วันที่ 17 พ.ย. ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3 นายนรชิต สิงหเสณี โฆษกกรธ. นางสมิหรา เหล็กพรหม รองผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 สำนักงานกกต. และน.ส.สง่า ทาทอง ผอ.ฝ่ายบริหารการเลือกตั้ง และการออกเสียงฝ่ายประชามติ สำนักงาน กกต. ร่วมกันแถลงความคืบการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ การประกาศผลการเลือกตั้ง โดยนายนรชิต กล่าวว่า กรธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับเสร็จแล้ว สัปดาห์หน้าจึงจะทบทวนเนื้อหาทั้ง 2 ฉบับสุดท้ายนี้ไปพร้อมกัน โดยการพิจารณาทุกครั้งมีตัวแทนจากกกต.เข้ามาร่วมรับฟังด้วย และพร้อมจะส่งให้สนช.พิจารณาวันที่ 28 พ.ย.ตามกำหนด

นางสมิหลา กล่าวถึง การคิดคำนวณการประกาศผลการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้ 1 ใบ ในบัตรสำหรับเลือกส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน ซึ่งบัตรใบนี้จะถูกนำไปใช้คิดคะแนนหาส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คนด้วย โดยมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ระบุการคำนวณหาส.ส.ทั้ง 500 คน อย่างสรุป 3 วิธีดังนี้

1.หาคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกส.ส.ทุกพรรคมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนส.ส.ทั้งหมดคือ 500 เช่น ผู้สมัครส.ส.ทุกพรรคได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกัน 29.5 ล้านเสียง เมื่อนำไปหารจำนวนส.ส. 500 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทุก 59,000 เสียง พรรคนั้นจะมีส.ส. 1 คน

2. การหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1 ไปหารด้วยคะแนนที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น พรรคก.มีคะแนนเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ 13.1 ล้านเสียง เมื่อหารกับ 59,000 เสียง จะได้ผลลัพธ์ 222.03 ดังนั้นจำนวนที่พรรคก.พึงมีส.ส. คือ 222 คน เศษทศนิยมของแต่ละพรรคที่เหลือให้เก็บไว้คิดหาเศษที่เหลือของจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี เช่น เศษที่เหลือของจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี มี 7 คน ให้กระจายจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีไปอีกพรรคละ 1 คน สำหรับ 7 พรรค ที่มีเศษทศนิยมสูงสุด 7 ลำดับแรก

3. การหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ลบด้วยจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือก เช่น พรรค ก. พึงมีส.ส. 222 คน ลบจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือกแบบไปแล้ว 187 คน จะทำให้พรรค ก.จะมีจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกอีก 35 คน ดังนั้น การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทุกคะแนนที่ผู้สิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนแบบแบ่งเขต จะส่งผลต่อการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย

นางสมิหรา กล่าวว่า สำหรับการประกาศผลการเลือกตั้ง สำหรับกกต. จะมีหลักใหญ่ 2 รูปแบบ คือ 1.กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งได้ครบทั้ง 350 เขต และไม่มีที่นั่งเกินจำนวน (Overhang) ฐานคะแนนการคิดจะยึดไปตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ ทั้งนี้ ประกาศครบทั้ง 350 เขตก็มีโอกาสที่จะเกิดที่นั่งจำนวนเกินได้ หากมีพรรคไหนได้ส.ส.เขต มากกว่าจำนวนส.ส.ที่พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก แต่จะส่งผลให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน 150 คน

การคำนวณแบบนี้จึงต้องปรับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อให้เท่ากับ 150 คน ด้วยการใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์ เช่น พรรค ค. มีจำนวน ส.ส.ที่พึงมี 4 คน ได้รับเลือกส.ส.แบบแบ่งเขต 5 คน พรรค ค. จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก ส่วน พรรค จ. มีจำนวนส.ส.ที่พึงมี 160 คน ได้รับเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว 109 คน ต้องได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 51 คน

แต่คะแนนแบบนี้จะมีจำนวนที่นั่งเกิน ที่เกิดจากพรรค ค. 1 คน ทำให้ฐานจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเกินเป็น 151 คน การคิดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง จึงต้องคิดโดยเทียบบัญญัติไตรยางค์ ให้เป็นฐานของส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน อย่างพรรค จ. เมื่อเทียบกลับมาบนฐานส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แล้วจะทำให้พรรค จ. มีคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้ 50.6 แต่พรรค จ. จะมีส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 50 คน ทศนิยมให้เก็บไว้สำหรับนำมาคิดชดเชย กระจายตามสัดส่วนที่หายไปพรรคละ 1 คน ตามลำดับทศนิยมจากมากไปหาน้อย

2. กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 หรือคิดเป็น 333 เขต โดยไม่มีที่นั่งเกินจำนวน การจะคำนวณหาจำนวนส.ส.ก็ต้องใช้เลขที่เป็นฐานคิดจากส.ส.ร้อยละ 95 คือ จำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี 475 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบเขต 333 คน แบบบัญชีรายชื่อ 142 คน แต่ทั้งนี้ก็มีโอกาสเกิดที่นั่งเกินจำนวน ก็ต้องเทียบบัญญัติไตรยางค์ปรับลด ในส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับ แต่การเกิดจำนวนที่นั่งเกินนั้นในทางปฏิบัติถือว่าเกิดได้ยาก

เมื่อถามว่าหลังประกาศผลเลือกตั้งร้อยละ 95 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก การคำนวณผลเลือกตั้งอีกร้อยละ 5 เป็นอย่างไร นางสมิหรา กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจกกต.แขวนไว้รอประกาศสำหรับเขตที่มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริต แต่เมื่อได้ครบทุกเขตแล้ว กกต.จะคำนวนคะแนนใหม่จากฐานจำนวนส.ส.500 คน และภายใน 1 ปี กกต.จะคำนวณคะแนนใหม่ทุกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริต

ด้านนายนรชิต กล่าวว่า การคำนวณคะแนนใหม่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี จะทำเฉพาะกรณีทุจริตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเพราะตายหรือลาออก แค่เลือกตั้งซ่อมไม่ต้องคำนวณใหม่ คนที่อยู่ลำดับท้ายของบัญชีจึงมีโอกาสหลุดออกจากส.ส.ได้ หากต้องคำนวณใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิส่วนนี้ไว้แล้วว่าไม่กระทบต่อเงินเดือนที่ได้รับและสิ่งที่ทำไปแล้วให้ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อถามว่าแบบนี้มีโอกาสที่พรรคจะได้เสียงเกิน 250 ที่นั่งหรือไม่ น.ส.สง่า กล่าวว่า การนำคะแนนของส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวนจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยประมาณ 1.8 แสนคน ดังนั้น การจะมีพรรคใดได้คะแนนโดดไปถึง 250 ที่นั่งคงเป็นเรื่องยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน