เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) 13 ฉบับ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอ 8 ฉบับ

ในช่วงเปิดให้สมาชิกรัฐสภา อภิปรายแสดงความคิดเห็น นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในส่วนของระบบการเลือกตั้งพรรคเล็กจะหายไป พรรคใหญ่จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชน มีอิทธิพลล้วงลูกและก้าวก่ายโดยเฉพาะงบประมาณและข้าราชการประจำ

ส่วนเรื่องปิดสวิสช์ส.ว. ตนยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุนการตัดมาตรานี้ แต่เรื่องนี้ที่ ส.ส.และพรรคการเมืองเสนอมานั้น ตนอยากใช้คำพูดว่า “กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง ทำทีเรียกร้องประชาธิปไตย เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ ส.ว.”

ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ หรือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ถือว่าเป็นเรื่องเครื่องเคียงของการเสนอกแก้กฎหมายในครั้งนี้ ถ้าจะพูดตามคำกลอนของสุนทรภู่ คือ “อันพริกไทย ใบชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้ากันเสียหน่อยให้อร่อยใจ” ความจริงจะมีการเพิ่มหรือไม่เพิ่ม จะแก้หรือไม่แก้ เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญและมีอยู่ในกฎหมายลูกอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรม

การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องของการได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง เป็นเรื่องของการเอาชนะกันทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของประชาชน เป้าใหญ่คือระบบเลือกตั้ง แพ้ชนะกันทางการเมือง ว่าใครจะได้ส.ส.มากกว่ากัน มองถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า

ในสภาแห่งนี้มีการพูดกันมาตลอดว่าบ้านเมืองนี้มีการลือกตั้งกี่ครั้ง ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้ง อบจ. อบต. เทศบาล หรือเลือกตั้งส.ส. มีการโกงกัน ซื้อสิทธิ์ขายเสียงในทุกระดับมีการคอร์รัปชั่นมหาศาล แต่เราไม่เคยคิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต เคยกระชับรัฐธรรมนูญให้เข้มแข็งปราบปรามคอร์รัปชั่นหรือไม่ ซึ่งไม่ได้ทำเลย แต่พูดถึงว่าใครจะชนะกันมากกว่า

รัฐธรรมนูญปี 2560 ในเรื่องระบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองนั้น ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค ร่วมในการบริหาร คัดคนลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีส่วนร่วมในการออกเงินให้พรรค ทุกคะแนนของประชาชนมีราคา ไม่มีความหมายโดยไม่ทิ้งน้ำ ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้คนใหม่ๆ

“สิ่งที่เสนอแก้มานี้ พรรคเล็ก พรรคน้อยจะหายไป พรรคใหญ่ๆ ทุนหนาๆ จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปอย่างสิ้นซาก นายทุนจะครอบงำพรรค คนมีเงินมีอำนาจจะมีบทบาททางการเมือง พรรคการเมืองจะเป็นเหมือนบริษัท ลูกพรรคหรือส.ส.จะเป็นเหมือนพนักงาน ธุรกิจการเมืองจะกลับมาอีก เรากำลังปิดสวิสซ์คนยากคนจน คนด้อยโอกาสที่จะเข้ามามีบทบาทางการเมือง”นายวันชัย กล่าว

ทำให้ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงนายวันชัยว่ากำลังเสียดสีสมาชิกรัฐสภา และอยากให้นายวันชัยแสดงออกในการอภิปรายครั้งนี้ ด้วยการลาออกจากการเป็นส.ว.เพื่อไม่ให้เกิดรอยด่างของระบอบประชาธิปไตย จะเอาดีใส่ตัวไม่ได้

ด้าน นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงนายวันชัย ว่า เสียดสีด่าทอให้ร้าย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนอื่นแย่ หรือเลวหมด ดังนั้น ประธานที่ประชุมต้องกำชับ อย่าเป็นผู้ใหญ่แต่อายุ ฝึกความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเองด้วย

ขณะนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้กำชับให้นายวันชัยพูดตรงประเด็น อย่าพูดจาว่าคนอื่น

นายวันชัย กล่าวว่า ตนไม่ได้ว่าใครเลย ความจริงเวลาพูดถึงส.ว.จะมีการกล่าวหาโจมตีส.ว.อย่างรุนแรง ซึ่งตนพูดในภาพรวม ไม่ได้หมายถึงส.ส.คนหนึ่งคนใด และความเป็นผู้ใหญ่ของตนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่บางคนทางการเมืองก็รู้อยู่ว่าทำอะไร และยืนยันว่า ในการเลือกนายกฯ คือส.ส.และรัฐบาลจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว จะล้มหรือไม่อยู่ที่ส.ส.ไม่เกี่ยวกับส.ว. ถ้าส.ส.รวมกันได้เกินกว่า 250 เสียง อย่างไร ส.ว.ต้องเลือกคนนั้นเป็นนายกฯ ถ้าไปเลือกคนอื่น รัฐบาลและส.ว.ก็อยู่ไม่ได้ และทุกวันนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ได้ด้วยพรรคการเมืองและส.ส. ไม่ใช่อยู่ได้ด้วย ส.ว.

อย่างไรก็ตาม การประท้วงระหว่าง นายวันชัย และนายคารม ยังมีต่อหลังจากที่นายวันชัย อภิปรายแล้วเสร็จ โดยนายคารม ย้ำว่า อย่าทำตัวเป็นผู้วิเศษ ขณะที่ นายวันชัย ตอบโต้ว่า “ขอให้หาพรรคอยู่ให้ได้ก็แล้วกัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน