ก้าวไกล แถลงจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ลงชื่อในร่างเพื่อไทย เห็นต่างปม สสร. บัตรเลือกตั้ง ขอเดินหน้าประชามติ ต้องปิดสวิตช์ ส.ว. ห้ามเลือกนายกฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค และนายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการ พรรค ร่วมแถลงผลการการประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติดังต่อไปนี้

1.พรรคก้าวไกลเห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบันคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหารและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ประตูบานแรกที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวด้วยวิธีประชาธิปไตย คือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเสียงประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้นพรรคก้าวไกลขอคัดค้านหากประธานรัฐสภา จะเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ และนำวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาปลายเดือนนี้ ซึ่งประธานรัฐสภาต้องกำหนดวาระตามปกติ ให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น

นายพิธา กล่าวต่อว่า 2.พรรคก้าวไกลเห็นว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ มีหลายมาตราที่พยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับคสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และดำเนินการต่ออายุให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกครั้ง ผ่านการแก้ไขการเลือกตั้งที่ตนเองจะได้เปรียบทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน ผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณ และแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น

และ 3.การพยายามเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หลากหลายมาตราตามเกมของพรรคพลังประชารัฐนั้นมีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่ไปกว่านั้นคือไปช่วยตกแต่งให้รัฐธรรมนูญ คสช.ดูดีขึ้น และช่วยกันต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบันควรพุ่งเป้าให้ชัดไปยังการปลดกลไกสำคัญ ในการสืบทอดอำนาจของรัฐประหาร

ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้มีการ ปิดสวิตซ์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของคสช.เอง โดยส.ส.พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (16 มิถุนายน)

นายพิธา กล่าวว่า 4.ไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด

ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวและเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ ส.ส.ร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้กับทุกฝ่าย เคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน

นายพิธา กล่าวต่อว่า 5.ระบบการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลเห็นว่าหากมีการแก้ไขระบบเลือกตั้งต้องมีเป้าหมายในการระบบเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายแค่แสวงหาระบบเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด ระบบการเลือกตั้งที่ดีต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างประสิทธิภาพของระบบรัฐสภากับรัฐบาล

ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้ง 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ต้องปรับปรุง ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าระบบเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบและเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ เพื่อนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวน ส.ส.แบบพึงมีแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วนของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด ซึ่งหมายถึงเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก ทุกเสียงต้องถูกนับ

สุดท้ายนี้พรรคก้าวไกลขอย้ำว่าทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่การเข้าร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร และต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 คู่ขนานไปกับการทำลายหัวใจการสืบทอดอำนาจด้วยการปิดสวิตซ์ ส.ว.ก่อนการแก้ไขระบบเลือกตั้งหรือประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ โดยไม่ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ย่อมเป็นการเดินเข้าสู่กับดักและขนมล่อทางการเมืองของระบอบประยุทธ์

เมื่อถามว่าจะยื่นร่างที่มีการตั้ง ส.ส.ร.เองหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องทำ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติให้เสร็จก่อน เพราะครั้งที่แล้วที่มีการยื่นมาตรา 256 เข้าไปก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความมาเช่นนั้น ฉะนั้นตามหลักแล้วไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของมาตรา 256 ที่มีอยู่หรือตามกระบวนการแล้วก็ต้อทำพ.ร.บ.ประชามติให้เสร็จก่อน

ถามต่อว่าที่ต้องทำ พ.ร.บ.ประชามติก่อนเพราะไม่เชื่อมั่นว่าหากยื่นไปแล้วจะถูกตีตกอีกใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตามกระบวนการครั้งที่แล้วเมื่อไปถึงวาระ 1 วาระ 2 ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าต้องทำประชามติก่อน ทั้งนี้พ.ร.บ.ประชามติที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภามาในขณะนี้ก็เหลือประมาณ 10 มาตราตามการเรียงลำดับความสำคัญของกฎหมาย ก็คิดว่าพ.ร.บ.ประชามติน่าจะขึ้นมาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามความเห็นของ รธน. 40 มองว่าพรรคก้าวไกลเสียเปรียบจากระบบเลือกตั้งนี้ใช่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่จริง พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะต่อสู้กับทุกระบบการเลือกตั้ง และพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งระบบเลือกตั้งมีหลายระบบไม่จำเป็นต้องเป็นระบบเลือกตั้งแบบ 2540 อย่างเดียว เราต้องการการเลือกตั้งที่ตอบเจตจำนงของประชาชนและใกล้เคียงกับเจตจำนงของประชาชนมากที่สุด ถ้า 20% ของประชาชนต้องการเลือกพรรคการเมืองนี้

เขาก็ควรที่จะมี ส.ส.แบบเขตและบัญชีรายชื่อตามเจตจำนงของเขาโดยตรง เสียงต้องไม่ตกน้ำหรือไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผลออกมาแล้ว ไม่เป็นพรรคใหญ่ก็มีแค่พรรคเล็กไปเลย ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ แต่วิธีการคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบเขตกับบัญชีรายชื่อมีหลายแบบ ซึ่งระบบแบบเยอรมันเป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ เราจึงเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน