนได้อย่างไร?” พูดคุยกันในประเด็นความคืบหน้าและความคาดหวังต่อการประชุมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในวาระที่ 3

ซึ่งสถานการณ์จากการประชุมรัฐสภาล่าสุด มีการอภิปรายในที่ประชุมแตกออกไปเป็น 3 แนวทาง ภายใต้การอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือข้อเสนอให้มีการรับรองในวาระที่ 3 เพื่อนำไปสู่การลงประชามติ เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้าน, ข้อเสนอให้ไม่รับรอง โดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ไปทำประชามติมาก่อน เสนอโดย ส.ว. และข้อเสนอให้เลื่อนการลงมติ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่ เสนอโดยส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน

  • เหนื่อยจะเถียง ย้ำศาล รธน.ระบุชัดรัฐสภามีอำนาจทำ รธน.ใหม่-ดันวาระสามก็จบที่

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สรุปสถานการณ์ล่าสุดจากการประชุมในวันนี้ ก่อนระบุว่านี่เป็นอีกครั้งที่ทั้ง ส.ว และส.ส.พรรคพลังประชารัฐพยายามถ่วงเวลากระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนมาวันนี้กำลังจะจบที่ความเป็นไปได้ ว่าอาจจะมีการล้มกระบวนการทั้งหมด หรือชะลอออกไปอีก ส่วน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนวันนี้ มีความพยายามตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาสู่ข้อเสนอว่าควรเลื่อนการลงมติวาระสามออกไปก่อน โดยระหว่างนั้นให้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง

ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้ ตนไม่เห็นด้วย เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนเพียงพอแล้ว และการลงมติเห็นชอบในวาระสามก็จะนำไปสู่การลงประชามติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ดี สิ่งที่ส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐทำ คือการนำเอาส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มาเป็นตัวประกัน

คำถามคือเหตุใด ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่พลิกสถานการณ์ มายืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ยื่นคำขาดที่จะถอนตัวออกจากรัฐบาลหากไม่มีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เคยให้สัญากับประชาชนไว้ พร้อมจะยืนหยัดว่าเสียงข้างมากในสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

  • ย้ำทำร่างใหม่-แก้รายมาตราต้องทำคู่กันไป –ปลดอาวุธ คสช.ยุติการยื้อเวลาทำ รธน.ใหม่

นายพริษฐ์ ยังระบุด้วยว่า เราต้องไม่ตกหลุมส.ว.และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่พยายามนำเสนอว่าการแก้รายมาตรานั้นเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาและกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม มีปัญหามากมาย

สิ่งที่ภาคประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่การซ่อมบ้าน แต่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมา เมื่อประชาชนต้องการมีส่วนร่วมร่างกติกา ก็จำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แต่สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการแก้ไขรายมาตราไปพร้อมกันเพื่อตัดอำนาจของ คสช.ที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น

“เราไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำควบคู่กันไป ถ้าเราจะดึงดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเดียวโดยไม่แก้รายมาตราควบคู่ไปด้วย เราก็จะเจอยุทธศาสตร์แบบนี้ที่อีกฝ่ายใช้ คือการยื้อเวลาไปเรื่อยๆ ทำให้กว่าเราจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจจะใช้เวลา 1-2 ปี กลายเป็นว่าถ้าระหว่างนั้นมีการยุบสภา ส.ว.250 คนก็ยังมีอำนาจเข้ามาเลือกนายกฯอยู่

ถ้ามีกรรมการองค์กรอิสระคนใดหลุดออกจากตำแหน่งแล้วต้องมีการแต่งตั้งคนใหม่ ก็ยังจะต้องถูกรับรองโดยส.ว. 250 คน ที่ถูกจิ้มโดย คสช. เพราะฉะนั้น ถ้าเราเน้นแค่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเดียว โดยไม่แก้ไขรายมาตราทันทีควบคู่ไปด้วย เกรงว่าเราก็ยังจะอยู่ในวิกฤติทางการเมืองนี้ต่อไป และจะทำให้ความพยายามยื้อเวลาของ ส.ว.และรัฐบาลในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้การเมืองเดินไปข้างหน้าไม่ได้” นายพริษฐ์กล่าว

  • ผิดหวังจุดยืนพรรคการเมือง ตีความคำวินิจฉัยศาลแบบพิศดาร ร่วมยื้อเวลาทำ รธน.ใหม่

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ระบุว่า ค่อนข้างผิดหวังกับการประชุมวันนี้ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนมากจนไม่มีอะไรต้องถกเถียงกันอีก เขียนชัดเจนว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่วันนี้ ส.ว.หลายคนยังลุกขึ้นอภิปรายว่าสภาไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง

วันนี้เราเสียเวลาไปเยอะ ถกเถียงกันถึงขั้นมีข้อเสนอว่าสภาไม่ควรจะลงมติเลย ให้เลื่อนการพิจารณาออกไป ตลอดจนมีข้อเสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ

ส่วนท่าทีพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย น่าผิดหวังกว่าที่คิด ก่อนหน้านี้เป็นเสียงที่แข็งขันคัดค้านการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่วันนี้กลับเสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไป และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่ แม้จะมีสมาชิกพรรคบางส่วนเห็นต่าง แต่ก็นับว่ายังไม่มีความชัดเจนจากพรรคการเมืองเหล่านี้

“ผมนั่งฟังอยู่สิบชั่วโมงก็เริ่มเกิดอาการหลอน ว่าทำไมสามบรรทัดของศาลรัฐธรรมนูญถึงถูกตีความได้สารพัด ศาลเขียนชัดเจนเป็นภาษาไทย ตัวอักษรสีดำ บนกระดาษสีขาว ว่า “รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้” แต่ก็มีหลายท่านลุกขึ้นอภิปราย ว่าศาลท่านบอกว่าไม่ได้ ผมก็ไม่เข้าใจว่ามันจะไม่ได้ไปได้อย่างไร มันก็เขียนแล้วว่ามันได้ แปลกประหลาดมาก” นายยิ่งชีพกล่าว

  • ทำ รธน.ใหม่ถูกถ่วงเวลา “ปิยบุตร” ชงแก้รายมาตรา ยุบศาล รธน.- ยุบ ส.ว. ทิ้ง

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่าน่าจะชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่กำลังทำกันอยู่ในสภาตอนนี้ คือกระบวนการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ โดยคนกลุ่มเดิมที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ส.ว. และส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน หลายคนเคยอยู่ในกระบวนการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง

ในเชิงสถาบันทางการเมือง เรากำลังมีสององค์กรใหญ่ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญ นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญและวุฒิสภา ที่พร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องที่ตัวเองเสียประโยชน์ และจะอนุญาตให้แก้ในเฉพาะเรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น

เช่น ในกรณีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในสมัยนั้น รัฐสภาก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขัดขวางจาก ส.ว.บางส่วนที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยที่ชะลอ หรือขัดขวางกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้ง

มาจนถึงวันนี้ การส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจนมีคำวินิจฉัยออกมา ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเลย เพราะรัฐสภาก็ยังต้องกลับมาถกเถียงกันต่อไม่จบ ทุกอย่างที่เราเห็นในรัฐสภา ไม่ว่าจะเรื่องของการยื่นคำร้องไปที่ศาล คือกระบวนการของกลุ่มคนและองค์กรที่ไม่อยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ทำกันมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ 2550 และยังมาทำต่อจนถึงวันนี้

รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารทั้ง 2550 และ 2560 คือกล่องดวงใจของกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญท้ังสองฉบับ เราจะไม่มีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหากศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีท่าทีเช่นนี้ ตนเสนอว่าเราต้องออกไปจากเกมเขา ในเมื่อให้ทำใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ ต่อไปเราก็รณรงค์แก้รายมาตรากัน ยุบศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เปลี่ยนองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และที่มาของศาลรัฐธรรมนูญใหม่เสีย

เช่นเดียวกับ ส.ว. ตราบที่วุฒิสภาหน้าตาเป็นแบบนี้ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ยากเย็น เพราะจะถูกขัดขวาง ปั่นป่วนกระบวนการเสมอ เมื่อขัดขวางกันขนาดนี้ เราก็รณรงค์แก้รายมาตรา ให้ยกเลิกวุฒิสภาไปเลย ให้เป็นสภาเดี่ยว เพราะวุฒิสภาในประวัติศาสตร์ไทยที่มาจากการแต่งตั้ง ล้วนมีฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารทั้งสิ้น

“ในเมื่อไม่รู้วันนี้จะคุยกันจบหรือเปล่า ไม่รู้วันพรุ่งนี้จะได้ลงมติหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะโหวตกันอย่างไร ผมว่าปล่อยมันไปเถอะไอ้กระบวนการปาหี่อย่างนี้ แล้วเดินหน้าแก้รายมาตรา ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญเก่า ออกแบบศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจลงไป ไม่ให้เข้ามายุ่งกับการแก้รัฐธรรมนูญมากถึงขนาดนี้ แล้วก็ยุบวุฒิสภาทิ้งให้ประเทศไทยใช้สภาเดี่ยว ผมคิดว่าต้องลองเปิดแบบนี้ดู

แล้วแน่นอนที่สุด ถ้าวันหนึ่งพี่น้องประชาชนฝันอยากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็เชิญชวนให้ออกจากกรงขังรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นก็คือคิดถึงการประชามติ เป็นการประชามติเพื่อแสดงออกถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ประชามติอันนี้ไม่ได้เป็นประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แต่มันจะเป็นประชามติที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้งทั้งฉบับแล้วทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีเงื่อนไข สามารถทำได้ทุกหมวดทุกมาตรา” นายปิบุตรกล่าว

  • เรียกร้องพรรคร่วมฯยืนบนหลักการที่ถูกต้อง-รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ในช่วงการถามตอบ มีการแสดงความเห็นจากผู้ร่วมฟังมากมาย ที่ผิดหวังต่อกระบวนการประชุมรัฐสภาในวันนี้ รวมทั้งการมีหลายพรรคจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเองยังมีความลังเลว่าจะลงมติไปในทิศทางใด รวมทั้งแสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชนของสมาชิกรัฐสภาหลายพรรคการเมืองด้วย

นายพริษฐ์กล่าวเสริมว่า การที่ระบบผู้แทนเป็นเช่นนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นศูนย์รวมความวิปริตในทางการเมืองไทยไว้อย่างครบถ้วน และยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกไปจากกรอบของรัฐธรรมนูญ 2560

หนึ่งในนั้นก็คือการมีวุฒิสภา ตนขอย้ำอีกครั้ง ถึงจุดยืนว่าประเทศไทยควรจะเปลี่ยนระบบเป็นสภาเดียวได้แล้ว ให้ยุบเลิกส.ว.ไปเสีย ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มต้นได้ด้วยการรณรงค์รวมรายชื่อจากประชาชน เพื่อให้นำไปสู่การลงประชามติ ทำให้รัฐสภาเป็นที่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ

อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน คือการขยายความเคลื่อนไหวให้กว้างขึ้นและลึกขึ้น ในด้านกว้างเราต้องขยายแนวร่วม โดยเฉพาะในส่วนของพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย เราต้องเรียกร้องความกล้าหาญทางการเมืองจากคนกลุ่มนี้ให้มายืนอยู่ในฝั่งที่ถูกต้อง

“สิ่งที่เราต้องเรียกร้องคือความกล้าหาญของฝั่งขวาทางการเมือง ที่พร้อมจะออกมายืนหยัดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน สิ่งที่เราเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยควรจะสนับสนุนด้วย เพราะเราไม่ได้เรียกร้องระบอบการปกครองที่ทำให้เขาเสียเปรียบ เราแค่เรียกร้องระบอบการปกครองที่มันเป็นกลาง ที่ทำให้ทุกฝ่ายทุกชุดความคิดมันแข่งขันกันบนกติกาที่มันเป็นธรรมได้ ต้องเรียกร้องความกล้าหาญทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ ที่จะสลัดตัวเองออกจากผลประโยชน์ที่ตัวเองได้จากการไปขมวดอยู่กับกลุ่มที่ต้องการจะสืบทอดอำนาจ พร้อมมายืนหยัดเพื่อหลักประชาธิปไตยพื้นฐาน เพื่อระบอบที่เป็นกลาง” นายพริษฐ์กล่าว

  • ย้ำปม “ยุบศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้”

ด้านนายปิยบุตร กล่าวอีกว่า อยากชวนให้ทุกคนมองนอกกรอบที่ตีไว้โดยรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างเรื่องศาลรัฐธรรมนูญและวุฒิสภา อย่าไปคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญเองเพิ่งเกิดขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในประเทศไทยก็เพิ่งมาเริ่มตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 นี่เอง และหลายประเทศก็ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ

โจทย์ใหญ่การต่อสู่ในวันนี้ คือการสู้กันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร เราต้องการกติกาที่คนยอมรับนับถือกันได้ทุกส่วน ไม่ใช่การยึดอำนาจมาแล้วเขียนกติกาให้ตัวเองชนะตลอดไป นี่คือรัฐธรรมนูญที่เอาทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด

“ผมเลยอยากเชิญชวนว่าคิดออกจากกรอบ ออกจากกรงที่เขาขีดให้เราเดิน ลองคิดดูในมุมที่กว้างกว่าเดิม เช่น เราจะคิดถึงการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม เปลี่ยนองค์กรเป็นองค์กรแบบอื่น คิดถึงการยกเลิก ส.ว.ได้ไหม เป็นสภาเดี่ยว หรือคิดถึงเรื่องของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจริงๆ ดังนั้นพวกเราจะแสดงออกถึงพลังผ่านการประชามติ ว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทั้งฉบับ”นายปิยบุตร กล่าว

  • ชี้ กระบวนการแก้ รธน.ต้องเดินคู่ใน-นอกสภา และต้องเดินยาว

ด้านนายยิ่งชีพ ระบุว่า ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเพื่อไปสู่การทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเข้าใจในทางยุทธศาสตร์ ว่าการแสดงออกแต่ละครั้งไม่มีทางที่จะได้ผลลัพธ์ในทันที เพราะรัฐธรรมนูญนี้ปกป้องอำนาจของ คสช.และอำนาจของหลายฝ่ายที่ผนึกกำลังกันอยู่ ยิ่งเป้าหมายสูงประชาชนก็ยิ่งต้องอดทน ในช่วงหลังนี้ ตนเข้าใจได้ว่าประชาชนอาจจะมีความอดทนน้อยลง เพราะมองไม่เห็นว่าการแสดงออกหลายต่อหลายครั้งก็แล้ว ยังไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสียที ประชาชนก็ย่อมมีความเหนื่อยหน่ายขึ้นได้

แต่สำหรับตน การเรียกร้องต้องเป็นไปทีละก้าว ประชาชนต้องเหน็ดเหนื่อยกันอีกหลายครั้ง สิ่งที่ต้องเดินในสภาต้องควบคู่ไปกับการเรียกร้องของประชาชนพร้อมกันเพื่อให้เกิดผล การเรียกร้องวันนี้เกิดขึ้นโดยหลายกลุ่มหลายแนวทาง ใครสะดวกเรียกร้องแบบไหนก็ต้องทำไปด้วยกันอีกยาวทั้งสองส่วน

“ข้อเสนอที่ต้องเดินในสภา ต้องเดินไปควบคู่กับกิจกรรมอื่นๆ นอกสภาประกอบด้วย ถ้ากิจกรรมต่างๆ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ คนจัดเข้าคุกไปเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ที่ต้องเดินในสภาเนี่ยไม่ต้องคิดเลย แต่ถ้าข้างนอกไม่ตกเมื่อไหร่ ยุทธศาสตร์ที่ต้องเดินในสภาเนี่ย ไม่ยาก เราเข้าชื่อกันใหม่ก็ได้ แล้วเราจะทำอะไรอีกหลายอย่างก็ได้” นายยิ่งชีพกล่าว

ในช่วงท้ายรายการ นายปิยบุตร ได้ประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมที่กลุ่ม Resolution กำลังจะทำในอนาคตอันใกล้ คือการรณรงค์ตามข้อเสนอที่ตนเองได้กล่าวไปข้างต้น รวบรวมรายชื่อประชาชน เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อยกเลิก ส.ว.เปลี่ยนมาใช้ระบบสภาเดี่ยว การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ และยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีการเปิดตัวกิจกรรมในเร็วๆ นี้

“เตรียมความพร้อม เตรียมปากกา เตรียมบัตรประชาชน แคมเปญนี้คิกออฟเมื่อไหร่มาร่วมกันเข้าชื่ออีกสักครั้ง ยกเลิกนั่งร้าน คสช. ด้วยการแก้รายมาตรา ยกเลิกวุฒิสภา ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมดนี้จะคิกออฟประมาณช่วงต้นเดือนเมษายน แล้วเดี๋ยวเรามาร่วมกันแสดงพลังอีกสักครั้ง เอาให้ได้เป็นแสน เอาให้ได้เป็นล้าน แล้วดูว่าจะกดดันสมาชิกรัฐสภาได้ขนาดไหน” นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน