โฆษก ศบศ. เผย รัฐบาล สั่งกระทรวงศึกษาธิการ วางแผน ลดค่าเทอม-สมทบสถานศึกษา ร่วมฝ่าวิกฤต โควิด ให้ชงครม.สัปดาห์หน้า แจงยิบมาตรการเยียวยา

วันที่ 14 ก.ค.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้องมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสถานที่และกิจการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายธนกร กล่าวต่อว่า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับรู้ปัญหาของทุกกลุ่ม และได้ประชุมหารือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในทันที โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบสำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วประเทศ มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่น ๆ มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา และมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้

นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้างผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาด เพิ่มจากเดิม 4 สาขาอาชีพ(ก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ) เป็น 9 สาขาอาชีพ โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 5 สาขา ได้แก่

  • 1.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
  • 2.สาขาการขายส่งและการขายปลีก
  • 3.สาขาการซ่อมยานยนต์
  • 4.สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ
  • 5.สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา

นายธนกร กล่าวว่า โดยในระบบประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง 2,500 บาทต่อคน เพิ่มเติมจากจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เป็นผลให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทย ที่ยังประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกอบการ จะจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาทต่อหัวต่อสถานประกอบการ

โฆษก ศบศ. กล่าวอีกว่า ส่วนการเยียวยานอกระบบประกันสังคม มีรายละเอียดคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ไม่ได้เป็น ม.33, ม.39 และ ม.40) ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน นายจ้างหรือผู้ประกอบการ และกรณีที่มีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาทต่อหัวต่อสถานประกอบการ ขณะที่ลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน

ส่วนกรณีที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ ในส่วนผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน กรณีที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาทต่อหัวต่อสถานประกอบการ และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน

นายธนกร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเยียวยาประชาชนทั่วประเทศด้วยการ ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำ เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนนี้ ก.ค.-ส.ค.64 ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านการศึกษา ครม. ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาฯ และสถานศึกษาหาแนวทางลดค่าเทอมในภาคเรียนที่ 1/2564 และวางแผนร่วมกันในการเสนอโครงการที่รัฐจะร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอ ครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย เพื่อเราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน