ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร่ายยาววิจารณ์ยับ หลังกองทัพลั่นจำเป็นต้องซื้ออาวุธ แม้วิกฤตโควิด ชี้ไม่ต้องจบสูง ใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ก็น่าจะคิดกันได้

วันที่ 28 เม.ย.64 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก กรณีกองทัพบกชี้แจงการนำงบประมาณไปใช้จ่ายซื้ออาวุธ ทั้งที่ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤตโควิด-19 พร้อมระบุว่า

ที่กองทัพบอกว่ามีความจำเป็นต้องเอางบไปซื้ออาวุธในช่วงนี้ ถูกต้องแล้วเพราะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ผมขอถามว่าอย่างนั้นเราจะมีผู้นำไปทำไม?

หน้าที่ของผู้นำในภาวะวิกฤติ คือการจัดสรรทรัพยากร ต้องโยกคนไปที่ไหน ต้องโยกงบประมาณไปที่ไหน จะเอางบประมาณจากที่ไหนไปที่ไหน ฯลฯ นี่คือผู้นำ เพราะผู้นำคือคนที่มีอำนาจ คือคนที่มีทรัพยากร คือคนที่จะต้องกระจายทรัพยากรไปในหน่วยงาน ไปในประเด็น ไปในพื้นที่ที่ต้องการ เหมาะสม ตามแต่ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ของผู้นำคนนั้นๆ

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แล้วเราจะมีผู้นำไปทำไม? ถ้าทุกอย่างเป็นแบบล่างขึ้นบนทั้งหมด เราก็ไม่ต้องมีผู้นำก็ได้ ประเทศนี้ปกครองโดยข้าราชการไปเลย ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

การจัดสรรทรัพยากรในประเทศไทยมีปัญหาแบบนี้มาตลอด ผมยกตัวอย่าง ในปี 2560 กระทรวงกลาโหมมีบุคลากรทั้งหมด 3.96 แสนคน ผ่านไปสามปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 แสนคน เท่ากับว่าในเวลาเพียงสามปี ตั้งแต่ 2560-2563 จำนวนบุคลากรของกระทรวงกลาโหม (ถ้าไม่นับทหารเกณฑ์) เพิ่มขึ้น 21.2%

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน 2559 ประเทศไทยมีจำนวนอัตราพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ 1.08 แสนคน ผ่านไปสี่ปี ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1.18 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 9.48% ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ลองใช้สามัญสำนึกตัดสินดู ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมาเราควรเพิ่มจำนวนบุคลากรของกระทรวงกลาโหมหรือควรจะเพิ่มบุคลากรพยาบาลวิชาชีพมากกว่า? คุณไม่ต้องจบสูงเลย ใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ผมก็คิดว่าเราน่าจะตัดสินกันได้ ว่านี่คือการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่?

อีกหนึ่งตัวอย่างคืองบปี 2565 ภาพรวมลดลงประมาณ 6% แต่ทราบไหมว่างบประมาณของบุคลากรกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1% ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินทั้งภาพรวมของปี 2565 ลดลง 6%

คำถามคือ จังหวะนี้ควรจะต้องเพิ่มบุคลากรของกองทัพหรือว่าหมอ/พยาบาล? ทำไมคุณถึงปล่อยให้งบประมาณบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่งบประมาณภาพรวมลดลง 6%

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน