“ก้าวไกล” แนะ วิธีรับมือวิกฤตโควิดระลอก 3 ชี้ รัฐบาล ต้องสร้างความ เชื่อมั่นในวัคซีน ให้กับ ปชช.และเร่งฉีดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทันต่อแผนการ “เปิดประเทศ”

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 เมษายน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ร่วมแถลงประเด็นการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 และมาตรการเยียวยาและผลกระทบในมิติต่างๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน ZOOM

โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ในช่วงคลัสเตอร์บางแคระบาดใหม่ๆ เมื่อปลายเดือนมีนาคม ทางพรรคได้เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง โดยเน้นไปที่ผู้ป่วยติดเตียงที่ออกจากบ้านลำบาก ว่าถ้าหากจะไปตรวจคัดกรองโควิด-19 ต่างๆ จะทำเช่นไรเนื่องจากจุดตรวจโควิดเคลื่อนที่ที่ตั้งอยู่ในขณะนั้นไม่ได้ลงไปในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่านอกจากการเคลื่อนย้ายออกมาลำบากแล้ว

การเดินทางไปโรงพยาบาลหรือจุดตรวจหนึ่งครั้งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแค่ตัวผู้ป่วยแต่ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนผู้ดูแลผู้ป่วยหรือครอบครัวด้วย กล่าวคือครอบครัวจะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลต้องหยุดงานทั้งวัน ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นของพรรคก้าวไกลในขณะนั้นคือช่วยเหลือเรื่องข้าวสารอาหารแห้ง และจัดทำจุดตรวจเคลื่อนที่ไปยังชุมชน ซึ่งภายหลังเป็นรื่องที่น่ายินดีเนื่องจากภาครัฐ และ กทม.ได้ไปตั้งจุดตรวจในชุมชนเช่นกัน

แต่สิ่งที่ตนอยากจะชี้ให้เห็นคือทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องการไม่ใช่ข้าวสารอาหารแห้งแต่เป็นวัคซีน อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะฉีดวัคซีนเพราะจากข่าวจะเห็นว่าวัคซีนที่รัฐจัดหาไม่ว่าจะเป็นแอสตราเซเนกาและซิโนแวคมีปัญหาในด้านผลข้างเคียงเริ่มลิ่มเลือดต่างๆ ฉะน้ัน ภาครัฐควรจะต้องดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ให้ดีกว่านี้

นายณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรื่องมาตรการเยียวยาในระยะสั้นบางกลุ่มยังต้องการอยู่เช่นคนหาช้ากินค่ำที่อยู่ๆ ก็ถูกสั่งล็อกดาวน์ สั่งห้ามประกอบอาชีพ แต่ในระยะยาวประชาชนต้องการให้จบนั่นคือต้องการวัคซีนที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นและเชื่อถือได้ และอีกหนึ่งเรื่องคือมาตรการในการปฏิบัติตัว ทุกวันนี้ประชาชนแพนิกเมื่อรู้ว่าข้างบ้านมีผู้ติดเชื้อ หากอยู่ในวงที่ 2 จะต้องทำตัวอย่างไร จะต้องกักตัวที่บ้านหรือต้องไปกักตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งในการแถลงข่าวของหน่วยงานหนึ่งบอกว่าการกักตัวที่บ้านผิดกฎหมายแต่เมื่อไปโรงพยาบาลก็บอกว่าให้กักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดความสับสน

ด้าน นพ.วาโย กล่าวว่า เรื่องวัคซีน ก่อนหน้านี้ภาครัฐได้มีการสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 80 มีความต้องการที่จะฉีดวัคซีน ซึ่งหลังจากที่ ส.ส.เขตหลายคนได้ลงไปพบปะประชาชน พบว่าประชาชนอยากจะฉีดวัคซีนเพราะเชื่อว่าวัคซีนจะเป็นทางออกที่จะทำให้วิกฤติในครั้งนี้จบลงได้ แต่ปัญหาคือตอนนี้ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจ ที่จะไปฉีด

ถ้าภาครัฐไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในข้อมูลเชิงวิชาการอย่างหนักแน่นว่าการฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีด และวัคซีนโควิดกันตายแต่ไม่กันติด อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด ในส่วนของมาตรการที่นายณัฐพงศ์ได้พูดไปข้างต้น กรมควบคุมโรคได้ประกาศคนออกเป็น 3 วง ได้แก่สีแดง สีเหลือง และสีเขียว วงสีแดงคือวงที่สัมผัสกับผู้ที่ยืนยันว่าติดเชื้อ

กลุ่มนี้ต้องไปตรวจเพื่อหาเชื้อหากผลเป็นบวกต้องเข้าสู่แนวทางการรักษาต่อไป แต่หากเป็นลบต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วันและต้องตรวจซ้ำในวันที่ 7 หลังจากที่ตรวจครั้งแรกหรือวันที่ 13 นับจากวันที่สัมผัสผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง ส่วนวงสีเขียวคือคนที่สัมผัสไปอีก 2 ทอดซึ่งวงสีเขียวนี้ค่อนข้างปลอดภัยแต่ปัญหาคือวงสีเหลืองซึ่งสัมผัสกับวงสีแดง ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงสีแดงอาจจะไม่ติดเชื้อก็ได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงแต่ไม่ใช่ความเสี่ยงที่เยอะ

ฉะนั้น ตามประกาศประชาชนที่อยู่ในวงสีเหลืองให้ดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงที่ชุมชน กิจกรรมต่างๆ พยายามแยกตัว แต่ไม่ได้ใช้คำว่ากักตัว ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าหมายความว่าอย่างไร สรุปก็คือให้ระมัดระวังตนเองมากขึ้น ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปในที่ชุมชนต่างๆ หรือแม้แต่อยู่ที่บ้านก็ดีให้พยายามหลีกเลี่ยงสมาชิกหรือบุคคลอื่นในครอบครัว หมั่นดูแลตนเอง ใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการทำ Home Isolution หรือ Home Quarantine ทุกคนคงเห็นว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำ New high (ยอดผู้ติดเชื้อทำสถิติใหม่ทุกวัน) หลายครั้ง ซึ่งการระบาดในรอบนี้เป็นการระบาดในรอบที่ 3 โดยเป็นที่คาดหมายในทางวิชาการอยู่แล้วว่าการระบาดในคลื่นนี้จะมีความสูงมากกว่าในคลื่นที่ 2 และคลื่นที่ 1 ฉะนั้น คลื่นที่มันสูงขนาดนี้จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นกราฟที่ชันขึ้นเรื่อยๆ

หากยังคงดื้อดึงนำคนที่มีเชื้อเข้าไปอยู่ใน State quarantine ทั้งหมดอาจจะทำให้ระบบไม่สามารถคงอยู่ได้ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าตามธรรมชาติของโรคโควิด-19 กว่าร้อยละ 80-90 ไม่มีอาการและคนหนุ่มสาวค่อนข้างแข็งแรง ฉะนั้นการนำคนเหล่านี้บางส่วนเข้าไปอยู่ใน State quarantine อาจทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและะทรัพยากรและไม่สามารถจัดสรรสถานที่รองรับบุคคลที่มีความต้องการจริงๆ

ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับประกาศและไม่สามารถดำเนินการไปได้คล้ายกับกฎหมายหลายฉบับในประเทศไทยที่ขัดกับหลักปฏิบัติ อย่างไรก็ตามตนได้เห็นแนวทางของทางกรมการแพทย์เกี่ยวกับการทำ Home isolution และ Home quarantine แล้วว่าบุคคลใดบ้างที่เหมาะสมจะเข้าไปอยู่ใน State quarantine หรือเหมาะสมที่จะทำ Home isolution ได้ แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ตนจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความรู้เหล่านี้แก่ประชาชน มิเช่นนั้น เมื่อภาครัฐประกาศมาประชาชนจะไม่มีความเข้าใจและจะทำให้เกิดความสับสนยิ่งกว่าเดิม

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังในการฉีดวัคซีน ตอนนี้อัตรากำลังในการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1-3 หมื่นรายต่อวัน ในขณะที่ครึ่งปีหลังประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเดือนหนึ่งสูงสุด 10 ล้านโดส หากไม่เพิ่มอัตรากำลังในการฉีดวัคซีนให้สูงขึ้นอีก 10 เท่าหรือ 3-4 แสนรายต่อวัน ก็จะไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ทันกับเวลาและไทม์ไลน์ที่ได้วางไว้เกี่ยวกับการเปิดประเทศ

และนอกจากการที่จะต้องเตรียมสถานที่ บุคลากรหรือการร่วมมือกับภาคประชาชนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองไป อย่าให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอย่างเช่นหน้ากากอนามัยอีก ที่เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทานแล้วได้ของมาในราคาแพงแต่ด้อยคุณภาพและยังขาดแคลนอีกอย่าให้เกิดสิ่งนี้กับเข็มและหลอดฉีดยา ไม่ใช่ว่าเกิดสถานการณ์ที่มียาแต่ไม่มีเข็มจึงอยากให้ระวังในเรื่องนี้ไว้

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในเวลานี้ ซึ่งเป็นทางรอดทางเดียวของประเทศไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องวัคซีน การที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนมาได้ เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นเป็นหลัก ทุกวันนี้มีมาตรการควบคุมโรคระบาดออกมาที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้หรือไม่ ทำให้เห็นเหตุการณ์การเปิดตลาดแล้ว แต่ประชาชนยังไม่มั่นใจจะออกมาจับจ่ายใช้สอย

ดังนั้นความเชื่อมั่นจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้และการที่จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ คือวัคซีน แม้วันนี้มาตรการเยียวยาจะยังไม่ออกมา แต่ตนเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่นิ่งนอนใจ ขณะที่จะคิดว่าเมื่อไม่ประกาศล็อกดาวน์ก็ไม่จำเป็นต้องเยียวยา ตนคิดว่ารัฐบาลไม่ควรคิดเช่นนั้น อีกสักพักคงมีมาตรการเยียวยาครั้งที่ 3 ออกมา หากถามว่ามีการระบาดอีก จะมีการเยียวยาอีกได้หรือไม่ เงินพอ ตนขอตอบว่าได้ เพราะช่องว่างทางการคลังหรือความสามารถในการกู้ยังพอทำได้อยู่ แต่จะวนลูปนี้กันไปอีกนานเท่าไร

ถ้าระบาดระลอก 4 หรือ 5 อีกครั้ง เราคงไม่พร้อมที่จะรับมือด้วยวิธีการแบบเดิมๆ อีกต่อไป ดังนั้นวัคซีนจึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย ตนคิดว่าในเดือนพฤษภาคมควรจะมีการเปิดลงทะเบียนให้กับประชาชนทั่วไปสามารถยื่นความประสงค์ที่จะฉีดวัคซีนกันได้อย่างเต็มที่แล้ว ตอนนี้หมอพร้อมอาจจะยังไม่พร้อมสักเท่าไร หากใครได้ลองแอดไลน์ไปแล้วอาจจะยังไม่เห็นความชัดเจนว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือเมื่อไหร่ที่ประชาชนจะได้วัคซีน ดังนั้น เดือนพฤษภาคมนี้รัฐบาลควรจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนอย่างครบถ้วนแล้ว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะต้องประกาศความคืบหน้าของแผนกระจายวัคซีนให้เรียบร้อยว่าจะฉีดใครหรือฉีดที่ไหนก่อน และจะฉีดอย่างไร เพราะสิ่งที่ไล่ล่าเรามาคือแผนการเปิดประเทศในเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม โดยเดือนกรกฏาคมมีแผนที่จะเริ่มทดลองการเปิดที่จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และเดือนตุลาคมจะขยายเป็น 5 จังหวัด คือ พัทยา กระบี่ พังงา สมุย และเชียงใหม่

ดังนั้นเรามีความพร้อมหรือยัง เงื่อนไขเดียวที่จะสามารถเปิดประเทศให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง คือ ประชาชนในจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้าแล้วหรืออย่างน้อยจะต้องให้เกิภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ความครอบคลุมของการฉีดและประสิทธิภาพของวัคซีน ดังนั้นยิ่งวัคซีนที่ใช้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าตัวอื่นๆ มากเท่าไหร่ จำนวนที่จะต้องฉีดก็ต้องมากขึ้นเท่านั้น

ดังที่มีการพูดถึงอัตราการแพร่กระจายของผู้ป่วยอยู่ที่ 2.2 คือหนึ่งคนสามารถติดได้ 2.2 คนโดยเฉลี่ย ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 100% ก็จะฉีดเพียงแค่ 50% เท่านั้นก็เพียงพอ แต่ถ้าวัคซีนที่จะใช้เป็นตัวหลักเช่นแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพอยู่ที่ 70% สัดส่วนของการฉีดจึงต้องเพิ่มจาก 50% เป็น 80% จึงเป็นสิ่งที่อยากเน้นย้ำ โดยเฉพาะจังหวัดที่จะต้องรองรับการเปิดประเทศในเดือนกรกฏาคมและตุลาคม ควรจะต้องมีแผนการออกมาแล้วว่าจะต้องได้รับวัคซีนอย่างไรบ้าง

ในส่วนของเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ที่จะต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านคนหรือ 3 แสนล้านคน ต้องการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเช่น วันที่ประชาชนจะนัดไปฉีดหากเป็นคนทำงานจะไปกระจุกันเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้ ดังนั้นวันที่นัดไปฉีดนายจ้างควรจะต้องอนุญาตให้เป็นวันหยุดเพื่อที่จะกระจายการฉีดวัคซีนไปในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนในระยะเวลาอันครบถ้วน

สุดท้ายนี้ในเมื่อวัคซีนเป็นโอกาสสุดท้ายตนไม่อยากให้ต้องเสียโอกาสไปเหมือนครั้งที่เรามีตัวช่วย เช่นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้าน พ.ร.ก.ซอร์ฟโลน SMEs 5 แสนล้าน พ.ร.ก.พะยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้าน ตอนนี้ผ่านมา 1 ปีก็พบว่าเราสูญเสียโอกาสสำคัญที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้ เนื่องจาก 1 ล้านล้านก็ใช้ไป 7 แสน 5 หมื่นล้าน

แต่แผนฟื้นฟูยังไปไม่ถึงไหน 209 โครงการที่เบิกจ่ายไปไม่ถึง 10% ส่วน SMEs ซอร์ฟโลนมีการอนุมัติเงินกู้ไปแค่ไม่ถึง 1 ใน 3 จาก 5 แสนล้านซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องสูญเสียโอกาสที่จะพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ ตนไม่อยากให้สูญเสียโอกาสที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้งจากแผนการวัคซีนที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่กระจายความเสี่ยง

นอกจากนี้ น.ส.ศิริกัญญา ยังได้เล่าประสบการณ์การฉีดวัคซีนที่สถาบันบำราศนราดูรอีกด้วยว่า ตนฉีดวัคซีนซิโนแวก ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีอาการปวด ไม่ต้องพักฟื้น 30 นาทีตามที่หมอได้แนะนำและสามารถประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ

ในขณะที่นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ตนอยากให้ความเชื่อมันกับประชาชนว่าเมื่อถึงเวลาได้ฉีดวัคซีนแล้ว ผลข้างเคียงน้อยมาก ตนไปฉีดรู้สึกแค่เหมือนมียุงมากัด ยืนยันว่าไปฉีดได้ ปลอดภัยดี ไม่มีปัญหา ซึ่งหลังจากที่ตนไปฉีดแล้วมีประชาชนถามมาว่าทำไมส.ส.ได้ฉีดก่อน แต่ประชาชนได้ฉีดทีหลัง ขอยืนยันว่าส.ส.ก้าวไกลไม่ได้คิดว่าจะต้องฉีดก่อนประชาชน แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการการดำเนินการของภาครัฐ เมื่อได้เปิดให้ฉีดวัคซีนแล้วอยากให้ไปฉีดกันอย่างทั่วถึงถ้วนหน้าที่สุด

เมื่อถามว่าการควบคุมหรือการรักษามีโอกาสหายขาดหรือไม่ เนื่องจากมีความกังวลว่าโรคโควิด-19เมื่อลงปอดแล้วจะมีอาการต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยต่อไปตลอดชีวิต มีเคสที่เป็นเช่นนี้หรือไม่ นพ.วาโย กล่าวว่า มีเคสเช่นนี้ โรคนี้มีโอกาสความเสี่ยงสูงที่อจจะเสียชีวิตได้ ฉะนั้นในรายที่ไม่ได้เสียชีวิตแต่อาการหนักและรอดพ้นจากการเสียชีวิต อาจเกิดการทุพลภาพเรื้อรังถาวรได้ในบางกรณีแต่ไม่มากนัก ถ้าหากระบบสาธารณสุขเอาอยู่ได้ ฉะนั้นจึงต้องเตรียมการให้ดีซึ่งวัคซีนจะมีผลทำให้อาการของโรคไม่รุนแรงหรือไม่ตาย

เมื่อถามว่าการใช้โมเดลบางแค ถ้าไม่ได้นำเข้าสเปรดเดอร์ใหม่ พื้นที่ก็จะไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มใช่หรือไม่ นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าใครติดบ้างไม่ติดบ้าง เพราะจะเห็นว่าตอนนี้มีการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ ฉะนั้นการใช้โมเดลบางแคในเชิงปฏิบัติไม่น่าจะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามทางออกจริงๆ คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงมากที่สุดมากกว่าการล็อกดาวน์แน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน