สุพัฒนพงษ์ แจงรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน สู้โควิดรอบใหม่ ลดยอดกู้เหลือ 5 แสนล้าน ไม่ใช่ 7 แสนล้าน

สุพัฒนพงษ์ แจงออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน- วันที่ 25 พ.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน แถลงถึงการออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย การสร้างงาน รองรับความไม่แน่นอนการระบาดของโควิดในนอนาคต การระบาดที่ทอดยาวไปอีกประมาทไม่ได้

เราเคยเชื่อว่าคุมได้แล้วก็มีการระบาดใหม่ ปี 2563 ออกพรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ดูแลพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ ผ่านไปไม่นานมีการระบาดอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าประมาทไม่ได้

การกู้ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้เป็น 7 แสนล้านบาท คิดว่าเพียงพอในการดูแลผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ ก่อนจะมีวัคซีนเข้ามาควบคุมการระบาดได้ดี กู้ครั้งนี้เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดในอนาคต โดยจะดำเนินการคู่ขนาดกับมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการบริโภค ที่ครม.อนุมัติกรอบมาตรการไว้แล้ว จะดำเนินการปฏิบัติทอดยาวคู่ขนานกันไป พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้เตรียมสำรองไว้ใช้รองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต หรือการระบาดที่อาจทอดยาวไปอีก

การเตรียมวงเงิน 5 แสนล้านบาทนี้ยังไม่รวมเงินก้อนอื่นๆ ที่มีในปัจจุบัน ทั้ง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมแล้ว 1.25 ล้านล้านบาท

จากสถิติการระบาดแต่ละรอบช่วงที่ผ่านมา การควบคุมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แต่รอบนี้ระบาดเม.ย. และเพิ่มหลายจุดคาดว่าประมาณ ก.ค.น่าจะควบคุมได้ หรือการระบาดน่าจะสิ้นสุดในไตรมาส 2 ปี 2564

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ต้องกู้ให้เสร็จในก.ย.2565 โดยจะทยอยกู้เพื่อใช้ตาม 3 แผนงาน ได้แก่ ใช้จ่ายเรื่องสาธารณสุข การจัดหาวัคซีนวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท, ด้านเยียวยา เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค วงเงิน 3 แสนล้านบาท และด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท การฟื้นฟูในรอบนี้จะจ่ายเงินให้ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อรักษาการจ้างการไว้ แต่จะเป็นสัดส่วนเท่าไรของอัตราค่าจ้างต้องหารือกันอีกครั้ง

การออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทถือว่าเหมาะสม ทำให้เศรษฐกิจไทย 2564-2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 1.5% จากที่ประมาณการไว้เดิม เหมือนปี 2563 ที่คาดว่าติดลบ 8% ก็ติดลบจริงๆ 6% เนื่องจากออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฉบับแรกมาเยียวยาเศรษฐกิจ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประเมินว่าหนี้สาธารณะเดือนก.ย. 2564 อยู่ที่ 58.64% อยู่ในกรอบไม่เกิน 60% ของจีดีพี

หากเม็ดเงินนี้กระจายสู่ระบบเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มการเติบโตจีดีพีไทยเฉลี่ย 2 ปีคือ 2564 และ 2565 เพิ่มอีก 0.7% หรือเพิ่มจากประมาณการเดิมที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ 1.5-2.5% อีก 1.5% ในปี 2564

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีแผนการใช้จ่ายครบทั้งหมดแล้ว แยกเป็นวงเงินที่ใช้กลุ่มแรก ด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 25,852 ล้านบาท เหลือ 19,174 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการมาขอใช้เงินที่เหลืออยู่ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และค่าบุคลากร กลุ่มที่สองใช้เยียวยา กรอบวงเงิน 6.85 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 666,243 ล้านบาท กลุ่มสุดท้าย ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 1.25 แสนล้านบาท ที่เหลือจะทยอยเสนอครม.เห็นชอบ โดยภาพรวมมีการเบิกจ่ายแล้ว 80%

ส่วนวงเงินกู้รอบใหม่จะเน้นไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมาประสบวิกฤตโควิดมานานกว่า 1 ปีแล้ว เงินก้อนนี้ใช้รักษาการจ้างงานที่มีอยู่เดิม ไม่ให้มีการปลดคนงาน อีกส่วนจะดำเนินการจ้างเด็กจบใหม่ และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ การประชุมครม.เมื่อ 18 พ.ค. มีการพิจารณาวาระลับ และอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 7 แสนล้าน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อใช้แก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 และฟื้นฟูเยียวยาทางเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนที่วันนี้จะพิจารณาสรุปกรอบการใช้เงิน และแถลงชี้แจงเหตุผลการกู้วงเงิน 5 แสนล้านบาท

เปิดบัญชีแนบท้าย เงินกู้โควิดเพิ่ม จาก 7 เป็น 5 แสนล้าน รบ.ใช้ทำอะไรบ้าง?

อดีต รมว.คลัง ร้องศาลปกครองสูงสุด ถอนมติ ครม. กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน ชี้ผิดกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน