เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มิ.ย.2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอ 8 ฉบับ

โดยก่อนเข้าสู่วาระ ส.ส.ฝ่ายค้านได้หารือเพื่อขอให้ทบทวนการไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไว้ในระเบียบวาระประชุมรัฐสภา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย สอบถามถึงเหตุผลไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากฝ่ายรัฐสภาเห็นว่า ญัตติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทำประชามติก่อน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ห้ามทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือว่าต้องทำประชามติ ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรก ไม่ทราบว่ามีกระบวนการ หรือใครเป็นผู้จัดทำ และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร หรือเวลาเท่าไร ครั้งที่สอง คือ ประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และครั้งที่สาม หลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ต้องใช้งบประมาณครั้งละ 3,000 ล้านบาท

“การยื่นแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นเพียงกระบวนการจัดทำการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องรองรับไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น หากรัฐสภาเห็นชอบก็ให้จัดทำประชามติต่อไป รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกยกเลิก แต่การไม่บรรจุญัตติเท่ากับห้ามแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง ไม่อยากให้ตีความเกินคำวินิจฉัย ขอให้ทบทวน การไปยึดติดคำวินิจฉัยจนสมาชิกทำหน้าที่ไม่ได้ ขอให้เป็นหน้าที่สมาชิกวินิจฉัย ไม่ใช่ประธานวินิจฉัยเอง” นพ.ชลน่าน กล่าว

นายชวน ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาญัตติจะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องผ่านฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายรัฐสภา ยกเว้นเรื่องสำคัญจะมีที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายช่วยพิจารณา ญัตติดังกล่าวนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่า บรรจุไม่ได้ จึงส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภาช่วยพิจารณา ก็มีความเห็นตรงกันว่า บรรจุไม่ได้ จากนั้นส่งมาให้ตนพิจารณา ตนก็พิจารณาด้วยความรอบคอบ เหตุที่ไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เพราะมีมาตรา 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

จากการตรวจดูพบว่า หลักการและเหตุผลของญัตตินี้ มีสาระสำคัญเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่า มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้ไปทำประชามติก่อนว่า ประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงมีความเห็นไม่บรรจุ ถ้าบรรจุแสดงว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัย

“ยืนยัน 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกฯไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่า การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนร่างภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใด จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ถ้าไปท้าทายคำวินิจฉัย ด้วยการบรรจุญัตติ ก็เท่ากับผมทำผิดรัฐธรรมนูญ”นายชวน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน