‘ธนาธร’ ยกโมเดล ไต้หวัน หยุดภาวะย้ายประเทศ ชี้ไทย ดีกว่านี้ได้ถ้าร่วมกันสู้ ยันยังเร็วไปที่จะยอมแพ้ บางประเทศต้องใช้เวลานับ 100 ปี

วันที่ 9 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายธนาธร จึงรุ่งเริงกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อม รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมเปิดห้องสนทนาทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse พูดคุยในหัวข้อ “นาโนชิปไต้หวัน สภาไทย และเหตุที่คนอยากย้ายประเทศ” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน ต่อยอดจากการไลฟ์เฟซบุ๊กของนายธนาธรในหัวข้อเดียวกัน

สำหรับการไลฟ์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงเช้า นายธนาธรได้หยิบยกข่าวสำคัญสามข่าว นั่นคือข่าวการลงทุนนาโนชิปขนาด 3nm ของไต้หวัน, กระแสความอยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่ และกรณีการก่อสร้างรัฐสภาไทยที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์

ซึ่ง นายธนาธร ได้ชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศ หรือที่หลายคนอาจจะเรียกว่าปรากฏการณ์สมองไหลนั้น ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นมาก่อนในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือไต้หวัน ที่เคยมีสัดส่วนของคนที่เรียนต่อต่างประเทศแล้วไม่กลับมาทำงานที่บ้านเกิด สูงถึง 85%

ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และรีบดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบาย ที่ไม่เน้นแต่เฉพาะการลงทุนสร้างเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงการเปิดบรรยากาศทางการเมือง ที่เคยปกครองด้วยเผด็จการพรรคเดียวและกฎอัยการศึกมาก่อน เปลี่ยนประเทศมาเป็นประชาธิปไตย มีการเปิดเสรีให้พรรคฝ่ายค้านดำเนินการทางการเมือง มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ซึ่งส่งผลให้คนไต้หวันจำนวนมากย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศไต้หวันอีกครั้ง รวมทั้งผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Ship Manufacturing Company ltd. (TSMC) ที่เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นบริษัทสัญชาติไต้หวันที่ครองตลาดชิปนาโนบนโลกสูงถึง 90% และกำลังจะลงทุนในชิปนาโนขนาด 3nm ซึ่งเป็นชิปขนาดที่เล็กที่สุดในโลก เพื่อรองรับ digital transformation ของโลก

แต่ถ้าหันกลับมามองในประเทศไทย ไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในชื่อ “สัปปายะสภาสถาน” ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 12,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนเข้าไปใช้งานได้ การออกแบบใช้สอยทุกอย่างเป็นไปเพื่อผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนความฝันของรัฐไทย

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งมีความฝันความทะเยอทะยาน อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ มีความคิดอยากไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ นั่นเพราะความฝันของประชาชนกับความฝันของรัฐเป็นคนละอย่างกัน ไม่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชน

ดังนั้น บทเรียนจากไต้หวันจึงมีคุณค่าที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สมองของคนไทยไหลออกไปนอกประเทศ

‘ธนาธร’ ชี้ยังเร็วไปที่จะยอมแพ้ ลั่นถ้าไม่สู้ประเทศไทยไม่ดีขึ้น

ในช่วงหนึ่งของการสนทนา มีผู้ถามนายธนาธร ถึงความเห็นต่อกระแสความอยากย้ายประเทศในปัจจุบัน พร้อมกับถามว่าเหตุใดนายธนาธรที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นจึงไม่ออกไปตั้งรกรากในต่างประเทศบ้าง

นายธนาธร ระบุว่า สำหรับตน แม้ว่าในระยะหลังจะเริ่มเห็นความเห็นแก่ได้ของชนชั้นนำ ที่จะปกป้องอำนาจ สถานะ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นคนธรรมดาจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ที่เริ่มมีความไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่

ในขณะเดียวกัน ตนก็เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะดีกว่านี้ได้ ขอเพียงมีความจริงใจ ตั้งใจ เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่เอาผลประโยชน์ของชนชั้นนำเป็นตัวตั้ง ตนเชื่อว่าเราสามารถสร้างประเทศไทยที่ดีและน่าอยู่กว่านี้ได้

“ดังนั้น ผมไม่ได้ละทิ้งความเชื่อนี้ แล้วผมคิดว่าถ้าคนที่มีศักยภาพในสังคมไม่กล้าลงมือทำเอง ถ้าทุกคนกลัวแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประโยชน์ทางธุรกิจ อาชีพการงานของตัวเอง ถ้าทุกคนกลัวหมด มันจะไม่มีใครมาขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ให้ประเทศไปข้างหน้า” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธร ยังกล่าวต่อไป ว่าสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าในประเทศไหนไม่ได้เกิดจากความเมตตาของชนชั้นนำ แต่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องอย่างแข็งขันของประชาชน การออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศวันนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะของคนที่เบื่อหน่ายกับสังคม มองไม่เห็นโอกาสในการสร้างครอบครัวสร้างชีวิตที่ดีในประเทศไทยได้

แต่ก็ไม่ใช่คนทุกคนที่จะออกไปแสวงหาโอกาสไปต่างประเทศได้ คนยิ่งจนโอกาสยิ่งน้อย ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะทำได้ ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยังต้องมีคนที่อยู่สู้เพื่อสร้างสังคมที่ดีให้กับทุกคน

“ถ้าคนที่มีศักยภาพทุกคนไปกันหมด ก็จะไม่เหลือใครมาต่อสู้กับระบบระเบียบที่ฉุดรั้งประเทศไทยไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า ผมเชิญชวนทุกคนไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลก เรามีพลัง มีศักยภาพที่จะร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ดีกว่านี้ ทั้งทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และทางการเมือง มาทำด้วยกัน วันนี้ยังเร็วไปที่จะยอมแพ้ การเดินทางเพื่อไปสู่จุดนั้นใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ประวัติศาสตร์ทั่วโลกบอกเราเช่นนั้น บางประเทศใช้เวลาเป็น 100 ปีกว่าจะได้สังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย หลายประเทศใช้เวลาเป็นร้อยปีนะครับ ดังนั้นยังเร็วไปที่จะยอมแพ้” นายธนาธรกล่าวทิ้งท้าย

“วีระยุทธ” ยกบทเรียนไต้หวัน ฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ก่อนปฏิรูปประเทศเป็นประชาธิปไตย

ในส่วนของการสนทนาในห้อง Clubhouse นั้น มีผู้ฟังเข้าร่วมแลกเปลี่ยนอย่างหลากหลาย ทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ที่ได้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว และการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาต่างๆที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้

ซึ่ง รศ.วีระยุทธ ขยายความประสบการณ์จากไต้หวัน ที่ประสบความสำเร็จในการดึงคนกลับเข้าสู่ประเทศ ว่าในช่วงทศวรรษ 60-70 ไต้หวันเคยประสบกับปัญหากับดักรายได้ปานกลางเช่นเดียวกับประเทศไทย ช่วงนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะไปอย่างไรต่อกับอุตสาหกรรมเบาที่ทำมา เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น เมื่อประเทศเริ่มมีฐานะ ค่าแรงที่สูงขึ้นไปก็ทำให้ธุรกิจในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติแบบเดิมได้

ไต้หวัน ตัดสินใจยกระดับเทคโนโลยีครั้งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันไต้หวันในเวลานั้นก็กำลังประสบกับสภาวะสมองไหล มีคนไต้หวันมากถึง 5 หมื่นคนในช่วงเวลาเพียง 20 ปีเดินทางออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา แล้วไม่อยากกลับมาทำงาน ตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่อเมริกาต่อ

สิ่งที่ไต้หวันทำในวันนั้น ก็คือการยอมรับความจริงว่ามีปัญหานี้อยู่ แล้วก็ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ ทำการสำรวจความคิดเห็น เพื่อตอบโจทย์ว่าทำไมคนไต้หวันที่ออกไปเรียนต่ออเมริกาถึงเลือกที่จะไม่กลับประเทศ

พบว่ามีทั้งปัจจัยดึงดูด โดยเฉพาะความก้าวหน้าของงานและรายได้ที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็พบว่ามันมีปัจจัยผลักดันที่เป็นพื้นฐานจากในประเทศด้วยเช่นเดียว นั่นก็คือเรื่องของการเมือง ยุคนั้นพรรคก๊กมินตั๋งยังเป็นระบอบเผด็จการเข้มข้นอยู่ บรรยากาศการเมืองค่อนข้างปิด ฝ่ายค้านก็ไม่สามารถลงแข่งขันได้อย่างเสรี

ดังนั้น ไต้หวันจึงตั้งเป้าว่าจะยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และจะให้คนไต้หวันเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมร่วมกันด้วย ไม่อยากดึงคนนอกเข้ามา จึงตัดสินใจว่าจะมีการปรับตัว โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีการจัด Job Expo ตามเมืองต่างๆในอเมริกาที่คนไต้หวันไปอยู่

ในขณะเดียวกันก็มีการปรับตัวทางการเมืองด้วย จากแรงกดดันจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษา มีการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานอยู่เป็นระยะ ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้ตัดสินใจผ่อนคลายทางการเมือง แทนที่จะปราบปรามให้หนักขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 80 เริ่มมีการเปิดให้พรรคฝ่ายค้านแข่งขันได้อย่างเสรี ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ใช้มาเกือบ 40 ปี ปล่อยให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงอย่างเสรี

“ตั้งแต่ทษวรรษ 80 เป็นต้นมาที่ไต้หวันตั้งใจจะยกระดับเทคโนโลยี มีการผ่อนคลาย มีการปรับตัวเป็นประชาธิปไตยเป็นการเมืองเปิดมากขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น มันเกิดขึ้นคู่ขนานกันหมด ทั้งการเมืองปลายเปิด การเมืองประชาธิปไตย การดึงสมองให้ไหลกลับ แล้วก็ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กลายเป็นประเทศรายได้สูงพร้อมกับตอนที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์” รศ.วีระยุทธกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน