บริหารความรู้สึก

ใบตองแห้ง

นายกรัฐมนตรีขอร้อง “ผู้จงรักภักดี” อย่าไล่ล่าคนไม่ใส่เสื้อดำ อย่าติติงว่าใครไม่ใส่ไม่รักพระเจ้าอยู่หัว “เดี๋ยวก็ตีกันอีก”

คสช.แสดงความเป็นห่วง ที่มีฝูงชนล้อมกรอบคนถูกกล่าวหาว่าโพสต์หมิ่นฯ กำชับตำรวจให้ทำตามกฎหมาย แยกตัวไม่ให้ถูกทำร้าย เพราะในขณะนี้คงไม่มีใครอยากเห็นคนไทยใช้กำลังทำร้ายหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน

ใช่เลย รัฐบาล คสช. ย่อมอยากเห็นบรรยากาศซาบซึ้ง ประทับใจ คนไทยรวมจิตใจโศกเศร้าอาลัย แสดงความจงรักภักดี ไม่ควรมีบรรยากาศ “น่ากลัว” แบบใครไม่ใส่เสื้อสีขาวดำ ก็ถูกหาว่า “เลว ไม่ใช่คนไทย”

แถมหลายรายถูกเข้าใจผิด เช่นคนกลับจากไว้อาลัยเปลี่ยนเสื้อไปกินข้าวต้มปากซอยก็หวิดซวย หรือหญิงสติไม่ดีใส่สีฟ้าพูดพร่ำถูกไล่ลงจากรถเมล์ โดนตบ ก็ยังมีดาราตบมือเชียร์

กรณีคนถูกกล่าวหาว่าโพสต์หมิ่น ยิ่งน่าวิตก เพราะอาจเป็นแค่โพสต์ไม่เหมาะสม เช่นที่ภูเก็ต ผู้บังคับการตำรวจชี้แจงว่าความผิดยังไม่ชัดเจน ต้องให้ศาลพิจารณาหมายจับ แต่ฝูงชนตัดสินแล้ว ก็เกิดแรงกดดันกระบวนการยุติธรรม

แล้วในขณะที่โฆษก คสช.ยกกรณีภูเก็ต พังงา สมุย มาเตือนว่าอย่าใช้กำลัง ที่ชลบุรีก็มีเหตุประชาทัณฑ์ ซึ่งถ้าว่าตามกฎหมาย ผู้ใช้กำลังก็มีความผิด แต่ในภาวะอย่างนี้ ผู้ถูกทำร้ายคงไม่กล้าแจ้งความ

มองให้กว้างกว่าเรื่องไม่ใส่เสื้อดำ จะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เพราะใส่เสื้อแดงเดินถนนตำรวจไม่จับ แต่อาจเป็นอันตราย เพราะเป็นเรื่องของกระแสสังคม ที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสินว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม

ซึ่งก็เป็นปัญหา เพราะท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัย กระแส ultra กลายเป็นผู้ชี้นำความเหมาะสม (ยิ่งเสียกว่ารัฐบาลทหาร) ยิ่ง ultra ยิ่งมีคนชื่นชม สื่อก็ช่วยโหมประโคม ทั้งที่ผู้คนในสังคมมีความเห็นแตกต่างกัน ว่าอะไรเหมาะสม ไว้ทุกข์อย่างไร จึงสมควรไม่สมควร

ว่าที่จริง ต้องยอมรับตั้งแต่ต้นว่า ความรู้สึกคน 70 ล้านไม่เหมือนกัน บางคนทำใจไว้แล้ว บางคนทำใจไม่ได้ การแสดงออกก็ไม่เหมือนกัน ในโลกทุกวันนี้ คุณไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่เอาแต่ร้องไห้ เศร้าเสียใจกว่าคนไปนั่งดื่มหรือไปดูหนัง

ก็อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” โพสต์ว่า อย่าไปว่าคนไม่ใส่ชุดไว้ทุกข์ อย่าไปด่าคนที่ไม่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ อย่าไปเกลียดคนลงรูปกินเที่ยว อาจเป็นวิธีที่ทำให้เขาคลายเศร้าโศกก็ได้ ทุกชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป เปิดใจให้กว้าง อย่ามัวแต่ไปจับผิดคนอื่น แล้วทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงตอบว่า “เห็นด้วยนะ บางทีเราอาจต้องผ่อนทุกข์ในใจของเราบ้าง ไม่งั้นก็คงทนไม่ไหว”

พระไพศาลก็เทศนาว่า อย่าเอาตัวเองไปตัดสินคนอื่น เหมือนคนไปวัดปฏิบัติธรรม แล้วเอาแต่ตำหนิคนอื่น ทั้งที่หน้าที่ตัวเองคือปฏิบัติธรรม ใครจะแสดงความจงรักภักดี แสดงความเศร้าโศกต่างจากเรา ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ควรทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ไม่ว่าในฐานะชาวพุทธ หรือในฐานะพสกนิกร

นอกเรื่องนิดนะครับ พวกถือศีลกินเจปฏิบัติธรรมบางคนนี่ “น่ากลัวมาก” อัตตามาเต็ม เห็นคนอื่นเป็นคนเลวคนบาปหมด มีแต่ตัวเองเป็นคนดี

ประเด็นที่น่าคิดไปข้างหน้าคือ เมื่อรัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจ ต้องทำให้ชีวิตและธุรกิจเดินต่อไป จะมีปัญหาไหมกับความรู้สึกคน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวบันเทิงบริการ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ

เอาง่ายๆ รัฐบาลไฟเขียวให้เปิดโรงหนัง ร้านอาหาร สถานบริการ แต่ให้มิดชิด อย่าครึกครื้นกลางแจ้ง อย่างคอนเสิร์ตต้องงด ผมฟังแล้วเห็นด้วย แต่ก็ยังงงงวย สถานบริการเปิดได้ไง ถึงไม่ห้ามก็ต้องปิดตัวเองเพราะเกรงความรู้สึกคน กระทั่งบางห้างยังงดขายเหล้าโดยรัฐบาลไม่สั่ง เพราะใครขายใครดื่มช่วงนี้อาจถูกมองว่าไม่เศร้า หรือเป็นคนไม่ดี

กสทช.ขอความร่วมมือทีวีงดบันเทิง 30 วัน แต่หลังจากนั้นต้องดูความรู้สึกประชาชน ซึ่งก็ยังสงสัย ใครจะกล้าออกละครหลังข่าว เกมโชว์ ฯลฯ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ความรู้สึกคนจึงเห็นว่าเหมาะสม บางคนอาจเห็นว่าต้องงด 100 วัน บางคนก็มองว่าชีวิตต้องดำเนินต่อ แต่จะเก็บความเศร้าไว้ในใจตลอดไป

ก็เป็นภาระหนักของรัฐบาล ที่จะต้องบริหารความรู้สึกคน ระหว่างความเศร้าโศกอาลัย กับการดำเนินชีวิตต่อไป ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ขัดแย้งกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน