คำสั่งศาลชัด ราชทัณฑ์ย้าย 3 เเกนนำราษฎรกลางดึก ไม่คำนึงสิทธิผู้ต้องขัง บนสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ที่อารยประเทศให้การรับรอง ขาดความระมัดระวังอันควร

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 มี.ค.64 ที่ห้องพิจารณา 812 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งกรณีนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ยื่นคำร้องต่อศาลขอคุ้มครองความปลอดภัยชีวิต ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยศาลเบิกตัวนายอานนท์ จากเรือนจำมาฟังคำสั่ง

ศาลพิเคราะห์ประการเเรกว่า ศาลมีอำนาจรับไว้ไต่สวนหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 28 บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคลไว้ และมีบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่าการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล

การดำเนินการของรัฐจึงต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมหรือขังเป็นสำคัญ เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญา หรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการรับคำร้อง และดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวได้ และศาลสามารถพิจารณาเหตุในการคุมขังตลอดจนพฤติการณ์ และขั้นตอนการคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างสมบูรณ์สมเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ยังบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างในศาลได้ จึงเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลตรวจสอบคุ้มครองให้การคุมขังเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อผู้ร้องอยู่ในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาซึ่งถูกคุมขังโดยไม่ได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราว

เห็นว่าแม้ผู้ร้องกับพวกจะอยู่ภายใต้การคุมขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ กำหนดให้เรือนจำเป็นสถานที่ใช้ในการควบคุมขังหรือจำคุกผู้ต้องขัง เมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยขังตามหมายของศาล เจ้าพนักงานเรือนจำสามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ต้องขังได้เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับพฤติการณ์เพื่อจัดการบังคับให้เป็นไปตามหมายขัง

ศาลจึงมีหน้าที่ดูเเลผู้ต้องขังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หากศาลละทิ้งหน้าที่นี้ ย่อมจะทำให้ขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าผู้ร้องอาจจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย

ศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณา จึงสามารถรับคำร้องและดำเนินการไต่สวน รวมทั้งมีอำนาจเบิกตัวผู้ร้องและหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องอื่นมาดำเนินการไต่สวนให้ทราบถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆ ตามคำร้องได้

ปัญหาที่ต้องพิจารณาประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องถูกข่มขู่คุกคามอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายตามร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนประกอบการเปิดภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขังได้ความว่า เมื่อเวลา 21.30 น. มีการแจ้งให้ผู้ร้องกับพวกทราบว่าจะนำจำเลยทั้ง 3 ไปแยกคุมขังไว้ที่เรือนพยาบาล แต่ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอม

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีความเห็นให้นำวิธีทางการแพทย์มาใช้เป็นมาตรการในการดำเนินการ จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ตรวจหาสารคัดหลั่งเพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรน่า มายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และสั่งการให้เจ้าพนักงานเรือนจำในกลุ่มเรือนจำลาดยาวจัดทีมมาสนธิกำลังร่วมปฏิบัติการ ต่อมาเวลาประมาณ 23.35 น. เจ้าพนักงานเรือนจำบุคลากรทางการแพทย์เดินทางถึง แต่ผู้ร้องกับพวกไม่ยินยอม จึงกลับออกไป

กระทั่งเวลา 00.05 น. ของวันที่ 16 มี.ค.64 เจ้าพนักงานเรือนจำและบุคลากรทางการแพทย์ชุดเดิมกลับมายังห้องขังอีกครั้งพร้อมชุดตรวจหาเชื้อ พร้อมแจ้งว่าให้ผู้ต้องขังภายในห้องขังทุกคนเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ผู้ร้องกับพวกทั้ง 7 ยังคงปฏิเสธ โดยแจ้งว่าจะขอเข้ารับการตรวจในช่วงเช้า ส่วนผู้ต้องขังอื่นอีก 9 ราย ยินยอมเเละดำเนินการแยกตัวผู้ต้องขังทั้ง 9 รายที่ตรวจหาเชื้อออก

ต่อมาเวลา 02.10 น. เจ้าพนักงานเรือนจำแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบสีกากี 5 คน และเจ้าพนักงานเรือนจำกลุ่มลาดยาว แต่งกายด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษสีกรมท่า 5 คน กลับมายังห้องขังพร้อมแจ้งจะนำตัวผู้ร้องกับพวกไปแยกคุมขังไว้ที่เรือนพยาบาล แต่ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนไม่ยินยอม มีการเจรจาจนถึงเวลา 02.19 น.

เห็นว่าตั้งเเต่เวลา 21.30-02.30 น.เจ้าพนักงานเรือนจำเข้าพูดคุยกับผู้ร้องและพวกอยู่หลายครั้งทุกครั้งต่างกระทำโดยมิได้มีท่าทีข่มขู่คุกคามหรือใช้ความรุนแรง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 5 คนที่เดินทางไปพร้อมกับนายแพทย์วีระกิตต์ ล้วนแต่งกายด้วยเครื่องแบบบุคลากรทางการแพทย์และเป็นเพศหญิงถึง 4 คน มีการจัดเตรียมชุดเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล

เชื่อว่าการอำนวยการปฏิบัติงานเป็นการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด และต้องการแยกตัวจำเลยทั้ง 3 ไปคุมขังในสถานที่อื่น โดยมิได้มีความมุ่งหมายที่จะข่มขู่คุกคามหรือทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องกับพวกเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งถูกจำกัดเสรีภาพในร่างกายบางประการ โดยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องขังหลบหนีไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่ออันตรายประการอื่น

ผู้ร้องกับพวกและผู้ต้องขังอื่นยังคงเป็นพลเมืองไทย ย่อมได้ความรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นสิทธิที่ถือติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการอย่างเท่าเทียมกัน เฉกเช่นเดียวกับปวงชนชาวไทยทั้งปวง การนอนหลับพักผ่อนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการดำรงชีพและดำเนินชีวิตอันเป็นปกติของบุคคลทั่วไป

เมื่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีมาตรการปิดโทรทัศน์ในช่วงเวลา 21.30 น. อันเป็นสัญลักษณ์แสดงนัยยะว่าถึงช่วงเวลาในการพักผ่อน เรือนจำจึงต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ดำเนินมา โดยจัดให้ผู้ต้องขังได้มีช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอไม่ถูกล่วงละเมิดเกินสมควร ผู้ร้องกับพวกในฐานะเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังอื่น

การเข้าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดก็ดี การเปลี่ยนสถานที่คุมขังของผู้ต้องขังก็ดี พึงกระทำในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม การดำเนินการใดๆ หลังช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงกระทำได้แต่เฉพาะปรากฏเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องกับพวกได้รับการคัดกรองโรคเบื้องต้นโดยตรวจวัดอุณหภูมิถึง 3 ครั้งจนผ่านเกณฑ์แล้ว แม้จะถูกย้ายตัวมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่ก็เป็นการเคลื่อนย้ายนักโทษระหว่างเรือนจำกับเรือนจำ ซึ่งต่างล้วนแต่มีมาตรการคัดกรองในระดับสูง

กรณีนี้จึงยังไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบ หรือเร่งด่วนถึงขนาดต้องดำเนินการแยกตัวผู้ร้องกับพวกออกจากผู้ต้องขังอื่น หรือเร่งตรวจหาเชื้อไวรัสให้แล้วเสร็จภายในคืนนั้น หากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านพ้นไปอีก 3 ชั่วโมงก็จะถึงรุ่งเช้า ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาปกติที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อการพักผ่อนของผู้ต้องขัง

การกระทำของเจ้าพนักงานเรือนจำแม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสมบนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ชน เเละอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง การดำเนินการตรวจร่างกายผู้ต้องขังหรือย้ายสถานที่คุมขังหรือกระทำการใด กรมราชทัณฑ์จึงต้องดำเนินการช่วงเวลาที่เหมาะ สมควรเเละเป็นไปตามระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ไม่กระทบกระเทือนต่อติดสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในฐานะผู้ต้องขัง

ศาลเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องกับพวกเท่าที่ควร และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจำที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวัง เพื่อให้ผู้ร้องกับพวกได้รับความคุ้มครองสิทธิที่กฎหมายรับรอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน