เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. ในฐานะประธานกมธ. เปิดเผยว่า กมธ.มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.หารือเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ที่จะอภิปรายในรัฐสภาวันที่ 23-24 มิ.ย. และมีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เนื่องจากทั้ง 2 มาตรา ห้ามไม่ให้ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กำหนดบทบัญญัติไว้

แม้ว่าการเสนอแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ทำลายหลักการ แต่มีการตัดทอนบทลงโทษส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการประจำ รวมถึงตัดข้อห้าม ส.ส. และส.ว. เข้ามามีส่วนในการใช้จ่ายหรืออนุมัติงบประมาณ และการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากบทบัญญัติส่วนที่ถูกเสนอตัดออกไป 2 มาตรา เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ได้รับสมญานามว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”

นอกจากนี้ บทบัญญัติในมาตรา 185 ยังสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่นอีกด้วย

“กมธ. มองว่าปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดของไทยมี 3 เรื่อง คือ การศึกษา ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขไม่ได้หากปล่อยให้มีการโกงการทุจริตเกิดขึ้น การลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกมธ. จะมีมาตรการแซงชั่นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา อาจจะเป็นการงดออกเสียง การลงมติไม่เห็นด้วย หรือการอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดปุ่มลงคะแนนใดๆ” นายสังศิต กล่าว

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ส.ว. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 185 เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ระบุในอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีต้องตอบรับหลักการดังกล่าว รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงบัญญัติไว้

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ตอบข้อถามถึงกรณีการเสนอแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 อยู่ในญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) แสดงว่าส.ว.ในกมธ.จะไม่รับร่างดังกล่าวใช่หรือไม่ว่า เป็นความลำบากใจของกมธ. และส.ว.หลายคน เพราะมาตรา 144 และมาตรา 185 รวมอยู่ใน 5 ประเด็นใหญ่ในญัตติของพรรคพลังประชารัฐ

“เราแสดงจุดยืนในการแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว การลงมาแถลงแบบนี้คงพิจารณากันได้ว่าการลงมติจะเป็นอย่างไร แต่การตัดสินใจเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละท่าน ซึ่งต้องดูการเสนอญัตติของผู้เสนอญัตติก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องของส.ว.แต่ละคนที่จะมีมุมมองทั้งเหมือนและแตกต่างกัน”นายคำนูณ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน