ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ประกาศ คสช. กำหนดโทษคนไม่รายงานตัว ขัด รธน. ใช้ไม่ได้ หลัง “วรเจตน์” ยื่นแย้ง ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาเจ้าตัว 8 มิ.ย. นี้ ชี้ ใครหนีคดีขัดคำสั่งเรียกของ คสช. กลับประเทศได้หากไม่มีความผิดอื่น

วันที่ 26 เม.ย. ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (คดีหมายเลขดำ อ2074/2562 ของศาลแขวงดุสิต – คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 30/2563) ในคดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง 3 (แขวงดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลย

ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 5/2557, 57/2557 (เรียกชื่อให้มารายงานตัว) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 (กำหนดโทษคนไม่มารายงานตัว) กรณีนายวรเจตน์ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ต่อมาภายหลังโอนคดีจากศาลทหารมาศาลแขวงดุสิต จำเลยได้ยื่นคำร้องขอศาลแขวงดุสิตให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เกี่ยวกับประกาศดังกล่าวที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

โดยนายวรเจตน์ จำเลย โต้แย้งสรุปได้ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยประกาศฉบับที่ 29/2557 ประกาศใช้บังคับหลังจากที่มีคำสั่งฉบับที่ 5/2557 จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาบังคับใช้ย้อนหลังแก่จำเลย เป็นกฎหมายที่มุ่งหมายบังคับใช้แก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป และประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาเกินสมควรแก่เหตุ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

นอกจากนี้ ประกาศฉบับที่ 29/2557 มีลักษณะเป็นการบังคับข่มขู่ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และ 27 อีกทั้งเมื่อ คสช. สิ้นอำนาจไปแล้ว วัตถุประสงค์ของคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวจึงสิ้นสุดลงไปด้วย เนื่องจากการลงโทษทางอาญานั้น วัตถุประสงค์ของการกำหนดโทษในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดจะต้องดำรงอยู่ในขณะที่มีการลงโทษ การดำรงอยู่ของประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29

ศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย

ศาลแขวงดุสิตอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 บัญญัติรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับจึงยังมีผลเป็นกฎหมายต่อไปแม้ คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้ว และรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย

ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับด้วย ขณะที่ประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ เป็นช่วงที่ คสช. กระทำการยึดอำนาจปกครองแผ่นดินสำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการ

อย่างไรก็ดี เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ฯ ซึ่งเป็นหลักการสากล ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ต้องเป็นไปตามมาตรา 26 ต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี เพื่อมิให้ตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้แก่ประชาชนตามอำเภอใจ

ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกำหนดโทษทางอาญาจึงต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสม เมื่อเทียบเคียงกับกรณีการนำตัวบุคคลที่ยังมิได้กระทำความผิด เพียงแต่มีเหตุอันควรสงสัย มีการกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัย ตาม ป.อาญา มาตรา 46 แทนการกำหนดโทษทางอาญา นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงการไม่รายงานตัวฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กับกรณีบุคคลขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่น การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศ คสช. ยังมิใช่การกระทำอันมีผลร้ายแรง ถึงขนาดต้องกำหนดโทษทางอาญาให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายอื่น ได้แก่ ป.อาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสม จำเป็นและพอสมควรแก่กรณี ดังนั้น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 ไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำผิด ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

นอกจากนี้ การออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อนแล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง เป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ประกาศทั้งสองฉบับเป็นอันใช้บังคับมิได้ วินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557, 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย

ภายหลังศาลแขวงดุสิตอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้อัยการโจทก์ จำเลย และทนายความจำเลยฟังแล้ว ศาลได้สอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า ประสงค์จะแถลงข้อเท็จจริงหรือทำคำแถลงการณ์ใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงว่าไม่มีข้อเท็จจริงใดหรือคำแถลงใดที่จะแถลงต่อศาลเพิ่มเติม ศาลจึงเห็นควรให้กำหนดนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 8 มิ.ย. 2564 เวลา 9.00 น. เหตุที่นัดเกิน 3 วัน เนื่องจากต้องส่งร่างคำพิพากษาไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตรวจก่อนอ่านตามระเบียบ

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายวรเจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำวินิจฉัยนี้ส่งผลให้บุคคลที่ถูกคำสั่งเรียกรายงานตัวที่ยังไม่มารายงานตัว และเกรงกลัวความผิดจากการขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวสามารถกลับเข้ามาประเทศได้ ทั้งนี้ หากไม่มีข้อหาความผิดฐานอื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน