‘ปิยบุตร’ เปิดสองช่องกฎหมาย ฟ้องรัฐ เยียวยา โควิด-ไฟไหม้กิ่งแก้ว ชี้บริหารงานเข้าข่าย “ประมาทเลินเล่อ” จนเกิดความเสียหาย ถามถ้าไม่ดูแลปชช.จะมีรัฐไปทำไม

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการเฟซบุ๊คไลฟ์ทางเพจ Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล ในหัวข้อ “การเรียกค่าเสียหายจากรัฐ : จากกรณี covid-19 ถึงกรณีไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว” อธิบายข้อกฎหมายและหลักการทางกฎหมาย ที่สามารถเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้

เปิดเลคเชอร์หลักกฎหมายความรับผิดของรัฐ ว่าด้วย “ละเมิด” และ “ความรับผิดอย่างอื่น” ชี้ใช้ฟ้องรัฐได้ทั้งสองช่องทาง

นายปิยบุตร กล่าวว่า กรณีประเทศไทยนั้นมีกฎหมายหลักตัวหนึ่งคือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ที่พูดถึงหลักการ ว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่แล้วเป็นละเมิด ประชาชนได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายสามารถไปฟ้องเอากับหน่วยงานรัฐต้นสังกัดหรือกระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การ “ละเมิด” จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นการกระทำโดยจงใจหรือว่าประมาทเลินเล่อ กระทำโดยไม่มีกฎหมายอให้อำนาจกระทำ เกิดความเสียหาย และการ กระทำกับความเสียหายนั้นสัมพันธ์กัน ผู้เสียหายมีสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับผู้กระทำการละเมิดได้ อีกทั้งการละเมิดอาจเกิดจากลงมือการกระทำ หรือเกิดจากการงดเว้นไม่ทำ จนนำมาซึ่งความเสียหาย ก็ถือว่าเป็นละเมิดได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกความรับผิดหนึ่ง ที่ประเทศไทยยังพูดถึงกันน้อย นั่นคือ “ความรับผิดอย่างอื่น” คือไม่ใช่ความรับผิดทางละเมิด ไม่มีการละเมิดเกิดขึ้นแต่รัฐต้องรับผิด รัฐกระทำการโดยมีอำนาจตามกฎหมายก็จริง แต่ประชาชนเสียหายเป็นพิเศษ ผู้เสียหายก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้

โดยจุดกำเนิดของกฎหมายเรื่องนี้เริ่มต้นที่ที่ประเทศฝรั่งเศส เราเรียกกันว่า “ความรับผิดโดยปราศจากความผิด” ฐานคิดมาจากสามเรื่องใหญ่ๆ คือ 1) ความเสี่ยงภัย หมายถึงว่าปัจเจกบุคคลอาจอยู่ในสถานะที่เสี่ยงภัยกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับเขาแล้ว รัฐต้องมาชดเชยเยียวยาให้แม้รัฐจะไม่ผิดก็ตาม

2) ความไม่เสมอภาคในการรับภาระสาธารณะ เวลารัฐตัดสินใจทำอะไรก็ตามเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่การตัดสินใจดำเนินการตามมาตรการนั้นอาจจะมีเอกชนรายใดรายหนึ่งเสียหายกว่าคนอื่น เพื่อให้รัฐได้ทำผลประโยชน์ส่วนรวมได้สำเร็จ รัฐไม่ได้ละเมิดและมีอำนาจตามกฎหมาย แต่การไม่ชดเชยอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะทำให้คนกลุ่มเดียวเสียหายมากกว่าคนอื่นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

3) ความสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนร่วมชาติ การที่คนกลุ่มหนึ่งเดือดร้อนเสียหาย คนที่เหลือจะไม่สนใจใยดีอะไรเลยก็ไม่ถูก เงินภาษีที่ทุกคนช่วยกันจ่ายมาก็ควรต้องนำมาช่วยบุคคลเหล่านี้ที่ได้รับความเสียหายกว่าคนอื่น

“พอเราทำให้หลักการเหล่านี้เป็นกฎหมายก่อตั้งสิทธิ-หน้าที่แล้ว สังคมจะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ไม่ต้องมาดราม่าใครบริจาค/ใครไม่บริจาค ใครช่วย/ไม่ช่วย ทุกอย่างจะตั้งจากหลักการเหล่านี้ ว่าเรามีสิทธิเรียกร้องอะไร รัฐมีหน้าที่ต้องทำอะไรให้เรา แต่พอเราไม่มีระบบแบบนี้ที่ดีเพียงพอ มันจึงออกมาในรูปแบบของการบริจาค การช่วยเหลือ ประชาชนรวมกลุ่มช่วยกันเอง เอาตัวเองให้รอด รัฐก็ทำตัวเหมือนไม่มีหน้าที่ แต่ถ้าเราออกแบบได้สมบูรณ์จริง รัฐมีหน้าที่แบบนี้ แล้วถ้ารัฐไม่ทำตามหน้าที่ พวกเราประชาชนก็จะไปสามารถเรียกค่าเสียหายต่อรัฐได้ ไม่มีใครมีบุญคุณต่อกัน นี่คือแผ่นดินเดียวกัน ร่วมกันของสมาชิกในชาติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน” นายปิยบุตรกล่าว

ชี้ รัฐบริหารงานเข้าข่าย “ประมาทเลินเล่อ” จนเกิดความเสียหาย – แนะช่องทางประชาชนฟ้องรัฐ

นายปิยบุตร กล่าวต่อไป ว่าปัญหาของประเทศไทยคือเรามีระบบศาลคู่ คือศาลยุติธรรมและศาลปกครอง มาตรา 9(3) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 42 เขียนไว้ชัดว่าในกรณีที่เป็นเรื่องของการละเมิด เป็นเรื่องของความรับผิดอย่างอื่น เป็นเรื่องของความเสียหายที่เกิดจากการละเลยหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เหล่านี้ให้ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลปกครอง

ในกรณีละเมิด การละเลยหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หมายถึงว่าเมื่อรัฐมีหน้าที่ต้องทำแล้วไม่ยอมทำ เช่น รัฐมีหน้าที่บริหารจัดการโรคระบาด มีหน้าที่ต้องหาวัคซีนให้เพียงพอ ต้องหาวัคซีนให้ได้มาตรฐาน ต้องออกมาตรการที่ดีเพียงพอในการลดการแพร่ระบาด ต้องมีโรงพยาบาล/ศูนย์บริการ/เตียงให้เพียงพอในการรักษาผู้ป่วย แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้ทำ จะโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ถือว่าเป็นการละเมิดทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ตนเห็นว่ากรณีการบริหารจัดการโควิดของรัฐที่ผ่านมา เข้าข่ายในเรื่องของความประมาทเลินเล่อ เพราะหลายกรณีเป็นสิ่งที่รัฐคาดหมายได้ว่าจะเกิด สามารถวางมาตรการเอาไว้ล่วงหน้าได้หมด แต่รัฐกลับไม่ได้วางเตรียมไว้

ดังนั้น ผู้ใดที่เสียหาย มีญาติมิตรครอบครัวที่ตายจากเรื่องโควิด แล้วเราสามารถหาข้อเท็จจริงมาประกอบกันได้ ว่าความตายเกิดขึ้นจากการประมาทเลินเล่อของหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหาเตียงไม่ได้ หาวัคซีนไม่ทัน หาวัคซีนได้ไม่ดีเพียงพอ มาตรการต่างๆไม่ดีเพียงพอ ผมเห็นว่านี่เข้าข่ายละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทนได้” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปถึงกรณีที่เป็นฐานความรับผิดอย่างอื่น คือ กรณีที่เป็นความรับผิดโดยที่รัฐไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ละเมิด แต่การตัดสินใจดำเนินนโยบายของหน่วยงานรัฐทำให้คนบางกลุ่มได้รับความเสียหายเป็นการเฉพาะเจาะจงอย่างยิ่งเป็นพิเศษ

เช่น ในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม นักดนตรี การท่องเที่ยว คนที่ประกอบธุรกิจต่างๆที่ถูกสั่งให้ปิดกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในตอนนี้ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งนั้น แต่กลับไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาตามมาเพียงพอ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับความเสียหายมากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ

ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆรวมตัวกันฟ้องได้ แม้กรณีนี้รัฐไม่ได้ละเมิดผู้ใด เป็นการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันโควิด ซึ่งหากไปดูหลายประเทศ จะใช้การเยียวยาก่อนโดยไม่ต้องให้เกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วงโควิด ยังฟ้องขอเพิกถอนประกาศคำสั่งต่างๆที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการ

โดยอ้างว่าประกาศ คำสั่งเหล่านี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ไม่ได้สัดส่วน ไม่สมควรแก่เหตุ ออกมาแล้วไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องจัดการโควิด เกินความจำเป็น ไม่เสมอภาค เลือกปฏิบัติ

รวมถึงกรณีหมอ-พยาบาล-อสม. นักรบด่านหน้าที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยว่าผู้อื่น หากเกิดกรณีบุคลากรเหล่านี้ต้องเสียชีวิตจากการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด เหตุเกิดขึ้นจากความเสี่ยง และคนเหล่านี้รับอาสาไปเสี่ยง ดังนั้นรัฐต้องเยียวยาให้

ดังนั้น เหตุการฟ้องมีได้หลายเหตุ แต่ปัญหาซับซ้อนไปอีก เพราะ ศบค.ตั้งขึ้นมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งมาตรา 16 เขียนไม่ให้นำกฎหมายศาลปกครองมาใช้ ทำให้การโต้แย้งการใช้อำนาจต่างๆของ ศบค.ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้

ก็จะเหลือแค่ศาลยุติธรรม ซึ่งปัญหาคือ ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมไม่เคยมีแนวทางคำพิพากษาในเรื่องความรับบผิดอย่างอื่นมาก่อนเลย มีแต่เรื่องของการละเมิด จึงไม่แน่ใจว่าศาลยุติธรรมจะปรับใช้เรื่องความรับผิดโดยปราศจากความผิด-ความรับผิดที่ไม่ได้เกิดจากการละเมิดหรือไม่?

ส่วนกรณีภัยพิบัติไฟไหม้ แน่นอนว่า โรงงานต้นเหตุไฟไหม้ต้องรับผิดชอบ ผู้เสียหายก็เรียกค่าเสียหายจากโรงงาน หรือบริษัทประกันภัยเข้ามาชดเชยให้ตามสัญญา แต่นั้นคือ คดีแพ่ง ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่มีอีกกรณี คือ การฟ้องรัฐให้รับผิดชอบด้วย

นายปิยบุตร แนะนำว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถไปฟ้องรัฐกับศาลปกครองได้ โดยอ้างว่า รัฐมีหน้าที่ในการป้องกัน-เตือนภัยล่วงหน้า แต่ไม่ทำ หรือทำล่าช้า โดยรู้อยู่แล้วว่าภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นได้เสมอ โรงงานมีความเสี่ยง บริเวณรอบนั้นมีความเสี่ยง แต่ไม่ได้ออกมาตรการป้องกันดีเพียงพอ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นละเมิดแน่ๆ ในเรื่องความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ สามารถฟ้องกับรัฐได้ที่ศาลปกครอง

ส่วนในเรื่องของความรับผิดอย่างอื่นก็เข้าข่ายได้เช่นกัน คือบ้านเรือนในละแวกนั้นอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยมากกว่าคนอื่น เพราะอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นรัฐก็ต้องชดเชยเยียวยาให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วย โรงงานมาตั้งก่อน บ้านเรือนมาทีหลังก็จริง แต่บ้านเรือนเหล่านี้ก็ยังต้องเสี่ยงภัยมากกว่าคนอื่นอยู่ดี ใครที่บ้านอยู่ในรัศมีการระเบิดได้รับผลกระทบ ตนอยากให้ลองฟ้องฐานความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา 9(3) ดู

“ผมสนับสนุนให้ผู้เสียหายจากกรณีโควิดและไฟไหม้กิ่งแก้วครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิดต่างๆ ควรใช้สิทธิในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากรัฐ อาจจะเป็นเรื่องของละเมิดหรือเรื่องของความรับผิดที่ไม่มีการละเมิด ฟ้องไปเลย บางกรณีต้องไปศาลยุติธรรม บางกรณีต้องไปศาลปกครอง

กรณีโควิดส่วนใหญ่ต้องไปศาลยุติธรรมแล้วเพราะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนกรณีอื่นไปศาลปกครองได้ โดยอาศัยการฟ้องในลักษณะของกลุ่ม (Class Action) หรือฟ้องในนามสมาคม หรือจะฟ้องเองทีละคนก็ได้ แต่ต้องพยายามประสานให้รูปคดีไปในทิศทางเดียวกัน

ที่สำคัญที่สุด อาจต้องมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาช่วยเหลือ ผมเห็นว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดเสวนาวิชาการเรื่องนี้ แล้วในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หรือสถาบันการศึกษาทางกฎหมาย จะตั้งศูนย์ทางกฎหมายขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากรัฐจากกรณีโควิดและไฟไหม้โรงงาน” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตามมา คือเมื่อเกิดการฟ้องคดีกันในศาล พี่น้องประชาชนต้องรับภาระในการขึ้นศาล เสียค่าธรรมเนียมศาลในการเรียกค่าสินไหมทดแทน ต้องสู้คดีในศาล สุดท้ายกว่าจะตัดสินกันหมดก็อาจจะกินเวลา 5-10 ปี

ดังนั้น ในขณะเดียวกัน รัฐเองก็ต้องเสียเวลามาสู้คดี เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกันระหว่างรัฐกับประชาชน ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการทางนโยบายออกมาเลยจะเป็นการดีกว่า เช่น คณะรัฐมนตรีออกมาตรการเยียวยามาเป็นชุด ชดเชยให้ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วงโควิด

เสนอทางออกปรับปรุงระบบกฎหมายรองรับเหตุอนาคต – ถามถ้ารัฐไม่ดูแลประชาชนจะมีรัฐไปทำไม?

นายปิยบุตร ยังกล่าวต่อไป ว่าในกรณีนี้หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่ารัฐเกี่ยวข้องอย่างไร เหตุใดต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ แต่สำหรับตนแล้วมนุษย์รวมตัวกันเป็นรัฐขึ้นมาเพื่อหวังว่ารัฐจะดูแลประชาชน มนุษย์ยอมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ยอมให้รัฐมามีอำนาจเหนือตนเอง ก็เพื่อให้รัฐทำเพื่อส่วนรวม ดูและประชาชน หน้าที่ของรัฐคือการอภิบาลดูแลประชาชน ถ้ารัฐไม่ดูแลประชาชนก็ไม่ต้องมี ก็อยู่กันเองก็ได้

ดังนั้นเมื่อมีรัฐเกิดขึ้นรัฐก็ต้องดูแลประชาชน โลกปัจจุบันสามารถเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้มากมาย ความเสียหายที่ตามมาก็มากขึ้น รัฐจึงมีหน้าที่ต้องลงมาเยียวยาประชาชนเพิ่มขึ้นจากเรื่องเหล่านี้ ในกรณีที่รัฐผิดละเมิดชัดเจนเป็นเรื่องหนึ่ง แต่บางกรณีแม้จะไม่ได้ละเมิดใครเลยแต่ก็ต้องเยียวยาประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐโดยกำเนิด

ทั้งนี้ ข้อเสนอของตนคือประเทศไทยควรออกแบบกฎหมายให้เป็นระบบ เพื่อรองรับกับเหตุการณ์โรคระบาดและภัยพิบัติ ประเทศไทยควรจะมีกองทุนที่เข้าไปเยียวยาทันทีโดยไม่ต้องมานั่งดูว่าใครผิดใครถูกใครละเมิดหรือไม่ ถ้าเยียวยาแล้วยังไม่พอจึงไปฟ้องศาลเพิ่ม

“ถ้าเราทำแบบนี้ได้จริงจะเกิดความเป็นระบบมากขึ้น เกิดสิทธิ-หน้าที่ระหว่างพลเมืองกับรัฐมากยิ่งขึ้น เราจะได้ไม่ต้องไปนั่งคิดว่าใครจะบริจาค ใครจะไม่บริจาค ใครออกหน้า ฯลฯ อะไรวุ่นวายไปหมด นี่คือสิทธิ-หน้าที่ต่อกันระหว่างพลเมืองกับรัฐ ผมคิดว่ากฎหมายเช่นนี้ควรมีขึ้น อย่าไปคิดว่าโรคระบาดมันเกิดขึ้นเอง ภัยพิบัติไฟไหม้ โรงงานระเบิดมันเกิดขึ้นเอง จะไปเอาอะไรกับรัฐ แต่นี่เป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นสัญญาประชาคมที่เราก่อตั้งรัฐขึ้นมา” นายปิยบุตรกล่าว

นอกจากนี้ นายปิยบุตร ยังเสนอมาตรการระยะยาวทางกฎหมาย ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เวลาภัยพิบัติเกิดขึ้น รัฐควรจะต้องรับเป็นเจ้าภาพในการไปฟ้องเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างระบบกฎหมายให้มีความยั่งยืน หลักการพื้นฐานทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ หลักการการป้องกัน การเตือนล่วงหน้า การมีส่วนร่วม การให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เหล่านี้ต้องรับรองให้เป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายสำคัญในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ทันสมัย พระราชบัญญัติโรงงานที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535 ล่าสุดทำใหม่ในปี 62 ก็แย่ลง มีการยกเว้นการต่อใบอนุญาต ยกเว้นโรงงานบางประเภท ฯลฯ เราควรควบคุมมาตรฐานโรงงานให้มากกว่านี้ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการประชาพิจารณ์และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่จะต้องทำให้จบไปเท่านั้น

กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็ควรจะต้องปรับปรุงใหม่ให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งในเรื่องมาตรการชดเชยเยียวยา เอาวิธีคิดเรื่องความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาใส่ นำมาตรการทางภาษีมาใส่ ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย รวมทั้งเรื่องของผังเมืองที่ปัจจุบันสีต่างๆซ้อนกันไปมา หลายครั้งโรงงานตั้งเสร็จแล้วค่อยมีผังเมืองตามมา แล้วให้ใช้บังคับในอนาคต ไม่ใช้บังคับกับโรงงานที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้การวางผังเมืองไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางความเป็นจริง

นอกจากนี้ รัฐควรจะต้องมีมาตรการเชิงรุกจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนย้ายออกไปในที่ที่ไม่มีชุมชนอยู่อาศัย ใช้มาตรการทางภาษี การส่งเสริมการลงทุน หรือให้เงินอุดหนุนต่างๆ อย่างเป็นระบบ สร้างระบบขนส่งสาธารณะ

อีกกรณีหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน คือต้องตรากฎหมายชดเชยเยียวยาเป็นการเฉพาะในกรณีโควิด โดยกฎหมายนั้นตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อจัดการชดเชยให้รอบด้าน ครอบคลุมการชดเชยให้แก่ผู้เสียชีวิต ชดเชยให้ผู้ประกอบการ ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วงโควิด ชดเชยให้บุคลาการทางสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย ชดเชยให้ประชาชนที่จ่ายเงินเองเพื่อฉีดวัคซีนตัวอื่นๆจากโรงพยาบาลเอกชน

แน่นอนว่านโยบายวัคซีนแบบ “แทงม้าตัวเดียว” ของรัฐบาลนี้คงแก้ไม่ทันแล้ว เราเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนเอาวัคซีนตัวอื่นๆเข้ามาแล้ว ประชาชนต้องไปแย่งกันจอง ต้องจ่ายเอง เพื่อได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นรัฐก็ต้องเยียวยาให้ประชาชนในส่วนนี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน