โฆษกศาลเเจงขั้นตอนคดี หลังเว็บดังปล่อยข่าวสินบนโตโยต้า ติงเรื่องยังไม่มีมูล การออกข่าวควรตรวจสอบก่อน หวั่นทำลายความเชื่อมั่น ย้ำหากมีมูลเเน่ชัดดำเนินการเด็ดขาด

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

กรณีมีการเผยแพร่ข่าวโดยอ้างถึงข้อมูลซึ่งมีการแปลจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ระบุถึงเรื่องการสอบสวนในต่างประเทศของบริษัทในเครือโตโยต้า เกี่ยวกับคดีภาษีนำเข้ารถยนต์และมีการพาดพิงถึงบุคลากร (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาฎีกา) ในกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น

วันที่ 4 เม.ย.64 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ ประการแรก คดีที่มี การอ้างถึงนั้นเป็นคดีที่บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี เป็นจำเลย เนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประกอบเป็นรถยนต์รุ่นพรีอุส มีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดโจทก์ไม่มีความรับผิดทางภาษีอากร

ต่อมาหน่วยงานของรัฐที่จัดเก็บภาษีซึ่งเป็นจำเลยในคดีได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์จึงยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาโดยศาลภาษีอากรกลางได้การอ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค.64

ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา หลังจากนั้นศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมสำนวนส่งคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป ดังนั้นในคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดี เพียงพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาเมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่พิจารณาเพียงว่าปัญหาที่ยื่นฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด

สำหรับคดีในกลุ่มบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ทั้ง 10 สำนวนนั้น มีทุนทรัพย์รวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท นั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย และยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน คำสั่งอนุญาตให้ฎีกาจึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

ประการที่สอง พฤติการณ์ของการแอบอ้างหรือกล่าวหาว่า อาจมีการจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษา นั้น เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งอาจไม่มีมูลความจริงอยู่เลย แต่ก็สร้างความเสียหายและความคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนและสังคมโดยรวมทันทีที่มีการออกข่าวหรือแอบอ้างว่ามีการจ่ายและรับสินบน ดังนั้น การให้ข่าวลักษณะนี้ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนในระดับหนึ่งก่อน

ประการที่สาม หากศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้พิพากษาท่านใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ ศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาดกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ผ่านมา ก.ต. ก็ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับกรณีเช่นนี้มาโดยตลอด จึงขอแจ้งให้ทราบทั่วกัน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน