แจง สถานการณ์นักโทษติดโควิด เร่งสร้างระบบคัดกรองให้เร็วขึ้น ส่ง ไมค์ เข้า รพ.ราชทัณท์ พบติดโควิด เคสรุ้ง ปนัสยา ในคุกหญิงตรวจแล้ว ในแดนแรกรับไม่พบเชื้อ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 พ.ค.64 ที่กรมราชทัณฑ์ อ.เมือง จ.นนทบุรี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์

นายอายุตม์ เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายนเป็นต้นมา และผู้ติดเชื้อทั้งหมด ได้รายงานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำจะดำเนินการย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายในทันที และจะแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขังว่าต้องการแจ้งญาติหรือไม่ พร้อมทั้งเร่งขยายผลการสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อดังกล่าว ไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วันและ 14 วัน และในกรณีพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือเป็นกลุ่มสีเขียว เรือนจำใดที่มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก สามารถขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำ ภายใต้ความเห็นชอบของฝ่ายปกครองพื้นที่สาธารณสุขจังหวัด โดยจะต้องจัดเตรียมบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม

กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว คือ 1.Bubble and Seal เรือนจำที่มีการระบาดใหญ่จะลดการรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ลง โดยส่งเรื่องพิจารณาให้ศาลทราบและพิจารณาหนทางต่าง ๆ ที่อาจเป็นไปได้ รวมถึงการไต่สวนทางระบบ Conference เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผู้ต้องขังไปศาล

2.คัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังเข้าใหม่ ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และเร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป และ 3.เจ้าหน้าที่เรือนจำทุกแห่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำชับให้อยู่ในพื้นที่บ้านพักลดการสัมผัสกับครอบครัว และต้องเข้ารับตรวจ Swab ค้นหาการติดเชื้อที่อาจรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวโดยวิธี RT-PCR ทุก 14 วัน

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สิ่งน่ากังวลในการแพร่ระบาดครั้งนี้ คือเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความไวต่อการติดเชื้อได้สูง แสดงอาการช้า และมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ที่กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญ อีกทั้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาจจะมีบุคลากรเฉพาะด้านไม่เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด

ซึ่งได้เร่งจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเพิ่มเติมได้แก่ เวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัส Favipiravir ที่ยังอยู่ในระหว่างการขอรับการอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ เช่น โรงเรียนแพทย์ ต่างๆ องค์การเภสัชกรรม, ยากลุ่มพิเศษอยู่นอกบัญชียาหลักซึ่งมีราคาสูง (High cost) อยู่ในระหว่างขออนุมัติการจัดซื้อจากกรมราชทัณฑ์, อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) พร้อมระบบ High flow oxygen จำนวนอย่างน้อย 5 -15 เครื่อง,

วัสดุในการตรวจคัดกรองเชื้อ เช่น ชุด PPE ชุด Rapid test สำหรับตรวจ Antigen และ Antibody, พัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น พัดลม (อาจเป็นพัดลมไอน้ำถ้ามีการบุพลาสติกใสผนังลูกกรงห้อง) โทรทัศน์ เพื่อสร้างความสงบใจในโอกาสที่เจ็บป่วยแล้วมากักตัวอยู่ร่วมกันจำนวนมาก รวมถึงระบบไฟฟ้า และประปา น้ำยาทำความสะอาด ของใช้อื่นๆ และระบบการกำจัดขยะติดเชื้อที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการจัดหาเพื่อเตรียมความพร้อม

นายวีระกิตติ์ กล่าวต่อว่า ด้วยการคัดกรองเชิงรุกแบบ 100% ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์รถพระราชทาน วิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (PCR) มาสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ ทำให้สามารถแยกกลุ่มเป้าหมายที่ติดเชื้อและกลุ่มที่ยังไม่ติดเชื้อแยกจากกันได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นประโยชน์ในเชิงระบาดวิทยาในการควบคุมโรค รวมถึงการ X-ray ปอดทุกรายโดยรถพระราชทานจะทำให้ค้นหาผู้ป่วยรายที่มีภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบได้รวดเร็ว นำไปสู่การเริ่มยาแบบก้าวหน้าตั้งแต่เริ่มต้น

ซึ่งจะลดผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดอัตราการเสียชีวิต โดยแผนดำเนินการหลังจากนี้ จะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดง อาการหนัก โดยจะติดตั้งระบบ High Flow Oxygen และเครื่อง Ventilator ประมาณ 5 – 10 เตียง เพื่อรองรับไว้ และสำรองยาที่ใช้รักษาให้เพียงพอตลอด

รวมถึงเตรียมเสนอให้มีการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขังในรายที่ไม่ติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน โดยเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว หรือค่า BMI สูง จนครอบคลุมผู้ต้องขังทุกรายในที่สุด ซึ่งเรายึดหลักความเท่าเทียมในด้านการรักษาพยาบาล แม้จะอยู่ในสถานะผู้ต้องขังก็ตาม โดยเรียกการบริหารสถานการณ์ครั้งนี้ว่า “ลาดยาวโมเดล”

นายวีระกิตติ์ ยังกล่าวว่า ในส่วนของ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ที่ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองติดเชื้อโควิด -19 นั้น กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่า ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงกลางแบบ 100% รวมถึงตรวจหาเชื้อกับนางสาวปนัสยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ ไม่มีเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

และยังได้กักตัวนางสาวปนัสยา ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน–5 พฤษภาคม 2564 ซึ่งนางสาวปนัสยา ไม่ได้ออกไปภายนอกเรือนจำ หรือทำกิจกรรมใดๆ จนกระทั่งได้รับปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์ยังดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก 100% อีกครั้งในแดนแรกรับที่นางสาวปนัสยา กักตัวอยู่ ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ต้องขังคนใดที่อยู่ร่วมกับนางสาวปนัสยา ติดเชื้อ โควิด – 19

ส่วนกรณีของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎรที่ต้องดำเนินการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนนำตัวขึ้นศาลเพื่อให้ได้ผลตรวจล่าสุดนั้น ในวันนี้ (13 พฤษภาคม 2564) ผลตรวจนายภาณุพงศ์ พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน