อ.จุฬาฯ กางข้อกฎหมาย ชี้ ส.ส.รัฐบาล จงใจทำ สภาล่ม ละเมิดอำนาจรัฐสภา เข้าข่ายผิดจริยธรรมเผยอาจมีโทษทางกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณีอังกฤษ

วันที่ 1 ก.ค.64 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นกรณีสภาล่ม ความว่า

ว่าด้วยเรื่องสภาล่ม

คุณวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีสภาผู้แทนราษฎรล่มจนทำให้ไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายได้ เนื่องมาจาก ส.ส.ฟากรัฐบาลไม่เข้าประชุมว่า “เป็นเทคนิครอเวลา เพราะคุยกันยังไม่รู้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ไปคนละทางกันเลย” กรณีนี้มีประเด็นในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภาที่ต้องอธิบายดังนี้ครับ

1. การกระทำของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เข้าประชุม (ข้อเท็จจริงปรากฏด้วยว่าบางท่านไปที่สภาแต่ไม่แสดงตนรวมถึงคุณวิรัชเองด้วย) ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา เรียกการกระทำนี้ว่า “การเตะถ่วงการตราตัวบทกฎหมาย” (Filibuster)

2. จากบทสัมภาษณ์ของคุณวิรัชชี้แจงว่าที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าร่วมประชุมนั้นก็เพราะยังคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะให้องค์ประชุมครับได้อย่างไร ลักษณะการกระทำและคำพูดมีความชัดเจนว่ามี “เจตนา” ที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายได้

3. เมื่อการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลรวมถึงคุณวิรัชร่วมใจกันไม่เข้าประชุมโดยมี “เจตนา” ตามที่ให้สัมภาษณ์ว่าเป็น “เทคนิค” ที่ทำขึ้น ตามหลักกฎหมายรัฐสภาแล้วเป็น “การละเมิดอำนาจรัฐสภา” (Contempt of Parliament) ซึ่งหมายถึง เป็นการจงใจที่จะสร้างอุปสรรค หรือขัดขวางการทำหน้าที่ของรัฐสภา ณ ที่นี้ก็คือ ทำไม่ให้สามารถดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายได้ตามที่อธิบายไปตามข้อ 2

4. การเจตนาเตะถ่วงการพิจารณาร่างกฎหมายถือเป็นการกระทำผิดที่กระทบต่อ “หลักการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สาธาณะของฝ่ายนิติบัญญัติ” ที่เรียกร้องให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ต้องกระทำโดยไม่ชักช้าด้วย

ดังนั้น จึงถือว่าเข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการ พ.ศ.2563 ที่กำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือเพื่อประโยชน์ประเทศ อุทิศเวลาให้กับการประชุม และพิจารณากฎหมายโดยไม่ชักช้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นไปตามภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในหมวดที่ 7 รัฐสภา

5. ประเด็นนี้อยู่ในขอบข่ายการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อข้อบังคับหรือไม่อย่างไร และทำความเห็นต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมีมติต่อไป หากเป็นกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปครับ

ผมเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนปวงชนพึงต้องทำหน้าที่ของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อประโยชน์ของประชาชนครับ

อนึ่ง กรณีการเตะถ่วงการพิจารณากฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรของประเทศอังกฤษ (House of Commons) เคยมีมติลงโทษสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานละเมิดอำนาจรัฐสภา เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ของสภาอันเป็นการกระทำต่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร้เหตุผล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน