รัฐบาล ทุ่ม 588 ล้าน เตรียมแผนรับสถานการณ์ฉุกเฉิน-ภัยธรรมชาติ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการ 4 ยุทธศาสตร์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันที่ 20 เม.ย. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2563-2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบบูรณาการที่ครบวงจร

กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับโรคและภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรงหลายรูปแบบ ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ อุทกภัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงชาติ รวมถึงเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองของประเทศด้วย จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นมา ให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูหลังเกิดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์คือ

1 ลดความเสี่ยงต่อสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ได้แก่ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน

2 บูรณาการระบบและให้บริการทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน และสาธารณภัยอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ พัฒนาระบบสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน และเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้ พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย ระบบบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน

3 ร่วมกับหน่วยงานภาคีในระดับปฏิบัติการพื้นที่พัฒนาระบบปฏิบัติการฟื้นฟูด้านการแพทย์และการสาธารณสุขให้สอดคล้องกับแนวทางการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ

4 พัฒนาศักยภาพกลไกการบริหารจัดการเชิงบูรณาการทางการแพทย์ และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน และสาธารณภัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ พัฒนาขีดความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข เสริมสร้างทักษะและความชำนาญของเครือข่ายด้านการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์

สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์รวมทั้งสิ้น 588.41 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่จะใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการในปี 2563-2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน