เมาขับ ร้านเหล้าผิดด้วย? ภาคีลดผลกระทบน้ำเมาชูไอเดีย เอาผิดผับ บาร์ เตรียมล่าหมื่นชื่อ แก้พรบ.แอลกอฮอล์ คุมเข้มแฝงโฆษณา

เมาขับ เอาผิดถึงร้านเหล้า- เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่รัฐสภา ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) นำโดย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพฯ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ายื่นหนังสือ ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ผ่านทางนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ

เพื่อยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มขอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน มีการโฆษณาแฝง เลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยนำเสนอมาตรการที่เข้มแข็งมากขึ้น และยืนยันหลักการแก้ไขกฎหมายต้องทำให้กฎหมายมีความเข้มแข็งขึ้น ดีขึ้น ไม่ใช่ให้อ่อนแอลง

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ใช้มากกว่า 13 ปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการใช้สื่อสมัยใหม่ การมีผู้ผลิตรายใหม่มากขึ้น แต่กลไกการบังคับใช้กฎหมายปี 2551 ยังไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้ารายใหญ่ยังมีการทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่พบว่ามีภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอเข้ามาเช่นเดียวกัน จากร่างที่เสนอเป็นการลดประสิทธิภาพในการควบคุม กลายร่างมาเป็นกฎหมายส่งเสริมการขายน้ำเมาแทน เช่น เสนอยกเลิกการห้ามโฆษณา ยกเลิกการห้ามลดราคา แจก แถม ให้ชิม ให้ขายเหล้าเบียร์ในมหาวิทยาลัยได้เป็นต้น

ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงได้ยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเช่นกัน เพื่อให้มีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น โดยมีผู้ริเริ่มร่วมกัน 28 คน จึงนำรายชื่อมาเสนอต่อประธานสภาฯเพื่อพิจารณา หากเห็นด้วยก็จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงเว็บไซต์ www.stopdrink.com หากประชาชนเห็นด้วยก็ลงชื่อสนับสนุน เมื่อได้เกิน 1 หมื่นรายชื่อก็จะนำเสนอร่างกฎหมายจากประชาชนต่อรัฐสภาอีกครั้ง

ด้านนายเจษฎา กล่าวว่า หากการปรับแก้ไขกฎหมายใดๆ โดยหลักการต้องทำให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้แย่ลง อย่าลืมว่ากฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและลดผลกระทบทางสังคม แต่สิ่งที่ธุรกิจเสนอแก้ไขตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์โดยสิ้นเชิง เป็นร่างกฎหมายที่ส่งเสริมให้ขายให้ดื่มมากกว่าที่จะควบคุม

ส่วนตัวอยากให้มีการแก้ไขให้เหยื่อเมาแล้วขับสามารถฟ้องแพ่ง เอาผิดกับร้านเหล้า ผับ บาร์ ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเหล่านั้นแล้วมาก่อเหตุ ต้องทำให้คนขายรับผิดชอบมากขึ้นไม่ใช่ลอยตัวเหนือปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน