ฝ่ายค้าน จับมือแก้ ม.272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. ร่วมกัน จี้ “ชวน” เข็นวาระกฎหมายประชามติ ถกก่อนแก้ รัฐธรรมนูญ ลั่นอย่ายอมให้รัฐบาล มีอำนาจเหนือรัฐสภา

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อหารือถึงการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน จากนั้นเวลา 11.50 น. แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุม โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ

1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกัน ว่ารัฐสภาต้องจัดให้มีการประชุมเรื่องร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเสียก่อน เมื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติเสร็จแล้ว จึงค่อยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีรายละเอียด ดังนี้ คือการแก้ไขรายมาตราในมาตรา 272 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตตินี้พร้อมกัน และการยื่นแก้ไขมาตรา 256 พรรค พท. จะเป็นผู้นำเสนอ โดยขอยืนยันหลักการเดิมที่เคยเสนอไป แต่พรรคพท.ไม่ปิดโอกาสที่จะให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นมาร่วมเสนอ

และ 3.ประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบการเลือกตั้ง และเรื่องอำนาจ ส.ว. รวมถึงการนิรโทษกรรม คสช. พรรคพท.จะเป็นผู้นำเสนอญัตติ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านใดจะร่วมเสนอก็ยินดี ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันเสนอญัตติต่อประธานสภาในวันที่ 16 มิ.ย.นี้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าววว่า ตอนนี้รัฐบาลพยายามลากยาวอำนาจ ฉะนั้นพรรคก.ก.ไม่ต้องการมีส่วนร่วม หรือร่วมสังฆกรรมกับการแก้รายมาตราของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และหากเรียงลำดับความสำคัญของกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ประชามติต้องมาก่อน เป้าหมาย

และโจทย์ใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่ 250 ส.ว.ที่มีส่วนในการเลือกนายกฯ นี่คือจุดร่วมที่ พรรค ก.ก. เสนอมาตั้งแต่เป็นอนาคตใหม่ เราจึงจะลงชื่อร่วมเสนอเรื่องนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นร่างตามลงมาก็มีส่วนที่สำคัญ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราไม่อยากให้หลุดประเด็นไปคือเรื่อง 250 ส.ว. เราจึงเน้นเรื่องนี้ก่อน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า ตนสนับสนุนหลักการในระบบรัฐสภา ซึ่งในวันที 22-23 มิ.ย.นี้ ที่ฝ่ายค้านได้รับการประสานงานจากเลขานุการของประธานรัฐสภา ว่าจะนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาก่อน โดยทางรัฐบาลขอเป็นวาระพิเศษ ตนเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาครั้งนี้ ไม่ได้มีฉบับของรัฐบาลเลยแม้แต่ฉบับเดียว แต่เป็นฉบับของพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น ตนจึงอยากขอร้องให้ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ในการบรรจุวาระ ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่รัฐสภาจะนำเรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาก่อนเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ถ้ารัฐสภายอมให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งถูกบรรจุเข้ามาเป็นวาระพิเศษได้

แปลว่ารัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา อยากให้ประธานวิปฝ่ายค้านประสานกับทางประธานรัฐสภาให้รักษาเกียรติของรัฐสภาไว้ก่อน นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขวิกฤติของประเทศชาติ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวว่า ทางพรรค ก.ก.อยากย้ำว่าสิ่งที่ ระบอบ คสช.กำลังทำอยู่ผ่านการเสนอแก้ไขรายมาตราที่นายไพบูลย์ เสนอ หัวใจจริงๆเป้าหมายมีเพียง 2 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ให้มีการเปิดช่องจนนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 แล้วให้ประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

และ 2.มีการสร้างเงื่อนไขต่างๆให้นายกฯ คนต่อไปยังเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวใจสำคัญที่เขาเสนอคือระบบการเลือกตั้งที่คิดว่าวันนี้ตัวเองได้เปรียบด้วยอำนาจรัฐ และอำนาจอิทธิพลต่างๆ และเปิดช่องให้ให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณแผ่นดิน แทรกแซงข้าราชการเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตได้

ดังนั้น พรรค ก.ก. ขอย้ำว่าการกำหนดวาระการประชุมร่วมของรัฐสภานี้ เป็นอำนาจเต็มของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เราไม่อยากเห็นว่า ประธานรัฐสภาไปจัดวาระการประชุมเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเพียงพรรคเดียว นี่คือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และอธิบายไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน